สันทิฏฐิโก [วิสุทธิมรรค]

 
orawan.c
วันที่  13 ส.ค. 2552
หมายเลข  13173
อ่าน  5,070

วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 2

แก้บท สนฺทิฏฺฐิโก

ส่วนวินิจฉัยในบทว่า สนฺทิฏฺฐิโก นี้ พึงทราบ (ต่อไปนี้)

นัยที่ ๑ แปลว่า "พึงเห็นเอง"

ก่อนอื่น อริยมรรคชื่อว่า สนฺทิฏฺฐิโก เพราะเป็นธรรมอันพระอริยบุคคลผู้ทำความไม่มีกิเลสมีราคะ เป็นต้น ในสันดานของตนอยู่ พึงเห็นเอง

ดังพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "ดูกรพราหมณ์ บุคคลผู้กำหนัดแล้ว ถูกความกำหนัดครอบงำแล้ว มีจิตอันราคะยึดไว้รอบแล้วนั่นแล ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ย่อมคิดเพื่อเบียดเบียนตนและคนอื่นทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง ย่อมได้เสวยทุกขโทมนัสทางใจบ้าง ครั้นความกำหนัดเขาละเสียได้แล้ว เขาย่อมไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนผู้อื่นบ้าง ไม่คิดเพื่อเบียดเบียนตน และ ผู้อื่นทั้ง ๒ ฝ่ายบ้าง เขาย่อมไม่ได้เสวยทุกขโทมนัสทางใจ ดูกรพราหมณ์ ธรรมเป็นสันทิฏฐิกะอย่างนี้ประการ ๑" ดังนี้

อนึ่ง แม้โลกุตตรธรรมทั้ง ๙ ก็ชื่อสันทิฏฐิกะ เพราะเป็นธรรมที่บุคคลใดๆ ได้บรรลุแล้ว บุคคลนั้นๆ พึงละความที่จะพึงถึงด้วยความเชื่อผู้อื่นเสียแล้ว เห็นเองด้วยปัจจเวกขณญาณ

แก้บท สนฺทิฏฺฐิโก

ส่วนวินิจฉัยในบทว่า สนฺทิฏฺฐิโก นี้ พึงทราบ (ต่อไปนี้)

นัยที่ ๒ แปลว่า "ชนะ (กิเลส) ด้วยสันทิฏฐิ"

นัยหนึ่ง ทิฏฐิอันพระอริยเจ้าสรรเสริญ ชื่อว่า สันทิฏฐิ โลกุตตรธรรมย่อมชำนะ (กิเลส) ด้วยสันทิฏฐิ เหตุนั้นจึงชื่อ สันทิฏฐิกะ

จริงอย่างนั้น ในโลกุตตรธรรมนั้น อริยมรรคย่อมชำนะกิเลสทั้งหลายด้วยสันทิฏฐิ อันสัมปยุต (กับตน) อริยผลย่อมชำระกิเลสทั้งหลายด้วยสันทิฏฐิ อันเป็นเหตุ (ของตน) พระนิพพานย่อมชำนะกิเลสทั้งหลายด้วยสันทิฏฐิ อันเป็นวิสัย (อารมณ์ของตน) เพราะเหตุนั้นโลกุตตรธรรมทั้ง ๙ จึงชื่อว่าสันทิฏฐิกะ เพราะชำนะ (กิเลส) ด้วย สันทิฏฐิประดุจนักรบได้ชื่อว่า รถิกะ เพราะ (รบ) ชนะด้วย รถ ฉะนั้น

แก้บท สนฺทิฏฺฐิโก

ส่วนวินิจฉัยในบทว่า สนฺทิฏฺฐิโก นี้ พึงทราบ (ต่อไปนี้)

นัยที่ ๓ แปลว่า "ควรซึ่งการเห็น"

อีกนัยหนึ่ง การเห็น เรียกว่า ทิฏฐะ ทิฏฐะนั่นเองเป็นสันทิฏฐะ แปลว่า การเห็นโลกุตตรธรรมย่อมควรซึ่งสันทิฏฐะ (การเห็น) เหตุนั้นจึงชื่อว่า สันทิฏฐะ เพราะว่าโลกุตตรธรรมเมื่อบุคคลเห็นอยู่ด้วยอำนาจภาวนาภิสมัย (รู้โดยทำให้มีขึ้น) และด้วยอำนาจสัจฉิกิริยาภิสมัย (รู้โดยทำให้แจ้ง) นั่นแล จึงยังวัฏฏภัย (ภัยคือวัฏฏะ) ให้กลับได้ ๑ เพราะเหตุนั้น โลกุตตรธรรมนั้นจึงชื่อ สันทิฏฐิกะ เพราะควรซึ่งสันทิฏฐะ (การเห็น) เปรียบเหมือนคนที่ได้ชื่อว่า วัตถิกะ เพราะความซึ่งวัตถะ (ผ้า) ฉะนั้น


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 20 ส.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Nantapop
วันที่ 21 ก.ค. 2560

สวัสดีครับ

จงเจริญในธรรม ยิ่งๆ ขึ้น เทอญ.

จงมีโชคดีสวัสดี กันทุกท่าน เทอญ.

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 10 ธ.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ