ขอเรียนถามเรื่อง อาการปรากฏ

 
majweerasak
วันที่  19 ส.ค. 2552
หมายเลข  13266
อ่าน  1,930

ขออ้างถึง "ลักขณาทิจตุกะ กล่าวถึง ลักษณะ, กิจ, อาการปรากฏ และเหตุใกล้ให้เกิดขึ้น" และ

ข้อความจากบางส่วนจาก หนังสือปรมัตถธรรมสังเขป หน้า 116 "ฆนบัญญัติ คือ การ

ยึดถืออาการของสภาพธรรมที่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน โดยยังไม่รู้ว่าสมมติเรียกสิ่งนั้นว่า

เป็นอะไร" หน้า 117 "ขณะที่รู้รูปร่างสัณฐาน อาการที่ปรากฏ รวมกันเป็นสิ่งต่างๆ ขณะนั้นเป็น

การรู้บัญญัติ เป็นสมมติสัจจะ ไม่ใช่ปรมัตถสัจจะ"

ขอเรียนถามว่า การรู้ อาการปรากฎ หรือ อาการที่ปรากฏ หรือ อาการของสภาพธรรม

(แต่ละคำที่ขีดเส้นใต้ไว้) เป็นการรู้สภาวะที่เป็นปรมัตถหรือเป็นการรู้บัญญัติครับ

ขออภัยนะครับ หากคำถามวกวน เข้าใจยากสักหน่อย ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 20 ส.ค. 2552
เข้าใจว่า คำว่าอาการปรากฏ อยู่ที่ความเข้าใจ เพราะแต่ละประโยคมีความหมายต่างกันซึ่งปรมัตถ์และบัญญัติเนื่องกันอยู่ถ้าไม่มีปรมัตถ์บัญญัติก็มีไม่ได้ ถ้าเป็นอาการปรากฏที่เป็นตัวสภาวธรรม เป็นปรมัตถ์ แต่ถ้าอาการปรากฏ เป็นรูปร่างสัณฐาน เป็นเรื่องราวเป็นชื่อต่างๆ เป็นบัญญัติครับ
ขอเชิญทุกท่านร่วมสนทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Sam
วันที่ 20 ส.ค. 2552

ผมเข้าใจว่า "อาการที่ปรากฏ" หรือ "อาการของสภาพธรรม" เป็นคำอธิบายของท่าน

อาจารย์ เพื่อให้ผู้ศึกษาเข้าใจกระบวนการที่จิตรู้บัญญัติได้

ส่วนคำว่า "อาการปรากฏ" ในลักขณาทิจตุกะนั้น เป็นคำที่แปลมาจากคำบาลีว่า

"ปัจจุปัฏฐาน" ซึ่งในบางแห่งก็แปลว่า "ผลปรากฏ"

หากท่านผู้เชี่ยวชาญภาษาบาลีได้กรุณาอธิบายคำว่า ปัจจุปัฏฐาน ก็น่าจะช่วยในการ

อธิบายประเด็นข้อสงสัยของท่านผู้ตั้งกระทู้ได้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
BudCoP
วันที่ 20 ส.ค. 2552

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส ธมฺมสฺส จ สงฺฆสฺส จ

ขอนอบน้อม แด่ภะคะวะอะระหะเจ้า องค์สัมมาสัมพุทธะ พระผู้นั้น พร้อมทั้ง

พระธรรมและพระสงฆ์

สวัสดีครับ คุณ majweerasak และ คุณเผชิญ.

ขอโอกาสเข้าร่วมสนทนาด้วยคนนะ ครับ.

ขอแยกออกเป็นข้อๆ ดังนี้ :-

1."ลักขณาทิจตุกะ กล่าวถึง ลักษณะ, กิจ, อาการปรากฏ และเหตุใกล้ให้เกิดขึ้น"

-ข้อนี้ อาการปรากฎ จะตรงกับคำในภาษาบาลีว่า "ปัจจุปัฏฐาน" แปลว่า ชัดเจน,

ปรากฎชัดแจ้งขึ้น ท่านยังอธิบายว่า ปัจจุปัฏฐานนี้ ใช้กำหนดปัจจยปริคคหญาณได้ด้วย.

ตัวอย่างของลักขณาทิจจตุกกะ เช่น :-

เจตยิตลกฺขโณ มีเจตจำนงเป็นลักษณะ อายูหนรโส มีประมวลกรรมเป็นกิจ

สังวิธานปัจจุปัฏฐาโน มีการจัดแจงให้สัมปยุตตธรรม- ทำหน้าที่ของตน ดุจนายสั่งบ่าว- เป็นปัจจุปัฏฐาน
เสสขันธตฺยปทัฏฐาโน มีนามขันธ์ 3 ที่เหลือ เป็นปทัฏฐาน

2. ข้อความจากบางส่วนจาก หนังสือปรมัตถธรรมสังเขป หน้า 116 "ฆนบัญญัติ คือ การยึดถืออาการของสภาพธรรมที่รวมกันเป็นกลุ่มก้อน โดยยังไม่รู้ว่าสมมติเรียกสิ่งนั้นว่าเป็นอะไร" และ

หน้า 117 "ขณะที่รู้รูปร่างสัณฐาน อาการที่ปรากฏ รวมกันเป็นสิ่งต่างๆ ขณะนั้นเป็นการรู้บัญญัติ เป็นสมมติสัจจะ ไม่ใช่ปรมัตถสัจจะ"

-คำว่า "อาการของสภาวธรรม" และ "อาการที่ปรากฎ" ในข้อนี้ ภาษาบาลี คือ "สมูหุปาทาบัญญัติ" แปลว่า บัญญัติที่ถือเอาความเป็นกลุ่มก้อน อธิบายว่า เป็นบัญญัติที่จิตเข้าไปประมวลเอาปรมัตถธรรมต่างๆ รวมๆ กัน โดย 4 นัย คือ
1. อารัมมณฆนะ จิตมีอารมณ์ตั้งหลายอย่าง ก็ประมวลมาว่ามันมีอย่างเดียว คือ อารัมณฆนบัญญัติ เช่น เห็นแต่คนทั้งนั้นเลย.
2. สันตติฆนะ จิตเกิดดับสืบต่อกันตั้งมากมาย ก็ประมวลมาว่ามันมีจิตเดียวไม่เกิดไม่ดับ คือ สันตติฆนะ เช่น จิตจะได้ล่องลอยไปสวรรค์ เป็นต้น
3. กิจจฆนะ สภาพธรรมแต่ละอย่างแม้เกิดพร้อมกัน ก็มีกิจคนละอย่าง จิตกลับประมวลมาว่ามันมีกิจอันเดียวนั่นเอง คือ กิจจฆนบัญญัติ เช่น ใจคนเรามันอยาก (ที่ถูก คือ ใจคนเรามีความอยากเกิดร่วม เพราะจิตไม่ใช่ความอยาก โลภะเป็นความอยาก) .
4. สมูหฆนะ สภาวธรรมหลายอย่าง เกิดอยู่ ก็ประมวลว่ามันเป็นอย่างเดียวกัน คือ สมูหฆนบัญญัติ เช่น จิตดวงเดียวเท่านั้นเกิดอยู่ (แสดงว่าไม่มีสตืระลึกรู้สัมปยุตตธรรม, สหชาตธรรม เป็นต้น) .

เพิ่มเติมว่า สมูหบัญญัติ, สมูหฆนะ, หรือ สมูหุปาทาบัญญัติ นี้ ตรงข้ามกับ "อสมูหุปาทาบัญญัติ".ซึ่งอย่างหลังนี้จะนิยมเรียกว่า "อาการบัญญัติ" มากกว่า. ในอภิธัมมัตถวิกาสินี ฏีกาอภิธัมมาวตาร ของท่านผู้รจนาวิภาวินี อธิบายไว้ มีใจความว่า อสมูหุปาทาบัญญัติ คือ บัญญัติที่ไม่ได้อาศัยการเกิดรวมกันของปรมัตถ์แต่อาศัยอาการที่ปรมัตถ์ดำเนินเป็นไปมาคิด เช่น กาล (เช้า กลางวัน เย็น) , นัตถิภาวบัญญัติ (อาการที่อากิญจัญญายตนจิตถูกเพิกไปแล้ว) เป็นต้น. แม้แต่ไตรลักษณ์ ในบัญญัติปริจเฉทนี้ ท่านก็ระบุไว้ว่าเป็นอสมูหุปาทาบัญญัติด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เป็นมติคล้อยตามอัฏฐสาลินีของท่านพระพุทธโฆสะนั่นเอง.
(รายละเอียด ดู วิกาสินี เล่ม 2 ปริจเฉทว่าด้วยบัญญัติ[ยังไม่มีแปล], หรือ ดู อภิ.ธ.อ. 75/-/620 แทน)

4. ขออภัยนะครับ หากคำถามวกวน เข้าใจยากสักหน่อย ขอบคุณครับ

-ถามดีแล้วครับ ถ้าตั้งคำถามอย่างนี้ได้ แสดงว่าได้อ่านศึกษา และ ใคร่ครวญ (สัมมาสังกัปปะ) มาดีพอสมควร ไม่ได้เพียงแต่ถาม จากความฟุ้งซ่าน.

เป็นกำลังใจให้ตั้งคำถามดีๆ ต่อไป เรื่อยๆ ครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
majweerasak
วันที่ 21 ส.ค. 2552

ขอบคุณ ทุกท่านครับ

ช่วยให้เข้าใจขึ้น เยอะเลยทีเดียวครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ