อธิบาย อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์

 
opanayigo
วันที่  16 ส.ค. 2552
หมายเลข  13221
อ่าน  2,562

[เล่มที่ 76] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 442

[๗๕๒] อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ เป็นไฉน

อุทธัจจกุกกุจจะนั้น แยกเป็นอุทธัจจะอย่างหนึ่ง กุกกุจจะอย่างหนึ่ง ใน ๒ อย่างนั้น

อุทธัจจะ เป็นไฉน ความฟุ้งซ่านแห่งจิต ความไม่สงบแห่งจิต ความวุ่นวายใจ ความ พล่านแห่งจิต อันใด นี้เรียกว่า อุทธัจจะ.

กุกกุจจะ เป็นไฉน ความสำคัญว่าควรในของที่ไม่ควร ความสำคัญว่าไม่ควรในของที่ควร ความสำคัญว่ามีโทษในของที่ไม่มีโทษ ความสำคัญว่าไม่มีโทษในของที่มีโทษ การรำคาญ กิริยาที่รำคาญ ความรำคาญ ความเดือดร้อนใจ ความยุ่งใจ ซึ่งมีลักษณะเช่นว่านี้ อันใด นี้เรียกว่า กุกกุจจะ.

อุทธัจจะและกุกกุจจะนี้ รวมเรียกว่า อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
opanayigo
วันที่ 19 ส.ค. 2552

พึงทราบวินิจฉัยใน กุกกุจจนิทเทส ต่อไป

บทว่า อกปฺปิเย กปฺปิยสญฺญิตา (ความสำคัญว่าควรในของที่ไม่ควร) เป็นต้นตรัสไว้เพื่อแสดงกุกกุจจะโดยมูล จริงอยู่ ในการก้าวล่วงที่ทำแล้ว โดยมีความสำคัญอย่างนี้ เมื่อภิกษุมีสติระลึกถึงวัตถุและอัชฌาจารที่สำเร็จแล้วอีก ก็เดือดร้อนอยู่เนืองๆ อย่างนี้ว่า เราทำกรรมชั่วแล้วดังนี้ กุกกุจจะ นี้ จึงเกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งการตามเดือดร้อนในภายหลัง ด้วยเหตุนั้น เพื่อทรงแสดง กุกกุจจะ นั้นโดยมูล จึงตรัสคำมีอาทิว่า อกปฺปิเย กปฺปิยสญฺญิตา ดังนี้.

ในพระพุทธพจน์นั้น อธิบายว่า ภิกษุมีความสำคัญว่าควรย่อมฉันอาหารที่ไม่ควร มีความสำคัญว่าเนื้อที่ควร ย่อมฉันเนื้ออันไม่ควร คือย่อมขบฉัน (เคี้ยวกิน) เนื้อหมี ด้วยสำคัญว่าเป็นเนื้อสุกร หรือย่อมขบฉันเนื้อเสือเหลือง ด้วยสำคัญว่าเป็นเนื้อกวาง เมื่อกาลผ่านไปแล้ว สำคัญว่ายังเป็นกาลอยู่ ห้ามภัตแล้ว สำคัญว่าไม่ได้ห้ามภัต เมื่อของที่ยังมิได้รับประเคน ตกไปในบาตร ย่อมฉันด้วยสำคัญว่ารับประเคนแล้ว อย่างนี้ ชื่อว่า การทำการก้าวล่วงด้วย ความสำคัญว่า ควรในของที่ไม่ควร. ภิกษุเมื่อขบฉันเนื้อสุกรด้วยความสำคัญว่าเป็นเนื้อหมี และฉันอาหารในเวลา ด้วยสำคัญว่านอกเวลา ชื่อว่า กระทำการก้าวล่วง ด้วยความสำคัญในของที่ควรว่าไม่ควร.

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
opanayigo
วันที่ 19 ส.ค. 2552

ก็กุกกุจจะเมื่อเกิดขึ้น ย่อมสลักใจอยู่เหมือนปลายเหล็กแหลมขีดภาชนะสำริดอยู่นั่นแหละเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น จึงตรัสว่า มโนวิเลโข (ความยุ่งใจ) เนื้อความนี้อธิบายกิจ (หน้าที่) ของกุกกุจจะนั้น. ส่วนกุกกุจจะ (ความรังเกียจ) ใดที่ตรัสไว้ในพระวินัยว่า ครั้งนั้นแล ท่านพระสารีบุตร รังเกียจว่าการอยู่ฉันอาหารในโรงฉันเป็นประจำ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามไว้ เพราะฉะนั้น จึงไม่ยอมรับ ดังนี้ กุกกุจจะ (การรังเกียจ) นั้นไม่เป็นนิวรณ์. เพราะพระอรหันต์ไม่มีความเดือดร้อนในภายหลังว่า สิ่งนี้เราทำผิดแล้ว ดังนี้ ก็ชื่อว่า กุกกุจจะ (ความรังเกียจ) ในพระวินัยกล่าวคือการพิจารณานี้ว่า สิ่งนี้ควร สิ่งนี้ไม่ควร เป็นนีวรณปฏิรูปกะ (คล้ายกับนิวรณ์) .

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 1 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ