เมื่ออวิชชาสะสมมามากมาย แล้วจะให้สติเกิดมากๆ เหตุสมควรแก่ผลหรือไม่
คัดลอกจากหนังสือธรรมาภิสมัย หน้าที่7 หัวข้อที่ 3
ตอบคำถามโดยท่านอาจรย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์
คัดสรรโดยคุณอัญญมณี มัลลิกะมาส
๓. การมีสติระลึกรู้ชีวิตประจำวันจะระลึกอย่างไร จะอบรมอย่างไรให้สติเกิด?
ทุกคนคงจะเป็นไปด้วยความอยากที่จะให้สติเกิดบ่อยๆ แต่ต้องรู้เหตุว่า เพราะอะไรสติ
จึงไม่เกิดบ่อยๆ อย่างที่หวังหรือที่ต้องการได้
เพราะว่าทุกท่านมีอวิชชา สะสมมามากมายเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ เกินกว่าแสนโกฏิ-
กัปป์ ขณะเห็นก็ไม่รู้ เพราะไม่เคยระลึก ไม่เคยฟังเรื่องการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น
การลิ้มรส การกระทบสัมผัส การคิดนึก นามธรรมและรูปธรรมโดยละเอียด
เพราะไม่ใช่ว่าในสังสารวัฏฏ์จะมีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ทุกๆ กัปป์ ใน
บางกัปป์ก็ไม่มี เพราะฉะนั้นระหว่างกัปป์หนึ่งหรือหลายกัปป์ ซึ่งไม่ได้ยินไม่ได้ฟังเรื่อง
ของนามธรรมและรูปธรรม ทางตา ทางหู ทางาจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เลย
อวิชชาจะเพิ่มมากมายสักแค่ไหน?
เพราะฉะนั้น ถ้าได้ยินได้ฟังธรรมเพียงเล็กน้อย แล้วมีปัญหาว่าทำอย่างไรสติจะเกิด
มากๆ ก็ควรระลึกถึงเหตุว่า เมื่ออวิชชาสะสมมามากมาย แล้วจะให้สติเกิดมากๆ เหตุ
สมควรแก่ผลหรือไม่?
พอจะเร่งรัดได้หรือไม่? หรือควรจะเริ่มจากการค่อยๆ เข้าใจลักษณะของนามธรรม
และรูปธรรมเพิ่มมากขึ้น เพราะการที่สติจะเกิดระลึกถูกตามความเป็นจริงว่า นามธรรมมี
ลักษณะอย่างนี้ รูปธรรมมีลักษณะอย่างนี้ ไม่ใช่เพียงฟังครั้งเดียว
เพราะในวันหนึ่ง จะได้ฟังธรรมสักกี่นาที แล้วที่ไม่ได้ฟังธรรม แต่เป็นเรื่อง
อื่นๆ มากมายของอวิชชา กี่นาที เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้นึกได้ ไม่ลืม จะให้สติจะเกิด
ระลึกลักษณะของนามธรรมและรูปธรรม ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ
บ่อยๆ จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จนกว่าสติจะเกิดขึ้นปฏิบัติกิจของสติทีละเล็กทีละน้อย
นานแสนนานกว่าสติจะเกิด
แต่อาจจะสามารถเกิดเพิ่มขึ้นได้ ถ้ามีความสนใจใคร่ในธรรม คือการฟัง
มากๆ พิจารณามากๆ แล้วสติก็สามารถจะมีอาหาร คือ ปัจจัยปรุงแต่งให้ระลึก
ทันทีที่ลักษณะของนามธรรมหนึ่ง หรือรูปธรรมหนึ่ง ทางทวารหนึ่งทวารใดก็ได้
ต้องเป็นผู้ที่อดทน มิฉะนั้นก็จะไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม จะมีแต่ความต้องการที่
จะทำ แทนที่ต้องการที่จะเข้าใจสภาพธรรมเพิ่มขึ้นเสียก่อน
--------------------------
ผมขอน้อมระลึกในพระมหากรุณาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระพุทธองค์ทรงแต่งตั้งพระธรรมวินัย เป็นพระศาสดาแทนพระองค์
อันประกอบด้วย
พระวินัยปิฏก เกี่ยวกับระเบียบข้อประพฤติปฏิบัติเพื่อพรหมจรรย์ขั้นสูงยิ่งขึ้นเป็น
ส่วนใหญ่ (เป็นอธิศีลสิกขา สามารถตรวจสอบกิเลสของตนเองได้จากพระวินัย)
พระสุตตันปิฏก เกี่ยวกับหลักธรรมที่ทรงเทศนาแก่บุคคลต่างๆ ณ สถานที่ต่างๆ
เป็นส่วนใหญ่ (ตรัสสอนบุคคลตามอัธยาสัยและบารมีของแต่ละบุคคลนั้น เช่น เรื่องเจริญ
สติปัฏฐาน 7 วัน 7 ปี 7 เดือน ก็ทรงตรัสกับท่านผู้พร้อมที่จะบรรลุซึ่งบำเพ็ญบารมีมา
นาน มีปัญญาแก่กล้า และมีกิเลสอวิชชาเบาบางมากแล้ว ไม่เหมือนกับคนยุคสมัยนี้)
พระอภิธรรมปิฏก เกี่ยวกับสภาพธรรมพร้อมทั้งเหตุและผลของธรรมทั้งปวง
(ปรมัตถธรรม เป็นพระธรรมส่วนละเอียด ขยายความพระวินัยและพระสูตรอีกทีหนึ่งเพื่อความเข้าใจ คนยุคสมัยนี้จึงขาดการศึกษาพระอภิธรรมไม่ได้)
และ ขออนุโมทนาท่านอาจารย์สุจินต์ผู้ซึ่งแตกฉานในพระธรรมวินัย
ที่ท่านกรุณานำมาบรรยายขยายความแก่ผู้สนใจรุ่นหลังๆ โดยละเอียด
และขออนุโมทนาท่านวิทยากรทุกท่าน และสหายธรรมทุกท่านด้วยนะครับ
-------------------------
ข้อความในอังคุตตรนิกาย ปฐมปัณณาสก์ อวิชชาสูตร
ข้อความบางตอน มีว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เรากล่าววิชชาและวิมุตติว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร
ก็อะไรเป็นอาหารของวิชชาและวิมุตติ ควรกล่าวว่า โพชฌงค์ ๗
แม้โพชฌงค์ ๗ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร
ก็อะไรเป็นอาหารของโพชฌงค์ ๗ ควรกล่าวว่า สติปัฏฐาน ๔
แม้สติปัฏฐาน ๔ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร
ก็อะไรเป็นอาหารของสติปัฏฐาน๔ ควรกล่าวว่า สุจริต ๓
แม้สุจริต ๓ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร
ก็อะไรเป็นอาหารของสุจริต ๓ ควรกล่าวว่า การสำรวมอินทรีย์
แม้การสำรวมอินทรีย์ เราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร
ก็อะไรเป็นอาหารของการสำรวมอินทรีย์ ควรกล่าวว่า สติสัมปชัญญะ
แม้สติสัมปชัญญะเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร
ก็อะไรเป็นอาหารของสติสัมปชัญญะ
ควรกล่าวว่า การทำไว้ในใจโดยแยบคาย
แม้การทำไว้ในใจโดยแยบคาย เราก็กล่าวว่ามีอาหาร
มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร
ก็อะไรเป็นอาหารของการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย
ควรกล่าวว่าศรัทธา
แม้ศรัทธาเราก็กล่าวว่ามีอาหาร มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร
ก็อะไรเป็นอาหารของศรัทธาควรกล่าวว่า การฟังสัทธรรม
แม้การฟังสัทธรรม เราก็กล่าวว่ามีอาหาร
มิได้กล่าวว่าไม่มีอาหาร
ก็อะไรเป็นอาหารของการฟังสัทธรรม ควรกล่าวว่าการคบสัปบุรุษ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการดังนี้
การคบสัปบุรุษที่บริบูรณ์ย่อมยังการฟังสัทธรรมให้บริบูรณ์
การฟังสัทธรรมที่บริบูรณ์ ย่อมยังศรัทธาให้บริบูรณ์ ศรัทธาที่บริบูรณ์ ย่อมยังการทำไว้ในใจโดยแยบคายให้บริบูรณ์
การทำไว้ในใจโดยแยบคายที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติสัมปชัญญะให้บริบูรณ์
สติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ย่อมยังการสำรวมอินทรีย์ให้บริบูรณ์
การสำรวมอินทรีย์ที่บริบูรณ์ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์
สุจริต ๓ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์
สติปัฏฐาน ๔ ที่บริบูรณ์ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์
โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์
วิชชาและวิมุตตินี้ มีอาหารอย่างนี้ และบริบูรณ์อย่างนี้ ฯ
--------------