ชวนวิถีจิต
ชวนวิถีจิต ทางปัญจทวาร ที่เป็นกุศล อกุศล เจ็ดขณะนั้น เราสามารถรู้ได้ด้วยตัวเอง
ไหมคะ ส่วนชวนวิถีจิต ทางมโนทวาร เจ็ดขณะ ถ้าเป็นอกุศล ก็คือ อกุศลจิต สามแบบ
คือ โลภมูลจิต โมหมูลจิต และ โทสมูลจิต เราสามารถรู้ได้ ถ้าเราศึกษาดิฉันฟังและ
อ่านเรื่องวิถีจิตมาหลายรอบแล้ว พอถึงช่วงชวนวิถีทีไรดิฉันงงทุกที
จึงขอความกรุณาท่านผู้รู้ช่วยไขข้อข้องใจด้วยค่ะ และคาดว่าคงจะมีคำถามต่อๆ ไป
แน่ๆ เพราะความรู้ของดิฉันยังไม่มั่นคง บางทีคิดว่าตัวเองเข้าใจแล้ว แต่ถ้ามีใครมาถาม
ดิฉันไม่สามารถอธิบายได้ เหมือนกับว่า เรารู้แค่ผิวๆ แต่เราคิดว่าเรารู้น่ะค่ะ
โดยทั่วไปผู้ศึกษาจะรู้จิตได้ในขณะชวนะ เพราะเกิดสืบต่อกันหลายขณะ ส่วนวิถีอื่นๆ
ส่วนใหญ่เกิดเพียงหนึ่งขณะ เว้นภวังคจิตที่เกิดสืบต่อหลายขณะ แต่ไม่ปรากฏให้รู้
ส่วนจะเป็นชวนะทางทวารไหนเราไม่สามารถรู้ได้เช่นกัน
ขอเรียนถามต่อนะคะ เพราะอึดอัดเหลือเกินที่ยังไม่เข้าใจเสียที ยกตัวอย่างเช่น เมื่อ
ตาเห็นรูป เช่นดอกไม้ แทนที่จะเห็นเป็นสี แต่เห็นเป็นบัญญัติ คือดอกไม้ ในขณะที่
เห็นเป็นดอกไม้นั้น เป็น ชวนวิถี ทางปัญจทวาร หรือ มโนทวารคะ หรืออย่างที่ท่าน
อาจารย์ได้บอกมาในความเห็นที่หนึ่งว่า จะเป็นชวนทางทวารไหนเราไม่สามารถรู้ได้
และ เมื่อเห็นเป็นบัญญัติแล้ว เกิดโลภมูลจิต ติดข้องขึ้นมา เห็นว่า ดอกไม้นั้นสวย
อยากได้ อันนี้ เป็นชวนทางมโนทวาร ในวืถีหลังๆ ใช่ไหมคะ อันนี้สามารถรู้ได้
ใช่ไหมคะ
ขอบพระคุณค่ะ
เรียน อาจารย์ประเชิญ ช่วยขยายความ
ส่วนจะเป็นชวนะทางทวารไหนเราไม่สามารถรู้ได้เช่นกัน หมายถึงอย่างไรคะ
เรียนความเห็นที่ ๒ ครับ ทางทวารตา ขณะตาเห็นรูป สีเป็นอารมณ์ของวิถีทางปัญจทวารและมโนทวารวาระ
แรก อารมณ์เป็นปรมัตถ์ หลังจากนั้นมโนทวารวาระหลังๆ อารมณ์เป็นบัญญัติ คือ รู้ชื่อ-
เรื่องราว แต่โลภะความติดข้องเกิดตั้งแต่ชวนะทางปัญจทวารแล้ว แม้มโนทวารก็เป็น
โลภะเช่นเดียวกัน
และความเห็นที่ ๓ หมายถึง ชวนะทางปัญจทวารหรือมโนทวาาร เราไม่สามารถแยกได้
แต่ส่วนใหญ่ก็อนุมานเอาว่า เป็นเรื่องราวบัญญัติก็เป็นวิถีทางมโนทวารครับ
เรียน อาจารย์ ประเชิญ
โลภะความติดข้องนั้นเกิดตั้งแต่ชวนะทางปัญจทวาร คือ เกิดหลังจากชวนะวาระแรก
เป็นต้นไป อยากทราบว่า แล้วชวนะทางปัญจทวาร สามารถรู้บัญญัติได้ไหมคะ ถ้ารู้ได้
มโนทวารวิถึ เข้าไปรู้ซ้ำอีกทีหรือคะ
ชวนะทางปัญจทวารรู้บัญญัติไม่ได้ แต่โลภะก็เกิดได้โดยมีรูป เสียง กลิ่น รส
โผฏฐัพพะ เป็นอารมณ์ บัญญัติต้องรู้ทางมโนทวารเท่านั้นครับ
เรียน อาจารย์ ประเชิญ
จากความเห็นที่หก เมื่อทราบว่า ชวนะทางปัญจทวารรู้บัญญัติไม่ได้ แต่โลภะก็เกิด
ได้นั้น หมายความว่า ชวนะในวาระแรกรู้ปรมัตถ์ ส่วนวาระที่สองถึงเจ็ดนั้น เป็นกุศลหรือ
อกุศล และต่อมาเป็น มโนทวาราวัชนจิตที่เกิดต่อ และชวนจิตทางมโนทวาร วาระแรก
รู้ปรมัตถ์ ที่ชวนะแรกทางปัญจทวารรู้ หลังจากนั้น ชวนะที่สองถึงเจ็ดทางมโนทวาร จึงรู้
บัญญัติ และ กุศล หรือ อกุศล ดิฉันเรียบเรียงถูกไหมคะ
ถ้าเช่นนั้น หมายความว่า เมื่อวิถึจิตทางปัญจทวารเกิดขึ้นแล้ว วิถีจิตทางมโนทวารก็
เกิดต่อทันที มิฉะนั้น เราไม่มีทางจะรู้บัญญัติไปได้ แล้วมีไหมคะที่ วิถีจิตทางปัญจทวาร
เกิดขึ้น โดยไม่มี มโนทวารวิถีตามมา คือรู้รูป เสียง กลิ่น รส กระทบสัมผัส แล้วจบ ไม่มี
อะไรต่อ
ขอบพระคุณค่ะ
คำว่าวาระแรกที่กล่าวถึง หมายถึงทั้ง ๗ ขณะครับ และโดยภาวะปกติเมื่อวิถีจิตทางปัญจทวารเกิดขึ้นแล้วดับไป วิถีทางมโนทวาร
ย่อมเกิดสืบทันที นี้เป็นธรรมดาของวิถีจิต แต่มีบางครั้งที่วิถีทางปัญจทวารเกิดไม่
ถึงชวนะ คือเพียงแค่โวฏฐัพพนวาระ วิถีทางมโนทวารก็ไม่เกิดต่อ..
อาจารย์คะ ดิฉันเพิ่งจะตาสว่างว่า วาระแรก หมายถึง เจ็ดขณะ ถ้าเป็นเช่นนั้น หมายความว่า เมื่อตากระทบรูป ชวนะทำกิจอยู่เช่นนั้น เจ็ดขณะ เป็นหนึ่งวาระ เห็นเป็นปรมัตถ์ จากนั้นทางมโนทวารเกิดต่อ ชวนะทางมโนทวารก็ทำกิจ เจ็ดขณะ เช่นกัน แล้วเห็นเป็นปรมัตถ์ หลังจากนั้น ก็เริ่มวิถีจิตทางปํญจทวารอีกครั้งหนึ่งจนถึง ชวนจิตอีกเจ็ดขณะ เป็นวาระที่สอง ทางมโนทวารเกิดต่อ จนถึงชวนจิตอีกเจ็ดขณะ
อยากเรียนถามว่า ในวาระที่สองเป็นต้นไป ชวนะทางปัญจทวาร เริ่มเป็นกุศลหรืออกุศลแล้วใช่ไหมคะ และ ชวนะทางมโนทวารก็เริ่มเห็นเป็นบัญญัติ เพียงแต่ไม่สามารถรู้ได้ว่าเป็นวาระไหน ถูกต้องไหมคะอาจารย์ ดิฉันแน่ใจว่า ดิฉันต้องมีคำถามต่อไปค่ะ
ขอบพระคุณค่ะ
เรียนคุณวิริยะครับ
วิถีจิตทางปัญจทวารตลอดอายุของรูป เป็น ๑ วาระ วิถีจิตทางมโนทวารรับรู้ปรมัตถ์
ต่ออีกหนึ่งวาระ จากนั้นมโนทวารวิถีก็เกิดรู้สัณฐาณ ความหมาย ชื่อ สืบต่ออีกหลาย
วาระ ส่วนกุศลจิต หรือ อกุศลจิตเกิดตั้งแต่ชวนะทางปัญจทวารวาระแรก วาระต่อมา
เป็นวิถีทางมโนทวารก็เป็นอกุศล หรือ กุศล เช่นเดียวกับทางปัญจทวารครับ
เรียน อาจารย์ ประเชิญ
ขอเรียนถามค่ะว่า วิถีจิตทางมโนทวารที่เกิดรู้สัณฐาน ความหมาย ชื่อ สืบต่ออีก
หลายวาระนั้น มีวิถีทางปัญจทวารเกิดคั่นหรือเปล่าคะ หรือว่า วิถีจิตทางมโนทวารวาระ-
แรก เมื่อรู้ปรมัตถ์แล้ว ก็มีวาระที่สอง ที่สาม สืบต่อกันทันที โดยไม่มี ปัญจทวารวิถี เกิด
คั่น และเป็นไปได้ไหมคะที่เมื่อตาเห็นรูปแล้ว วิถีจิตทางปัญจทวาร ทำกิจต่อเนื่องจนถึง
ตทาลัมพน ครบสิบเจ็ดขณะ แล้วมโนทวารวิถี รู้ปรมัตถ์ แล้วจบ ไม่มีวาระอื่นสืบต่อ
ขอกราบขอบพระคุณอาจารย์ค่ะ
ตามที่เรียนมาก็คือ วิถีจิตทางมโนทวารรับอารมณ์ต่อจากทางปัญจทวาร วิถีจิตทางมโน
ทวารย่อมจะเกิดสืบต่ออีกหลายวาระ จากนั้นวิถีจิตทางปัญจทวารย่อมเกิดสลับอีก ดังนั้น
คำว่า มโนทวารวิถี รู้ปรมัตถ์ แล้วจบ ไม่มีวาระอื่นสืบต่อ จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะจิตเกิด
ดับสลับกันอย่างรวดเร็วมากครับ
เรียน อาจารย์ ประเชิญ
จากความเห็นที่สิบสอง ดิฉันสงสัยว่า สติปัฎฐานที่ระลึกรู้ ลักษณะ ของ เห็น ได้ยิน
ได้กลิ่น รส และ กระทบสัมผัส นั้น ดิฉันเข้าใจว่า ต้องรู้เพียง ปรมัตถ์ ถูกต้องหรือไม่คะ
ที่กล่าวนี้ มิได้หมายความว่า ดิฉันจะไปบังคับให้จิตรู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถ์นะคะ ดิฉัน
เพียงแต่สงสัย ต้องขอความกรุณาอาจารย์ ช่วยอธิบายด้วยค่ะ
ดิฉันศึกษาพระธรรม จากแผ่น เอ็มพีสามและเว็บไซค์ของมูลนิธิฯ ไม่สามารถไปฟัง
ธรรมที่มูลนิธิฯ ได้ และเมื่อมีปัญหา ก็ไม่ทราบว่าจะถามใคร จึงขอความกรุณา รบกวน
อาจารย์ด้วยค่ะ
ขอบพระคุณค่ะ
สติปัฎฐานที่ระลึกรู้ ลักษณะ ของ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รส และ กระทบสัมผัส หรือ
อารมณ์ที่กระทบในทวารนั้นๆ ชื่อว่ามีปรัมตถธรรมเป็นอารมณ์ เพราะสติปัฏฐาน
ต้องมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ครับ
เรียน อาจารย์ ประเชิญ
จากความเห็นที่สิบสี่ สติปัฏฐานต้องมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ แสดงว่า จิต
ของคนทั่วๆ ไปทุกวันนี้ ไม่ได้มีการระลึก เพราะเห็นเป็นบัญัญติ ไปหมดทุกอย่าง
และทางมโนทวาร เมื่อรู้บัญญัติแล้ว จิตวาระต่อๆ ไป ก็เป็นเรื่องราว มีกุศล และ
อกุศลเกิด สิ่งนั้นเป็น เรื่องของเจตสิกที่ต้องระลึก ใช่ไหมคะ
ดิฉันก็ยังไม่แน่ใจเสียทีเดียวว่า ที่สรุปนั้นจะถูกต้องไหม เพราะเคยได้เรียน
อาจารย์ไปแล้วว่า เราคิดว่าเราเข้าใจ แต่ที่จริงไม่ได้เข้าใจถูกต้อง ต้องมีผู้รู้ให้คำ
แนะนำ
ขอบพระคุณค่ะ
เรียนความเห็นที่ 13 และ 15
ก่อนอื่นก็ต้องทราบเหตุผลว่าทำไมสติปัฏฐานต้องมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ ทำไมไม่มี
บัญญัติ เรื่องราวเป็นอารมณ์
สติปัฏฐานคือปัญญาที่รู้ความจริง ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ดังนั้นสติปัฏฐานจะต้องรู้ตัว
จริงนั่นก็คือสภาพธรรม (ปรมัตถ์) เมื่อรู้ตัวปรมัตถ์ย่อมประจักษ์ความจริงว่า เป็นแต่เพียง
ธรรมไม่ใช่เรา ไม่ใช่เรื่องราว สัตว์บุคคลที่เป็นบัญญัติ หากว่าสติปัฏฐานมีบัญญัติเป็น
อารมณ์แล้ว ก็ไม่มีทางละความยึดถือ ว่าเป็นสัตว์บุคคลที่เป็นกิเลสที่เป็นความเห็นผิด
ได้เลยเพราะยังยึดถือในเรื่องราวบัญญัติ เป็นคนนั้น คนนี้ แต่ไม่ได้รู้ความจริงว่าเป็น
ธรรม ดังนั้นเหตุผลของการที่สติปัฏฐานมีปรมัตถ์เป็นอามณ์คือเพื่อละความเป็นเรา ละ
ความยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึงสิ่งใดเพราะประจักษ์ในความเป็นปรมัตถ์หรือเป็นเพียงธรรม
ส่วนคำถามจากความเห็นที่ 15 ที่ว่า
สติปัฏฐานต้องมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ แสดงว่า จิตของคนทั่วๆ ไปทุกวันนี้ ไม่ได้
มีการระลึก เพราะเห็นเป็นบัญัญติ ไปหมดทุกอย่าง และทางมโนทวาร เมื่อรู้บัญญัติ
แล้ว จิตวาระต่อๆ ไป ก็เป็นเรื่องราว มีกุศล และ อกุศลเกิด สิ่งนั้น เป็น เรื่องของเจตสิก
ที่ต้องระลึก ใช่ไหมคะ
ควรเข้าใจความจริงที่ว่า จิตของคนทั่วๆ ไปก็มีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ด้วย เช่น ขณะเห็น
ก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา (สี) ซึ่งเป็นปรมัตถ์ เป็นอารมณ์เป็นปกติอยู่แล้ว ในชีวิตประจำวัน
เราก็มีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ เป็นปกติ เมื่อเห็นแล้วก็คิดนึกเป็นเรื่องราวต่าง เป็นคนนั้น
คนนี้จึงมีทั้งปรมัตถ์และบัญญัติเป็นอารมณ์ สลับกันไป ดังนั้นสิ่งที่ขาดไปคือปัญญา
ความเข้าใจที่มั่นคงจนเป็นเหตุปัจจัยให้สติและปัญญาเกิดรู้ความจริงที่เป็นปรมัตถ์
โดยทั่วไปเมื่อเห็นแล้วก็เป็นอกุศล เป็นโลภะ..บ้าง แต่เมื่อปัญญาคมกล้าอันอาศัย
จากการฟังนั่นเอง เมื่อปัญญาพร้อมก็เป็นปกติอย่างนี้แหละ กำลังเห็นแทนที่อกุศลจะ
เกิดปัญญาก็เกิดแทน สติและปัญญาระลึกรู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวล
ในเรื่องของสติและปัญญาที่เป็นระดับสติปัฏฐาน ธรรมทำหน้าที่ อบรมปัญญาต่อไปโดย
การฟังพระธรรม เมื่อเหตุปัจจัยพร้อมสติและปัญญาที่เป็นเจตสิก เขาก็เกิดระลึกเอง
เป็นอนัตตา อบรมฟังต่อไป สาธุ
ดิฉันได้อ่านความเห็นที่สิบหกแล้วประมาณสามรอบ อย่างช้าๆ เพื่อที่จะพิจารณาข้อความในทุกๆ ประโยค ดิฉันคิดว่า ดิฉันมีความกระจ่างขึ้นค่ะ และขอน้อมรับคำแนะนำที่ว่า ให้อบรมการฟังธรรม ต่อไป ดิฉันคิดว่า การศึกษาเรื่อง วิถีจิต มีความสำคัญ ทีเดียวค่ะ ถ้าไม่รู้เรื่อง วิถีจิต แล้ว ข้ามขั้นไปศึกษาเรื่อง สติปัฏฐานเลย อาจจะยากอยู่สักหน่อย ตอนนี้กำลังเริ่มฟังไฟล์ธรรมะ หัวข้อ สติปัฏฐาน
ดิฉันขอกราบขอบคุณอาจารย์ประเชิญและคุณวันใหม่ ที่ได้กรุณา ให้คำตอบในข้อสงสัยเกี่ยวกับวิถีจิต จนมาถึง เรื่องสติปัฎฐาน ขออนุโมทนา และ ขอให้บุญกุศล คุ้มครองท่านทั้งสองค่ะ
ขออนุญาตเรียนถามครับว่า
เมื่อมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ถือไม่ได้ว่าสติระลึกรู้อยู่ในปรมัตถธรรม แต่หากระลึกรู้ว่าขณะนั้นมี
บัญญัติเป็นอารมณ์เช่นนี้ จะถือได้หรือไม่ครับว่า สติเกิดขึ้นแล้ว
ชวนวิถีจิต ทางปัญจทวาร ที่เป็นกุศล อกุศล เจ็ดขณะนั้น เราสามารถรู้ได้ด้วยตัวเอง
ไหมคะ ส่วนชวนวิถีจิต ทางมโนทวาร เจ็ดขณะ ถ้าเป็นอกุศล ก็คือ อกุศลจิต สาม
แบบคือ โลภมูลจิต โมหมูลจิต และ โทสมูลจิต เราสามารถรู้ได้
ที่จริงปุถุชนทุกคนรู้ครับ แต่รู้ว่าเป็นเรา
ขออนุญาตเรียนถามครับว่า
เมื่อมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ถือไม่ได้ว่าสติระลึกรู้อยู่ในปรมัตธรรม
แต่หากระลึกรู้ว่าขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์เช่นนี้
จะถือได้หรือไม่ครับว่า สติเกิดขึ้นแล้ว
เรียน คุณจักรกฤษณ์
พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า
สติ และ ปัญญา มีหลายขั้นคือ ขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นภาวนา
ขั้นภาวนา.
มี ๒ ประเภท คือ สมถภาวนา และ วิปัสสนาภาวนา
การอบรมเจริญ สติปัฏฐาน เป็น วิปัสสนาภาวนา.หมายถึง
ขณะที่ สติระลึก ตรงลักษณะ ของสภาพธรรม ตามปกติ ตามความเป็นจริงและ"ปัญญา" รู้ ลักษณะ ของสภาพธรรมตามความเป็นจริง.
(ขั้นการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นปัญญาระดับหนึ่งเท่านั้น)
.
ขั้นศีล.
เช่น การเว้นจากการกระทำทุจริต ทางกาย ทางวาจาหรือ กระทำความดีต่างๆ ด้วยกาย วาจา เป็นต้น....นั้น.
จิตขณะนั้น ต้องมี สติเจตสิกเกิดร่วมด้วย พร้อมเจตสิกประเภทอื่นๆ ....แต่ จิตขณะนั้น ไม่เป็น "ญาณสัมปยุต" (คือ จิตไม่ประกอบด้วยปัญญา) ก็ได้....เพราะยังมี "ความเป็นเรา...เป็นเขา...." เป็นต้น.
.
ขั้นทาน.
เช่น ขณะที่ให้...ต่างๆ เช่น ขณะสละสิ่งของ หรือให้ความรู้เป็นทาน เป็นต้น.จิตขณะนั้น ต้องมี สติเจตสิก เกิดร่วมด้วยพร้อมกับเจตสิกประเภทอื่นๆ .......
แต่ จิตขณะนั้น ไม่เป็น ญาณสัมปยุต (คือ ไม่ประกอบด้วยปัญญา) ก็ได้...เพราะยังมี "ความเป็นเรา...เป็นเขา..."เป็นต้น.
.
การเจริญสมถภาวนา....มีบัญญัติเป็นอารมณ์.
การเจริญสมภภาวนาจึงไม่ใช่ "มรรคมีองค์ ๘" (หนทางดับทุกข์)
ตัวอย่าง ในชีวิตประจำวัน เช่นขณะที่ ความเมตตาเกิดขึ้น ขณะนั้น ต้องมี สัตว์ บคคล เป็นอารมณ์. (เพราะขณะที่เมตตา คงไม่มีใคร เมตตา "สิ่งที่ไม่มีชีวิต"...?)
เพราะเหตุ คือ จิตที่เกิดร่วมกับเมตตา (อโทสเจตสิก) เป็นกุศลจิต ที่ต้องเกิดกับ สติเจตสิก และ เจตสิกประเภทอื่นๆ .......และ ขณะที่เมตตาต่อสัตว์หรือบุคคลใดๆ ..........ขณะนั้น ต้องมี สัตว์ บุคคล (บัญญัติ) เป็นอารมณ์.
แต่ จิต ที่เกิดต่อจากนั้น......ประกอบด้วยปัญญา (ญาณสัมปยุตจิต) หรือไม่ก็ได้.
ตัวอย่างเช่น บุคคลผู้ซึ่งบรรลุธรรมขั้น พระโสดาบัน เป็นต้นไป... ขณะที่มีเมตตา ต่อ สัตว์ บุคคล ขณะนั้น มีบัญญัติ เป็นอารมณ์แต่ไม่มี "ความเห็นผิด"
โดยไม่มี "การยึดถือ" ในสภาพธรรมทั้งหลาย ว่า เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน.เพราะเหตุว่า...ท่านเหล่านั้นดับความเห็นผิด คือ "ทิฎฐิคตสัมปยุตตจิต" เป็นสมุจเฉทแล้ว.
พระธรรม เป็นเรื่องละเอียด...ข้าพเจ้าอธิบายเท่าที่เข้าใจ.โปรดพิจารณา และ เทียบเคียงกับ พระธรรมวินัย.
.......................ขออนุโมทนาคะ..........................
จากความเห็นที่ 18 ที่ถามว่า เมื่อมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ถือไม่ได้ว่าสติระลึกรู้อยู่ในปรมัตธรรม แต่หากระลึกรู้ว่าขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์เช่นนี้จะถือได้หรือไม่ครับว่า สติเกิดขึ้นแล้ว
สติมีหลายระดับ ขณะใดที่กุศลจิตเกิด ต้องมีสติเกิดร่วมด้วย สติจึงมีทั้งปรมัตและบัญญัติเป็นอารมณ์ ขณะที่มับัญญติเป็นอารมณ์ ขณะนั้นไม่ใช่มีปรมัตเป็นอารมณ์ แต่หากเราพูดถึงสติปัฏฐานต้องมีปรมัตเป็นอารมณ์ ขณะใดที่สติปัฏฐานเกิด ต้องเป็นขณะที่รู้ลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งเป็นปัญญาที่รู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ส่วนการระลึกรู้ว่าขณะนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ก็เป็นนึกคิดในทางที่ถูกต้องเพราะรู้ว่าขณะที่ผ่านมา เป็นสัตว์ บุคคลเรื่อราว (บัญญัติ) แต่ไม่ใช่ขณะที่สติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ดังนั้นในขณะที่ระลึกรู้ว่าขณะนั้นเป็นบัญญัติเป็นอารมณ์ เป็นสติขั้นคิดนึก แต่ไม่ใช่สติปัฏฐาน สาธุ
บัญญัติไม่มีลักษณะจริงๆ ที่จะปรากฏให้จิตรู้แจ้งในสิ่งนั้น ต้องระลึกรู้ที่ลักษณะของ
นามธรรม คือ จิต เจตสิก จิตมีอารมณ์ทีละอย่าง จิตเห็นอย่างหนึ่ง จิตรู้ในสิ่งที่เห็น
อย่างหนึ่ง ถ้าเป็นสติปัฏฐานต้องมีลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมนั้นที่ปรากฏ เช่น
สี เสียง กลิ่น รส เย็นร้อน อ่อนแข็ง เพื่อละความยึดถือในสิ่งนั้นสิ่งนี้ว่าเป็นเราค่ะ
อ้างถึงใน prachern.s ความคิดเห็นที่ 4 ทางทวารตา ขณะตาเห็นรูป สีเป็นอารมณ์ของวิถีทางปัญจทวารและมโนทวารวาระแรก อารมณ์เป็นปรมัตถ์ หลังจากนั้นมโนทวารวาระหลังๆ อารมณ์เป็นบัญญัติ คือ รู้ชื่อ เรื่องราว แต่โลภะความติดข้องเกิดตั้งแต่ชวนะทางปัญจทวารแล้ว แม้มโนทวารก็เป็นโลภะเช่นเดียวกัน
ถามว่า โลภะเกิดที่อารมณ์เป็นปรมัตถ์ทางปัญจทวารได้หรือ เป็นอย่างไรครับ?
ควรทราบว่า โลภะติดข้องทุกสิ่งทุกอย่าง เว้นเพียงโลกุตตรธรรม ๙ เท่านั้น
ดังนั้นขณะที่รูปมากระทบทางทวารใดทวารหนึ่ง ชวนะ ก็เป็นโลภะได้ทันที
คือติดข้องในสี เป็นต้นที่ปรากฏตามทวารนั้นๆ ครับ
เพราะอะไรจึงติดครับ?
และเพราะอะไรจึงไม่ติดครับ?
โปรดแสดงธรรมที่งามในเบื้องปลายเถิด
เป็นธรรมชาติของโลภะ เมื่อเกิดขึ้นทีไรก็ติดทุกครั้ง
เมื่อสติสัมปชัญญเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ติดเพราะเป็นกุศลครับ
โลภะติดข้องทุกสิ่งทุกอย่าง เว้นเพียงโลกุตตรธรรม ๙ เท่านั้น
เพราะฉะนั้นทันทีที่เห็น ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น ซึ่งเป็นรูปารมณ์
เป็นเพียงสี เป็นรูปปรมัตถ์ ทันทีที่เห็นเพียงสี ชวนก็เกิดขึ้นยินดีพอใจ โลภก็ติด
ข้องในสีได้ทันที โลภติดข้องทุกสิ่งทุกอย่างทั้งบัญญัติ และปรมัตถ์ เว้นเพียง
โลกุตตรธรรม ๙ เท่านั้น
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ
คุณเมตตาครับปรมัตถ์ในความหมายที่ถามคือ ไม่มีเราไม่ใช่เรา เช่นทางจักษุทวาร 1. รู้สภาพเห็น รู้สภาพสิ่งที่ถูกเห็น กิเลสเกิดไหม?2. ประจักษ์ความเกิด-ดับของสภาพเห็น ประจักษ์ความเกิด-ดับของสภาพสิ่งที่ถูกเห็น กิเลสเกิดไหม?เป็นคำถามสุดท้ายครับ อย่างไรผมก็มีความสบายใจว่า "คุณเมตตาเป็นกัลยาณมิตรนะครับ"
เรียนถามความเห็นที่ 33
โลกุตตรธรรม 9 มีอะไรบ้างคะ
ขอบพระคุณค่ะ
เรียนคุณจำแนกไว้ดีจ๊ะ
1. รู้สภาพเห็น รู้สภาพสิ่งที่ถูกเห็น กิเลสเกิดไหม?
การอบรมความเข้าใจถูกเห็นถูกจนปัญญาเจริญรู้สภาพเห็นตรงตามความเป็นจริง
หรือรู้สภาพสิ่งที่ถูกเห็นตรงตามความเป็นจริง กิเลสจะเกิดได้อย่างไรคะ
2. ประจักษ์ความเกิด-ดับของสภาพเห็น ประจักษ์ความเกิด-ดับของสภาพสิ่งที่ถูก
เห็น กิเลสเกิดไหม?
การประจักษ์ความเกิดดับของสภาพเห็น ประจักษ์ความเกิดดับของสภาพสิ่งที่ถูก
เห็น เป็นปัญญาขั้นวิปัสสนาญาณค่ะ กิเลสจะเกิดได้อย่างไรคะ
ขออนุโมทนาคุณวันใหม่ค่ะที่กรุณาช่วยตอบคุณวิริยะค่ะ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ