กรรมหนักย่อมเกิดในโลกันตรนรก
[เล่มที่ 13] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้า 102
บทว่า โลกนฺตริกา ความว่า ช่องว่างอันหนึ่งๆ ในระหว่างจักรวาลทั้ง ๓ ย่อมมีในที่สุดโลก ดุจช่องว่างในท่ามกลางล้อเกวียน ๓ ล้อ หรือแผ่น ๓ แผ่นที่วางทับกัน ฉะนั้น. ก็โลกันตรนรกนั้นโดยส่วนกว้างถึง ๘,๐๐๐ โยชน์. บทว่า อฆา คือ เปิดเป็นนิจ. บทว่า อสํวุตา ความว่า แม้ข้างล่างก็ไม่มีตั้งไว้. บทว่า อนฺธการา คือ มืดมิด. บทว่า อนฺธการติมิสา ความว่า ประกอบด้วยหมอกอันทำความมืดพ้นจากจักขุวิญญาณ. นัยว่า จักขุวิญญาณย่อมไม่เกิด ณ ที่นั้น. บทว่า เอวํ มหิทฺธิกา ความว่า พระจันทร์และพระอาทิตย์ย่อมปรากฏใน ๓ ทวีป โดยส่องแสงครั้งเดียวเท่านั้น อย่างนี้ชื่อว่า พระจันทร์และพระอาทิตย์มีฤทธิ์มาก. พระจันทร์และพระอาทิตย์กำจัดความมืดตลอดหนึ่งล้านแปดแสนโยชน์ในทิศหนึ่งๆ แล้วส่องแสงสว่าง อย่างนี้ชื่อว่าพระจันทร์ และพระอาทิตย์มีอานุภาพมาก. บทว่า อาภาย นานุโภนฺติ ความว่า แสงสว่างของตนไม่พอ. นัยว่า พระจันทร์และพระอาทิตย์เหล่านั้นแล่นไปท่ามกลางจักรวาลบรรพต. ก็โลกันตรนรกเลยจักรวาลบรรพตไป เพราะฉะนั้น พระจันทร์และพระอาทิตย์เหล่านั้นจึงมีแสงสว่างไม่พอในที่นั้น.
บทว่า เยปิ ตตฺถ สตฺตา ความว่า แม้สัตว์เหล่าใดเกิดแล้วในโลกันตรมหานรกนั้น. ถามว่า ก็สัตว์เหล่านั้นกระทำกรรมอะไรไว้จึงเกิดในโลกันตรมหานรกนั้น. ตอบว่า ทำกรรมหนักคือหยาบช้า. สัตว์เหล่านั้นกระทำความผิดต่อมารดาบิดาและสมณพราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในธรรมและกรรมร้ายกาจมีฆ่าสัตว์เป็นต้น ทุกวันๆ ย่อมเกิดในโลกันตรนรกนั้น ดุจอภยโจรและนาคโจรเป็นต้นในตามพปัณณิทวีป ร่างกายของสัตว์เหล่านั้นสูง ๓ คาวุต มีเล็บยาวเหมือนเล็บค้างคาว สัตว์เหล่านั้นเกาะอยู่บนจักรวาลบรรพตด้วยเล็บ เหมือนค้างคาวเกาะอยู่บนต้นไม้ฉะนั้น เมื่อใดสัตว์เหล่านั้นคลานไปถูกฝ่ามือของกันและกันเข้า เมื่อนั้นก็สำคัญว่า เราพบอาหารแล้วจึงวิ่งหมุนไปรอบๆ แล้วก็ตกไปบนน้ำหนุนโลก เมื่อลมปะทะก็ขาดตกลงไปในน้ำเหมือนผลมะทราง พอตกลงไปแล้วก็ละลายเหมือนก้อนแป้งตกลงไปในน้ำที่เค็มจัด.