email จากประเทศเดนมาร์ก 13 June 2006

 
บ้านธัมมะ
วันที่  13 มิ.ย. 2549
หมายเลข  1327
อ่าน  933

ขอเชิญอ่าน e-mail และร่วมสนทนาธรรมกับท่านผู้ชมจากประเทศเดนมาร์ก นะครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 มิ.ย. 2549

ขอเชิญอ่าน e-mail และร่วมสนทนาธรรมกับท่านผู้ชมจากประเทศเดนมาร์ก นะครับ..

ดิฉันชอบการโต้ตอบธรรมะมาก และช่วงเวลาที่อ.สุจินติ์ เริ่มพูดว่า " สมัยนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับที่....... " จะพยายามเข้าใจพระพุทธวจนะ และคิดว่านี่สำคัญมาก ดิฉันจะตื่นตีห้า มานั่งอ่านพระไตรปิฎก ช่วงเวลานี้มีความสุขที่สุด ยิ่งอ่านยิ่งรู้สึกผูกพันกับพระพุทธเจ้า ได้สัมผัสถึงพระปัญญาของพระองค์ ไม่มีใครในโลกนี้เสมอได้เลย พระดำรัสของพระองค์ไม่มีใครสามารถปฎิเสธได้เลย. ยิ่งอ่านยิ่งเห็นตัวเองหลง เหมือนเด็กที่หลง เพลิดเพลินกับของเล่น และเพื่อนเล่น ดิฉันทำงานอยู่กับเด็ก เวลาเห็นเด็กทะเลาะกัน ก็นึกถึงพระธรรม และเห็นว่าตัวเองก็เหมือนเด็ก ยึดนั่น ยึดนี่ ถือเป็นจริงจังกับชีวิต ทั้งๆ ที่มันไม่มีอะไรเลย บางครั้งผู้ใหญ่มองเด็ก ก็คิดว่าโธ่เอ๋ยเรื่องเล็กแค่นี้ (แต่สำหรับเด็กเป็นเรื่องใหญ่โตสำหรับเขา) ดิฉันคิดว่าพระพุทธเจ้าก็คงเห็นพวกเราเหมือนเด็ก ที่มีความคิดว่า นี่ฉัน นี่ของเล่นของฉัน ทั้งๆ ที่ความเป็นจริง มันไม่ใช่เลย. ไม่มีใครเป็นเจ้าของอะไรได้เลย.

ยิ่งนานวันยิ่งฟังธรรมะจากอ.สุจินต์ ก็รู้สึกเลยว่า นี่แหละที่ค้นหามานาน คือ คำสอนที่ทำให้เราได้รู้ความจริง ให้เราได้เผชิญความจริง ให้เราได้สัมผัสความจริง ให้เราได้ซึมซาบความจริง ให้เราได้เข้าใจความจริง ให้เราได้เห็นความจริง ให้เราได้อยู่กับความจริง (ไม่ต้องหนีไปไหน) และในที่สุดให้เราได้ปลดปล่อย+ละ+วางแม้ความจริงนั้น (สิ่งที่โลกสมมติ + ภพทั้ง3 + สังสารวัฏฏ์) และเข้าสู่วิมุติ (นิพพาน) .

ดิฉันเชื่อว่าหลายคนที่เข้าหาธรรมะ เพราะได้ประสบกับความทุกข์ จึงต้องหาเกาะที่พึ่ง เช่น เดียวกับตัวดิฉันเอง. คิดดูแล้วก็อยากขอบคุณ ความทุกข์ ที่เกิดขึ้นกับตนเอง เพราะเห็นหลายคนที่ยังไม่ประสบทุกข์เท่าไหร่ ถ้าเอาะธรรมะไปให้เขาคงไม่สนใจเลย. ความทุกข์นี้ มีบุญคุณมาก.

ดิฉันอยู่ที่เดนมาร์ก ก็โชคดี ที่นี่ไม่มีสัตว์เล็กสัตว์น้อยอย่างบ้านเรา อยู่เมืองไทย เดี๋ยวก็ยุง มด แมลง-สาบ ฯลฯ อยู่นี่ฤดูร้อนมีแมลงวันแต่ก็ไม่ยุ่งกับมันถ้าเข้ามาก็พยายามจับมันด้วยผ้านุ่มๆ เบาๆ แล้วปล่อยออกไป.ศีลห้าจึงไม่ค่อยลำบากเท่าไหร่ คงเหลือการพูดเล่นกับเด็กก็พยายามมีสติพูดน้อยลงและตั่งใจงด (แต่ก่อนจะทำจนชิน ชอบพูดเรื่องไม่จริงหลอกเด็กเล่นเพื่อความสนุกสนาน แต่ก็จะบอกเขาว่าเราพูดเล่น เพราะเขาจะได้รู้ว่าเราไม่ได้เป็นคนที่ชอบโกหก สิ่งที่เราพูดไปเจตนาคือหลอกเล่น แต่พระพุทธเจ้าก็ตรัสสอนให้งดแม้การพูดเล่น ตอนนี้เข้าใจถึงโทษแล้วว่า ถึงเราจะพูดเล่น แต่ถ้าเราบอกว่าเราไม่เคยพูดโกหก มันก็จะผิดไป เพราะเวลาที่เราพูดเล่นนั่นก็คือการพูดโกหก จึงต้องงดการพูดเล่นโดยเด็ดขาด)

"มารไม่มีบารมีไม่เกิด" ที่นี่ไม่ค่อยมีอะไรให้ต่อสู้ ต่างคนต่างอยู่ ชีวิตเรียบๆ ง่ายๆ . ความลำบากก็คือช่วงฤดูหนาว ที่ต้องอดทนมาก แต่พออากาศดีขึ้นก็จะสดชื่น ผู้คนมีชีวิตชีวา. คนที่นี่ (ปาก+ใจ) ตรงมาก ขยันรับผิดชอบงานมาก รักการพักผ่อน+ท่องเที่ยว ผู้คนเสมอภาคกันมาก (ซื้อของก็เข้าคิวเป็นเรื่องธรรมดาเลยและสถานที่บริการก็จะต้องหยิบหมายเลข) ความที่ไม่ค่อยมีอะไร บางครั้งทำให้คิดว่า ถ้าเราเจอสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด จิตเราจะไม่หวั่นไหวไหม เราจะยังคงตรึกถึงธรรมะที่เราฟัง และนำมาใช้ได้ทันไหม. แต่ก็คิดว่าจะให้พระธรรมซึมซาบไปทั้งกาย วาจา และใจ และที่สำคัญคือ ไม่ตั่งอยู่ในความประมาทจนขาด สติ และปัญญา.

ที่นี่ไม่มีคนที่ได้รับความทุกข์เนื่องจากขาดปัจจัยสี่ เคยคุยกับเพื่อนเรื่องความคิดและความเชื่อของเธอ เธอบอกว่าเธอไม่คิดเรื่องอดีต หรืออนาคต เธอคิดแต่ว่าเธอมีความสุขดีกับครอบครัว เธอทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเท่าที่เธอทำได้ และเธอเชื่อเรื่องความรักที่พระเยซูสอน ว่าเราต้องรักเพื่อนมนุษย์และแบ่งปันกัน เราถึงจะอยู่อย่างมีความสุข เธอไม่คิดแม้เรื่องความตาย เธอไม่สนใจ บางครั้งทำให้ดิฉันแปลกใจว่า ทำไมคนในศาสนาพุทธถึงต้องวุ่นวาย อยากรู้ว่า เราเป็นใครในชาติก่อน หรือตายแล้วเราจะไปไหน ซึ่งคนที่นี่เขาไม่ใช้เวลาเกี่ยวกับสิ่งนี้เลย เพราะเขาไม่เชื่อเรื่องทางนี้ พวกเขาอยู่กับปัจจุบันจริงๆ อยู่กับชีวิตนี้ และทำดีที่สุด เท่านี้ที่เขาคิดและทำกัน

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
audience
วันที่ 13 มิ.ย. 2549

ขออนุโมทนาท่านผู้ชมจากประเทศเดนมาร์กที่เห็นคุณของพระธรรมและมีความตั้งใจทีจะศึกษาธรรมะอย่างจริงจัง ถึงแม้ยังมีภาระที่ต้องทำงานและดูแลครอบครัว การเพียรฟังพระธรรมเป็นการสะสมอบรมปัญญาไปทีละเล็กทีละน้อย แม้ในอดีตเราสะสมมาน้อยในชาตินี้เราก็เริ่มสะสมให้ค่อยๆ มากขึ้นได้ ถ้าสังขารขันธ์ปรุงแต่งเพียงพอที่จะให้ระลึกรู้ได้ว่าเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ที่กำลังปรากฎ ไม่ใช่สัตว์บุคคล ขณะนั้นก็เริ่มรู้ เมื่อสะสมมากขึ้นอวิชชาและอกุศลทั้งหลายก็ค่อยๆ ลดลง แต่ทั้งหมดก็เป็นเพียงธรรมะอย่างหนึ่งเท่านั้นจริงๆ ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็มีสภาพธรรมะให้ศึกษา ขึ้นอยู่ว่าสภาพธรรมะปรากฏอยู่ต่อหน้า มีความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน การเจริญขึ้นของสติ และปัญญาต้องเริ่มจากการฟัง ฟังแล้วคิดพิจารณาเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วปัญญาจะทำหน้าที่ของเขาเอง ขอยกข้อความตอนหนึ่งของท่านมาสนทนาดังนี้ "บางครั้งทำให้ดิฉันแปลกใจว่า ทำไมคนในศาสนาพุทธถึงต้องวุ่นวาย อยากรู้ว่า เราเป็นใครในชาติก่อน หรือตายแล้วเราจะไปไหน ซึ่งคนที่นี่เขาไม่ใช้เวลาเกี่ยวกับสิ่งนี้เลย เพราะเขาไม่เชื่อเรื่องทางนี้. พวกเขาอยู่กับปัจจุบันจริงๆ อยู่กับชีวิตนี้ และทำดีที่สุด เท่านี้ที่เขาคิดและทำกัน." ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนาก็จะคิดเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนที่ไหนๆ ก็ตาม คำสอนในพระพุทธศาสนามาจากการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นความจริงตลอดกาล ไม่ว่าจะเป็นยุคไหน จะรู้หรือไม่รู้ ความจริงเป็นเช่นไร ก็ไม่มีผู้ใดไปเปลี่ยนแปลงได้ถึงแม้จะไม่เชื่อเรื่องชาตินี้ชาติหน้าคนที่ไม่เชื่อเรื่องเวียนวายตายเกิดแต่ผู้นั้นตายแล้ว ก็ยังต้องเกิดจะเกิดเป็นอะไรหรือชาติก่อนจะเป็นใครไม่มีใครรู้ได้ ความรู้ย่อมดีกว่าไม่รู้ สำหรับผู้ที่ศึกษาพระธรรมคงจะทราบเหตุผลว่าทำไมตายแล้วต้องเกิด เป็นเรื่องที่สามารถพิจารณาตามให้เข้าใจได้ ถึงแม้ไม่ทราบว่าชาติก่อนเป็นใคร เมื่อชาติที่แล้วก็คงสงสัยว่าชาติหน้าจะเกิดเป็นอะไรหรือเป็นใคร ก็เป็นบุคคลนี้ในชาตินี้นั่นเอง ดังนั้นคนที่เข้าใจพระธรรม ก็คงไม่ไปวุ่นวายกับเรื่องอดีตชาติ ชาตินี้ หรือ ชาติหน้า คนที่ไม่ได้ศึกษาพระธรรมก็คงไม่เข้าใจว่า ปัจจุบันคืออะไร ฟังดูเหมือนง่ายที่บอกว่าให้อยู่กับปัจจุบัน แต่อยากทราบว่าปัจจุบันคืออะไร

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
pornchai.s
วันที่ 13 มิ.ย. 2549

ความสนใจ และความสงสัยเรื่อง ชาติก่อน ชาติหน้า ตายแล้วไปไหน ตายแล้วเกิด หรือไม่ มีอยู่ทุกยุค ทุกสมัย แม้แต่ในสมัยที่ว่างจากคำสอนของพระผู้มีพระภาค ก็ยังมีฤาษี หรือ ดาบส ซึ่งบำเพ็ญฌานสมาบัติ สามารถระลึกชาติได้มากมาย รู้จุติ และปฏิสนธิของสัตวโลก แต่ผู้นั้นก็ไม่สามารถละความเป็นตัวตน และไม่สามารถละกิเลสได้ แม้ตายแล้วเกิดในพรหมโลก ความเห็นผิดว่าเป็นตัวตนก็ยังอยู่ ในอนาคตพรหมบุคคลผู้นั้น ก็ไปเกิดในอบายภูมิได้ ความเห็นผิด ความสงสัย เรื่องชาติก่อน ชาติหน้าก็ไม่หมดไปตราบเท่าที่ยังไม่เป็นพระโสดาบัน ผู้ที่ฟังพระธรรม และเข้าใจหนทางเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้องบ้างแล้ว ก็ยังมีความเห็นผิดว่าเป็นตัวตนอย่างละเอียด (อนุสัย) สะสมอยู่ในจิต แต่ก็จะไม่ใส่ใจ สนใจอยากรู้ว่าตนเองตายแล้วจะไปไหน เพราะทราบว่าเป็นเรื่องผลของกรรม ถ้ากุศลกรรมให้ผลชาติหน้าก็เกิดในสุคติภูมิ ถ้าอกุศลกรรมให้ผลชาติหน้าก็เกิดในทุคติภูมิ ถ้ากิเลสยังมี ปฏิสนธิจิตในชาติหน้าก็มี ถ้ากิเลสไม่มี ปฏิสนธิจิตในชาติหน้าก็ไม่มี

ในครั้งพุทธกาลมีผู้ไปกราบทูลถามปัญหาเหล่านี้กับพระผู้มีพระภาค พระองค์ไม่ทรงตอบ เพราะผู้ถามยังเข้าใจว่ามีสัตว์ มีบุคคล มีตัวตน มีสัตว์ที่ตาย มีสัตว์ที่เกิด

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
yupa
วันที่ 14 มิ.ย. 2549

ดิฉันเห็นด้วยกับคำว่า ทุกข์มีบุญคุณต่อเรา เป็นอย่างยิ่ง สอนให้เรารู้จัก และกล้าเผชิญกับความเป็นจริงนั้นก็คือ สภาพธรรม เมื่อเราเข้าใจเราก็จะอยู่กับสภาพนั้นได้ ดั่งท่านอจ.สุจินต์ท่านพูดเสมอว่า มีแล้วหามีไม่ไม่มีอะไรที่เป็นของเราเลย. ดิฉันฟังธรรมมาพอประมาณ ก็ยังรู้สึกว่า เหมือนไม่รู้อะไรเลย เหนื่อยมากกับความคิด คิดแล้วคิดอีกวนเวียนอยู่ตรงนั้น เหมือนไม่มีทางออก แต่ดิฉันก็ไม่ล้มเลิกการฟังพระธรรมหรอกนะคะ ความอดทน เท่านั้น ที่จะให้เราบรรลุวัตถุประสงค์ได้

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Buppha
วันที่ 14 มิ.ย. 2549

พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้มุ่งเน้นให้เรามุ่งมั่นประกอบคุณงามความดี ไม่เบียดเบียน ตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อน มีความเห็นที่ถูกต้องในเบื้องต้นและมีจิตใจที่ตั้งมั่น สงบเยือกเย็น ปฏิบัติดีใน เวลาใด ก็จะได้รับผลดีในเวลานั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 14 มิ.ย. 2549

ธรรมะเป็นสิ่งที่มีจริง พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ธรรม คือ ตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ สิ่งที่มีจริงๆ ก่อนการตรัสรู้ ไม่มีใครพบว่าเป็นธรรมะ เพราะเห็นว่าเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นเรา เป็นเขา เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ แต่เมื่อทรงตรัสรู้แล้ว ตรัสรู้ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา หมายความว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ใช่ตัวตนไม่ใช่สัตว์ บุคคล ไม่ใช่วัตถุสิ่งหนึ่งสิ่งใด ที่เที่ยง แต่ลักษณะของธรรมนั้น เป็นสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ซึ่งจะต้องค่อยๆ ไตร่ตรองตามลำดับ พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเรื่องที่ละเอียดและลึกชึ้งมาก ยากแก่การเข้าใจ ต้องอาศัยการฟังพระธรรมบ่อยๆ เนื่องๆ และพิจารณาไตร่ตรองจนเป็นปัญญาของผู้ฟัง

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
medulla
วันที่ 29 ธ.ค. 2549
ขออนุโมทนาค่ะ
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ