วิธีเจริญมรณสติ [วิสุทธิมรรค]
วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 3
วิธีเจริญมรณสติ
พระโยคาวจรผู้ใคร่จะเจริญมรณสตินั้น พึงเป็นผู้ไปในที่ลับ (คน) เร้นอยู่ (ในเสนาสนะอันสมควร) แล้วยังมนสิการให้เป็นไปโดยแยบคายว่า มรณํ ภวิสฺสติ ชีวิตินฺทฺริยํ อุปจฺฉิชฺชิสฺสติความตายจักมี ชีวิตินทรีย์จักขาด" ดังนี้ หรือว่า "มรณํ มรณํตาย ตาย" ดังนี้ก็ได้ เพราะเมื่อยังมนสิการให้เป็นไปโดยไม่แยบคายความโศกจะเกิดขึ้นในเพราะไประลึกถึงความตายของอิฏฐชน (คนรัก) เข้า ดุจความโศกเกิดแก่มารดาผู้ให้กำเนิดในเพราะไประลึกถึงความตายของบุตรที่รักเข้า ฉะนั้น
ความปราโมชจะเกิดขึ้น ในเพราะระลึกถึงความตายของอนิฏฐชน (คนเกลียด) ดุจความบันเทิงใจเกิดขึ้นแก่คนที่มีเวรกันทั้งหลาย ในเพราะระลึกถึงความตายของเวรีชน (คนเป็นเวรกัน) ฉะนั้น ความสังเวชจะไม่เกิดขึ้นในเพราะระลึกถึงความตายของมัชฌัตตชน (คนที่เป็นกลางๆ) ดุจความสลดใจไม่เกิดขึ้นแก่สัปเหร่อ ในเพราะเห็นซากคนตาย ฉะนั้น
ความสะดุ้งกลัว เกิดขึ้นแก่คนชาติขลาด เพราะเห็นเพชฌฆาตผู้เงื้อดาบ (จะฟันเอา) ฉะนั้น ความเกิดขึ้นแห่งความโศกเป็นต้นนั้นทั้งหมดนั่น ย่อมมีแก่บุคคลผู้ไร้สติ และสังเวคะ และญาณ เพราะเหตุนั้น พระโยคาวจรพึงดูสัตว์ที่ถูกฆ่าและที่ตาย (เอง) ในที่นั้นๆ แล้วคำนึงถึงความตายของพวกสัตว์ที่ตายซึ่ง (มัน) มีสมบัติ (คือความพร้อมมูลต่างๆ) ที่ตนเคยเห็นมา ประกอบสติ และสังเวคะ และญาณเข้า ยังมนสิการให้เป็นไปโดยนัยว่า "มรณํ ภวิสฺสติ ความตายจักมี" ดังนี้ เป็นต้นเถิดด้วยว่า เมื่อ (ยังมนสิการ) ให้เป็นไปอย่างนั้น จัดว่าให้เป็นไปโดยแยบคาย หมายความว่าให้เป็นไปโดยอุบาย (คือถูกทาง)
จริงอยู่สำหรับพระโยคาวจรลางท่าน (ที่อินทรีย์กล้า) ยังมนสิการให้เป็นไปอย่างนั้นเท่านั้นแหละ นีวรณ์ทั้งหลายจะรำงับลง สติอันมีความตายเป็นอารมณ์จะตั้งมั่น กรรมฐานถึงอุปจารทีเดียวก็เป็นได้ [ผู้อินทรีย์อ่อนพึงระลึกโดยอาการ ๘] แต่สำหรับพระโยคาวจรผู้ใด ด้วยมนสิการเพียงเท่านี้ กรรมฐานยังไม่เป็น (อย่างนั้น) พระโยคาวจรผู้นั้น พึงระลึกถึงความตายโดยอาการ ๘ นี้ คือ วธกปจฺจุปฏฺบานโต โดยปรากฏดุจเพชฌฆาต สมฺปตฺติวิปตฺติโต โดยวิบัติแห่งสมบัติ อุปสํหรณโต โดยเปรียบเทียบ กายพหุสาธารณโต โดยร่างกายเป็นสาธารณแก่สัตว์ และปัจจัยแห่งความตายมากชนิด อายุทุพฺพลโต โดยอายุเป็นของอ่อนแอ อนิมิตฺตโต โดยชีวิตไม่มีนิมิต อทฺธานปริจฺเฉทโต โดยชีวิตมีกำหนดกาล ขณปริตฺตโต โดยชีวิตมีขณะสั้น