กลัวตาย หรือว่าจะกลัวกรรมกิเลสของตนเอง
เวลาเกิด ก็เกิดเพราะเหตุปัจจัย จิตเห็นเกิดขึ้นเห็น ก็เพราะเหตุปัจจัย
เวลาตาย ก็ตายเพราะเหตุปัจจัย
ขณะเกิด ขณะเห็น ขณะตาย ... เป็นผลของกรรมที่ได้กระทำไว้แล้วในอดีต..ต้องเกิดขึ้นแน่ หนีไม่พ้น
กรรม ... กิเลส ... ของตนเอง ซึ่งเป็นเหตุที่จะให้ผล
เชิญร่วมสนทนาค่ะ ... กลัวตาย หรือว่าจะกลัวกรรมกิเลสของตนเอง
จากการศึกษา ผมทราบว่าถึง จะกลัวตายอย่างไร และจะทำอย่างไร ก็ไม่มีทางพ้นจากความตาย (นอกจากจะไม่เกิดอีก) แต่ว่าผมก็ยังกลัวตายมาก แถมยังกลัวว่าจะไม่ได้เกิด ซ้ำเข้าไปอีก เป็นอันว่า ผมปรารถนาในเหตุ คือความเกิด แต่เกลียดกลัวผล คือความตาย ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอฟังความเห็นของท่านทั้งหลาย ด้วยคนครับ เนื่องจากคำว่า " กรรมกิเลส " มีความหมายทั้งอย่างหยาบและอย่างละเอียด เพื่อความสะดวกของท่านทั้งหลาย ผมขอแสดงข้อมูลของคำว่า " กรรมกิเลส " ดังต่อไปนี้
[เล่มที่ 16] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 79
สิงคาลกสูตร
[๑๗๕] ปาณาติบาต อทินนาทาน มุสาวาทและการคบหาภรรยาผู้อื่น เรากล่าวว่าเป็น กรรมกิเลส บัณฑิตทั้งหลายไม่สรรเสริญ
[เล่มที่ 67] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส เล่ม ๖ - หน้า 108
เมตตคูมาณวกปัญหานิทเทส พระขีณาสพทั้งหลาย ย่อมไม่หวั่นไหว ในเพราะมานะทั้งหลาย ย่อมเป็นผู้หลุดพ้นจาก กรรมกิเลส อันเป็นเหตุให้เกิดบ่อยๆ บรรลุถึงภูมิที่ฝึกแล้ว (อรหัตตผล) พระขีณาสพเหล่านั้น เป็นผู้มีความชนะในโลกอินทรีย์ทั้งหลาย.
ขออนุโมทนาครับ
ตอบจากใจจริงเลยนะคะ ...
ที่กลัวตาย ... เพราะไม่แน่ใจว่าจะไปเกิดที่ไหนซิค่ะ ถ้าได้ไปเกิดในสุคติภูมิ ... ก็ไม่กลัวตายหรอกค่ะ ... ชอบ โดยเฉพาะเทวโลก แต่ถ้าได้ไปเกิดในอบายภูมิ ... แค่คิดก็สะดุ้งแล้วล่ะค่ะ ปุถุชนยังมีคติไม่แน่นอน เพราะฉะนั้นจึงเลี่ยงที่จะกระทำกรรมอันเป็นเหตุให้ไปสู่อบาย
ส่วนนิพพานยังอีกไกล ... ไม่กล้าคิดค่ะ
ไม่รู้กลัวตายจริงหรือเปล่า เพราะความตายเป็นจิตเพียงขณะเดียวที่เกิดแล้วดับไป ทันที เร็วยิ่งกว่ากระพริบตาเสียอีกครับ
แต่ที่กลัวแน่ๆ คือก่อนจะตายอาจจะเจ็บปวดทรมานมาก และที่สำคัญกว่านั้นคือ หลังจากตายแล้วไม่รู้จะไปเกิดที่ไหน หากเป็นทุคติภูมิก็ต้องแย่แน่ๆ หรือแม้จะได้ไป เกิดในสุคติภูมิ ก็ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสได้ศึกษาพระธรรมอีกหรือเปล่า
คิดไปคิดมา ก็นึกขึ้นได้ว่า ไม่ควรเศร้าโศกถึงอดีตที่ล่วงไปแล้ว และไม่ควรกังวล ถึงอนาคตที่ยังไม่มาถึง ถ้าอย่างนั้น พิจารณากรรมและกิเลสที่มีอยู่เต็มในขณะนี้ น่าจะเป็นประโยชน์กว่าครับ
เหตุหนึ่งที่ผมกลัวตาย คือ กลัวทุกขเวทนา ครับ
เนื่องจากสภาพใกล้ตายนั้น เป็นสภาพที่ไม่น่าพึงปราถนา ส่วนจะเกิดเป็นอะไรต่อไปกลัวน้อยกว่าตอนจะตายครับ ไม่ทราบว่า ความกลัวลักษณะนี้ เกิดจากการปรุงแต่งและเห็นผิดเรื่องใดครับ
ทุกคนต้องตายแน่ๆ
จึงอยู่ที่ว่าเตรียมพร้อมที่จะตายหรือยัง ถ้าละอกุศลกรรม เจริญกุศลกรรมบ่อยๆ เนืองๆ ตามกำลังของปัญญา และไม่ละเลยที่จะอบรมปัญญาด้วยการฟังพระธรรมให้เข้าใจ เพื่อน้อมประพฤติปฏิบัติตาม ตามความเข้าใจ จึงชื่อว่าไม่ประมาท และเตรียมพร้อมที่จะตาย เพราะตายแล้วต้องเกิดแน่ๆ ซึ่งจะเกิดในสุคติภูมิหรือทุคติภูมิ ย่อมแล้วแต่กรรมแน่นอน
กลัวหรือไม่กลัว ... ทุกคนที่เกิด ต้องตาย ดิฉันก็กลัวทุกขเวทนาทางกายที่ทรมานต่างๆ ก่อนจุติจิตเกิด และหวั่นไหวกับความจริงที่ว่า อบายทุคติเป็นที่ไปถึงได้ง่ายของปุถุชน ตอนนี้ ... ขณะนี้ ...
หากถามว่า ควรกลัวตาย หรือว่าควรกลัวกรรมกิเลสของตนกันแน่ ดิฉันคิดว่า ที่ควรกลัวและระวังไว้เท่าที่ปัญญาน้อยนิดที่มี จะพึงระลึกระวังได้ คือ ควรกลัวกรรมกิเลสของตนเองไว้เสมอ อย่าประมาท
เพราะดิฉัน ยังไม่พร้อมที่จะตาย (ซึ่งคงเป็นการหลงลืมสติ ทำกาล) จริงๆ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
แต่ละบุคคลที่เกิดมา ล้วนมีความตายเป็นที่สุดด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครหลีกพ้นได้ขึ้นอยู่กับว่าจะตายช้าหรือตายเร็วเท่านั้น ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ บุคคลรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นบิดามารดา หรือ ญาติพี่น้องเป็นต้น ย่อมสามารถเป็นที่พึ่ง สามารถช่วยเหลือทำกิจต่างๆ ให้แก่เราได้ แต่พอถึงเวลาตายมาถึง บุคคลเหล่านี้ ไม่สามารถที่จะช่วยต้านทานไว้ได้เลย ดังนั้น ในเมื่อทุกคนต้องตายอย่างแน่นอน จึงควรพิจารณาอยู่เสมอว่า ก่อนที่วันนั้นจะมาถึง เราควรทำอะไร? เรื่องตาย ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะเป็นเพียงจิตขณะเดียว ที่เกิดขึ้นทำให้เคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ ไม่สามารถกลับมาเป็นบุคคลนี้ได้อีก ขณะนี้จิตที่ว่านั้น (จุติจิต) ยังไม่เกิด แต่จะเกิดขึ้นเมื่อใดไม่มีใครทราบได้ ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่นี้ จึงเป็นขณะที่สำคัญ ดังนั้น การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมกุศลในชีวิตประจำวัน ตามกำลัง ย่อมเป็นสิ่งที่สมควร ครับ ..
... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...
จากการได้ฟังเทปท่านอาจารย์ ได้สนทนากับคุณพี่ท่านหนึ่ง มีใจความพอสรุปได้ว่าการที่เราได้มาเป็นบุคคล ในชาตินี้ แสดงว่าชาติก่อนนั้น ก่อนตาย ต้องมีกุศลเป็นเหตุ นำมา ให้มาเกิด เป็นแน่แท้ และยังได้มาฟังธรรมอีก
น่าดีใจนะ ขออนุโมทนาครับ
เหตุต้องสมควรแก่ผลแน่นอนค่ะ กุศลกรรมใด กรรมหนึ่งในอดีตเป็นเหตุให้ ได้มาเป็นบุคคลในชาตินี้ และยังได้มาฟังพระธรรมอีก การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งที่ยาก การได้มาฟังพระสัทธรรมยิ่งยากกว่า จึงไม่ควรประมาทที่จะฟัง- พระธรรม อบรมความเข้าใจถูกเห็นถูกในลักษณะสภาพธรรมที่ลึกซึ้ง ...
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุญาตสนทนา ธรรมในชีวิตประจำวันแบ่งปันประสบการณ์ชีวิต
ไม่ต้องถึงกับกลัวตายค่ะ อันที่จริงกลัวการสูญเสีย พลัดพราก จากความเป็น ตัวตน มากกว่า (มานะ+อวิชชา) ยิ่งกว่าเวทนา ก็เป็นไปตาม กรรม กิเลส วิบาก เรายังหวง ห่วง เยื่อใย ผูกพัน ไม่ว่าเป็นคน สัตว์ สิ่งของ โดยเฉพาะ ตัวฉันเอง
หากขาดพันธการ ครอบครัว เพื่อน ทรัพย์ศฤคาร ฯลฯ ต่างๆ ในชีวิต จากมีสู่ความไม่มี ไม่สำคัญ อีกต่อไป เป็นธรรมดา (แท้ๆ )
พร้อมไหมค่ะ ... หากต้องตายก่อนตาย เพราะเราไม่อยากเสียความเป็น ตัวตน ไป กล้าไหมค่ะที่จะไม่มีเรา??
อนุโมทนาค่ะ
อ้างอิงความเห็นที่ 12
อันที่จริงกลัวการสูญเสีย พลัดพราก จากความเป็น ตัวตน มากกว่า
ใช่ครับ
กล้าไหมค่ะที่จะไม่มีเรา??
ไม่กล้าครับ
อยากบอกว่าไม่กลัวตายเลยค่ะ แต่สิ่งที่กลัวมากกว่าในขณะนี้ก็คือ กลัวมีเวลาไม่พอที่จะฟังพระธรรมจากท่านอาจารย์มากกว่าค่ะ
ท่านอาจารย์เคยสอนว่า ...
การเกิด นั้นแหละ ที่นำมาซึ่ง การเจ็บ การป่วย การแก่และความเดือดร้อนใจต่างๆ ที่เกิดจากการพลัดพราก ประสบกับความสุข ความทุกข์ ต่างๆ ถ้าไม่มีการเกิด ก็ไม่ต้องกลัวตาย.?
เมื่อพิจารณาแล้ว ... ทำให้นึกถึง "สุพรหมสูตร" ในพระไตรปิฎก
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๕๕
๗. สุพรหมสูตร
[๒๖๙] สุพรหมเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคาถาว่า
จิตนี้สะดุ้งอยู่เป็นนิตย์ ใจนี้หวาด เสียวอยู่เป็นนิตย์ ทั้งเมื่อกิจไม่เกิดขึ้น ทั้ง เกิดขึ้นแล้วก็ตาม ถ้าความไม่สะดุ้งกลัวมี อยู่ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว โปรดตรัส บอกความไม่สะดุ้งนั้นแก่ข้าพระองค์เถิด.
[๒๖๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
เรายังมองไม่เห็นความสวัสดีแห่ง สัตว์ทั้งหลาย นอกจากปัญญาและความ เพียร นอกจากความสำรวมอินทรีย์ นอก จากความสละวางทุกสิ่งทุกอย่าง.
สุพรหมเทวบุตรได้กล่าวดังนี้แล้ว ฯลฯ ก็อันตรธานไปในที่นั้นเอง.
โดยส่วนตัว คิดว่าถ้าจะกลัว ก็ควรกลัวที่ต้นเหตุ คือ การเกิดซึ่งปกติแล้วเรามักจะเห็นว่า การเกิดนั้นดีเช่นมีเด็กเกิดมา ก็ดีใจที่ได้ลูกได้หลาน ฯลฯ แต่ ในที่สุด ก็ต้องตายทุกคน ... เมื่อมีเหตุ-ปัจจัยจะเร็วหรือช้าเท่านั้น.
ดิฉันคิดว่า มนุษย์กลัวตายด้วยกันทุกคนด้วยเหตุผลต่างๆ นานา แต่ว่า มนุษย์อาจจะไม่เคยแม้แต่ถามตนเองว่า ทำไมจึงกลัวตาย
หลังจากศึกษาพระธรรมแล้วจึงจะได้คำตอบที่เป็นความจริงที่มาจาส่วนลึกของจิตใจถึงเหตุผลของความกลัวตาย และหลังจากนั้น เราอาจจะพูดถึงความตายด้วยความรู้สึกที่เบาขึ้น แต่ถึงกระนั้นก็มิใช่ว่าจะหายกลัว เพราะฉะนั้นจึงต้องศึกษาพระธรรมต่อไป อาจจะ จนถึงวินาทีสุดท้ายของชีวิตก็ได้
ขออนุโมทนาค่ะ