วิตักกสัณฐานสูตร .
ในวิตักกสัณฐานสูตร (พระพุทธเจ้าแนะนำให้เราเข้าไประงับอกุศลวิตกด้วยวิธีการต่างๆ) ...เมื่อภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ อาศัยนิมิตใดแล้ว มนสิการนิมิตใดอยู่ วิตกทั้งหลายอัน เป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ย่อมเกิดขึ้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นควรมนสิการนิมิตอื่นจากนิมิตนั้น อันประกอบด้วยกุศล... (หากยังระงับอกุศลไม่ได้ก็ใช้วิธีอื่นต่อไปอีกคือ...) ...ควรพิจารณาโทษของวิตกเหล่านั้น (หรือหากไม่ได้ผล) .....ภิกษุนั้นพึงถึงความไม่นึก ไม่ใส่ใจวิตกเหล่านั้น (หรือหากไม่ได้ผล) ......ภิกษุนั้นควรมนสิการสัณฐานแห่งวิตกสังขารของวิตกเหล่านั้น (หรือหากไม่ได้ผล) .....ภิกษุนั้นพึงกัดฟันด้วยฟัน ดุนเพดานด้วยลิ้น ข่ม บีบคั้น บังคับ จิตด้วยจิต วิตกอันเป็นบาปอกุศล ประกอบด้วยฉันทะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง อันเธอย่อมละเสียได้ย่อมถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะละวิตกอันเป็น บาปอกุศลเหล่านั้นได้ จิตย่อมตั้งอยู่ด้วยดี สงบ เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น ในภายในนั้นแล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้เรากล่าวว่าเป็นผู้ชำนาญในทางเดินของวิตก ...ฯลฯ
อยากเรียนถามว่า เมื่ออ่านดูแล้ว คล้ายกับว่าพระพุทธองค์ จงใจให้เราเข้าไประงับอกุศลวิตกด้วยวิธีต่างๆ การทำเช่นนี้ จะไม่เป็นตัวตนเข้าไปทำหรือ ถ้าว่าตามแนวเจริญสติปัฏฐานที่ อ.สุจินต์สอน จำเป็นหรือไม่ต้องกระทำจงใจระงับวิตกดังกล่าวข้างต้นด้วยวิธีการต่างๆ ดังในพระสูตร หรือจุดประสงค์ของพระสูตรนี้ต้องการให้เราเจริญสมถะ ขอผู้รู้ช่วยให้ความกระจ่างด้วยครับ
ขอบคุณมาก
พระสูตรทั้งหลายทรงแสดงตามอัธอาศัยของผู้ฟังในขณะนั้น แต่ไม่ใช่ให้ทุกคนไปทำเช่นนั้น แม้ในพระสูตรอื่นๆ ก็ไม่มีให้กระทำ เช่น วิตักกสัณฐานสูตร ฉะนั้นวิธีการต่างๆ ที่แสดงไว้ในพระไตรปิฎกมีหลายแบบนั้น ทรงแสดงเฉพาะบุคคลที่ฟังในยุคนั้น แต่ในยุคนี้ถ้าไปทำตามโดยขาดปัญญา ก็เป็นอกุศลเข้าไปทำอยู่ดี ที่สำคัญควรจะเป็นความรู้ความเข้าใจในพระธรรมคำสอน ไม่ใช่การไปทำด้วยวิธีต่างๆ
พระผู้มีพระภาคทรงเป็น สัมมาสัมพุทธะ ทรงแสดงเรื่องราวบัญญัติต่างๆ ที่สัตว์กระทำในชีวิตประจำวันได้หมดจด ไม่ว่าจะเป็น การกระทำอกุศลทุกชนิดก็ทรงแสดงให้เห็นโทษ และทรงแสดงประโยชน์ของกุศลทุกขั้นให้เจริญ เมื่อเราอ่านพระสูตรก็ทรงให้น้อมประโยชน์มาในตนซึ่งท่านผู้รู้ก็กล่าวไว้ข้างบนแล้วว่า ทรงแสดงตามอัธยาศัยของเหล่าสัตว์ จึงมีหลายสูตรหลายการกระทำ เพราะบางสูตรแสดงเรื่องของบุคคลที่กระทำอกุศลมากมาย แต่แล้วฟังธรรมก็บรรลุ เช่น ท่านพระองคุลิมาล เราก็ไม่ต้องเอาอย่าง เพราะอัธยาศัยต่างกัน แต่ทรงจำแนกพระธรรมอย่างละเอียด บริสุทธิ บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ จึงทรงจำแนกพระอภิธรรม เพื่อไม่ให้ผู้ยังต้องศึกษามาก เข้าใจผิดว่าธรรม เป็นตัวตน การที่ชีวิตประจำวันประพฤติดำเนินไป โดยอาศัยแบบอย่าง ใกล้เคียงในพระสูตรหรือพระวินัย สำหรับผู้เข้าใจการเจริญสติปัฏฐานต้องมีความเข้าใจในการฟังระดับหนึ่งแล้วว่าทุกอย่างเป็นธรรม ไม่มีตัวตน จึงดำเนินชีวิตเป็นปรกติทุกประการ ตามความเข้าใจพระธรรมที่ถูกต้อง ฉะนั้น สัมมาทิฏฐิจึงเป็นหัวหน้าของผู้ประพฤติธรรมสมความแก่ธรรม สติปัฏฐานก็สามารถเกิดได้ตามปรกติ ตามการสะสม
คำว่าเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานจึงกว้างมาก และต้องฟังมากจริงๆ เพราะยังไม่ใช่พระโสดาบัน จึงมีความเห็นในข้อปฏิบัติผิดแทรกได้เป็นธรรมดาตาม (การสะสม) แต่เมื่อไม่ประมาท รู้ตัวเองว่าความเห็นผิดยังสามารถเกิดได้ ก็จะรับฟังผู้รู้ มีการฟังมากขึ้น พิจารณามากตรวจสอบเทียบเคียงพระธรรมวินัยมากขึ้นได้