การประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมทางมโนทวาร?

 
v_ponch
วันที่  9 มิ.ย. 2549
หมายเลข  1313
อ่าน  1,001
เคยได้ยินมาว่า การเกิดดับของสภาพธรรมที่ประจักษ์ทางมโนทวารเท่านั้น จึงจะเป็นวิปัสสนาญาณ แสดงว่า การที่เราสังเกตได้ถึงความเกิดดับของรูปธรรม ทางจักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร ทั่วๆ ไปยังไม่ใช่การเกิดดับที่แท้จริงหรือ? การเกิดดับของสภาพธรรมทางมโนทวารเป็นอย่างไร ต่างจากทวารอื่นอย่างไร (ในแง่การปฏิบัติ) ขอผู้รู้ช่วยให้ความกระจ่างด้วยครับ ...ขอบคุณมาก...

  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 10 มิ.ย. 2549

การประจักษ์ความเกิดความดับของสภาพธรรม ต้องประจักษ์ด้วยปัญญาขั้นวิปัสสนาญาณขั้นสัมมสนญาณขึ้นไป (ทางมโนทวาร) สำหรับความรู้ทั่วๆ ไปที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ ไม่ใช่การประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจริงๆ เพราะเป็นการคิดนึกถึงเรื่องราวต่างๆ เท่านั้น และไม่ใช่ปัญญาขั้นวิปัสสนาญาณ จึงไม่ประจักษ์ลักษณะ และความเกิดความดับที่แท้จริงของนามรูป

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
shumporn.t
วันที่ 10 มิ.ย. 2549

ลักษณะที่สังเกต เป็นกุศลจิตหรืออกุศลจิตก็ได้ สภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก ถ้าไม่ชินกับสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ อาจเข้าใจผิดได้ง่าย ความต่างกันของกุศลและอกุศลจิตเป็นเรื่องละเอียดมาก ลักษณะของโลภะเป็นลักษณะจดจ้องต้องการรู้ให้มากขึ้น เป็นตัวตนไม่คลาย หนัก ลักษณะของปัญญาเป็นความเข้าใจถูก รู้แล้วละ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
somjad
วันที่ 10 มิ.ย. 2549
เมื่อสองปีที่แล้วตอนนั้นหลานโทรมาหาผม ขออยู่ที่บ้าน จึงไม่พอใจ แล้วลักษณะความตระหนี่ในที่อยู่ก็ปรากฏครับ มีลักษณะเดียวเท่านั้น ไม่มีลักษณะอื่นเลย ตอนนั้นไม่เห็น ไม่ได้ยินฯ ต่อจากนั้น ก็รู้เวทนาที่เป็น ลักษณะไม่พอใจ ก็รู้แต่อารมณ์เวทนาเท่านั้นแต่รู้สองครั้งแล้วก็ไม่เห็นในลักษณะนี้อีกเลย จนถึงปัจจุบันนี้ครับแต่พอหลังรู้ลักษณะความตระหนี่มาตรองดูทีหลัง นึกว่าสภาพจิตเป็นโทสะครับ แต่พอฟังอภิธรรม จึงรู้ว่ารู้ผิด ไม่ใช่จิตที่เป็นโทสะจิต เรียกว่ารู้ถูกแต่เข้าใจผิดได้เปล่าครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
study
วันที่ 11 มิ.ย. 2549

ตามนัยพระอภิธรรมความตระหนี่ (มัจฉริยะ) เกิดร่วมกับจิตประเภทโทสะเท่านั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
somjad
วันที่ 11 มิ.ย. 2549

ขอขอบคุณอย่างมากครับ ผมเข้าใจผิดมานาน

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
somjad
วันที่ 11 มิ.ย. 2549

ขอขอบคุณมากครับ เข้าใจผิดมานานมากครับ ช่วยอธิบายละเอียดหน่อยได้ไหมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
study
วันที่ 12 มิ.ย. 2549

ตามนัยพระอภิธรรมความตระหนี่ (มัจฉริยะ) เกิดร่วมกับจิตประเภทโทสะเท่านั้น คือขณะที่หวงแหนทรัพย์และที่อยู่จิตประกอบด้วยโทมนัสเวทนาคือไม่สบายใจ และเราจะตระหนี่กับคนที่เราไม่รัก ถ้ากับคนที่เรารักแล้วเท่าไหร่ก็ให้

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
v_ponch
วันที่ 12 มิ.ย. 2549
ที่กล่าวว่า...สำหรับความรู้ทั่วๆ ไป ที่เห็นความเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ ไม่ใช่การประจักษ์ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมจริงๆ เพราะเป็นการคิดนึกถึงเรื่องราวต่างๆ เท่านั้น.... ข้าพเจ้าสงสัยว่า ขณะที่เสียงมาปรากฏทางหู แล้วดับไปเองตามเหตุปัจจัยของมัน ข้าพเจ้าก็ทราบว่าเสียงดับไปแล้วจริง โดยไม่จำเป็นต้องคิดนึกเรื่องราวอะไร หรือขณะที่เรามองเทียนไขที่จุดอยู่ จู่ๆ ลมพัดวูปแสงดับไป ข้าพเจ้าก็เห็นว่าแสงสว่างดับไป อย่างนี้เป็นต้น ก็เห็นได้โดยไม่ต้องคิดการมนสิการความไม่เที่ยงของรูปธรรม สภาพที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันอย่างนี้จะเป็นอุปการะแก่การเกิดวิปัสสนาญาณหรือไม่
 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
study
วันที่ 13 มิ.ย. 2549

เป็นการคิดพิจารณาธรรมะระดับหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ปัญญาที่ประจักษ์ลักษณะที่เกิดขึ้นและดับไปจริงๆ คือที่ท่านคิดเป็นเรื่องราว แต่การประจักษ์ความเกิดดับของนามรูป รวดเร็วกว่านี้มาก ปัญญาขั้นฟังขั้นพิจารณาย่อมเป็นอุปการะแก่วิปัสสนาญาณ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
v_ponch
วันที่ 13 มิ.ย. 2549
เนื่องจากความเกิดดับของรูปและนามแต่ละขณะ เป็นไปอย่างรวดเร็วมาก (เร็วกว่าความเร็วแสงเสียอีก) ข้าพเจ้าจึงยอมรับว่า เราไม่อาจเห็นความเกิดดับแท้จริงของมัน ด้วยอายตนะหยาบๆ เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย เป็นแน่ แต่เคยอ่านพระสูตร ....มีพระภิกษุรูปหนึ่ง ต้องการเดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่แล้วก็บังเอิญฝนตกลงมา ภิกษุเหล่านั้นยืนที่หน้ามุขนั้นๆ เห็นฟองน้ำทั้งหลายซึ่งตั้งขึ้นแล้ว แตกไปอยู่ด้วยความเร็วแห่งสายน้ำ ยึดเอาเป็นอารมณ์ว่า “อัตภาพแม้นี้ เป็นเช่นกับฟองน้ำ เพราะอรรถว่าเกิดขึ้นแล้วแตกไปเหมือนกัน.” พระศาสดาประทับนั่งในพระคันธกุฎีนั่นเอง ทรงแลดูภิกษุเหล่านั้นแล้ว ทรงแผ่พระโอภาส เหมือนตรัสกับภิกษุเหล่านั้นแล้วตรัสพระคาถานี้ว่า:- “พระยามัจจุ ย่อมไม่เห็นบุคคลผู้พิจารณา เห็นอยู่ซึ่งโลกเหมือนบุคคลพึงเห็นฟองน้ำ (และ) เหมือนบุคคลพึงเห็นพยับแดด.” ในเวลาจบเทศนาภิกษุเหล่านั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว ในที่แห่ง คนยืนนั่นเอง ฯลฯ ทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจไปว่า แม้การเกิดดับแบบหยาบๆ ก็น่าจะเป็นอุปการะการเกิดวิปัสสนาญาณได้ ข้าพเจ้าเข้าใจผิดหรือเปล่า? ขอช่วยให้ความกระจ่างด้วยครับ ขอบพระคุณ
 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
study
วันที่ 14 มิ.ย. 2549

การพิจารณาความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลง ความเกิดดับของสิ่งต่างๆ ย่อมเป็นอุปการะแก่ปัญญาขั้นต่างๆ ของผู้มีปัญญาที่ได้อบรมมาแล้วได้ ดังตัวอย่างที่ท่านยกมา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ