การพิจารณาไตรลักษณ์ ๔ แบบ (ในสังคหะ ปริเฉทที่ ๙)
ในสังคหะ ปริเฉทที่ ๙ กล่าวไว้ว่า อนึ่ง ในการพิจารณาไตรลักษณ์นี้ มีวิธีพิจารณาอยู่ ๔ แบบ ชื่อกลาปสัมมสนนัย อัทธาสัมมสนนัย สันตติสัมมสนนัย และขณะสัมมสนนัย ๑. พิจารณารูปนามโดยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดย กลาป สัมมสนนัยนั้น เป็นการพิจารณาทั้งกลุ่มทั้งก้อน จับเอาโดยส่วนรวม เช่น ถ้าพิจารณาเป็นขันธ์ ก็กำหนดให้รู้ในขันธ์ ๕ ไปจนไตรลักษณ์ปรากฏ ถ้าพิจารณา อายตนะ ก็กำหนดรู้ในอายตนะ ๑๒ ถ้าพิจารณา ธาตุ ก็กำหนดรู้ใน ธาตุ ๑๘ ถ้าพิจารณา ทวาร ก็กำหนดรู้ใน ทวารทั้ง ๖ ปัญญาของพระโยคีที่เกิดขึ้นในขณะพิจารณาอยู่ใน กลาปสัมมสนนัยนี่แหละ ชื่อว่า สัมมสนญาณ การพิจารณาแบบนี้ เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด
๒. อัทธาสัมฆสนนัย เป็นการกำหนดรู้รูปนามที่เกิดขึ้นในภพก่อนว่า รูปนามที่เคย เกิดในภพก่อนนั้น เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีแล้ว ล้วนเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รูปนามที่กำลังเกิดอยู่ในภพนี้ ก็ไม่ไปเกิดในภพหน้า ย่อมดับไปใน ภพนี้เท่านั้น ล้วนแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รูปนามที่จะเกิดในภพหน้า ก็ย่อมดับอยู่ในภพหน้านั้น ไม่ได้ติดตามไป ในภพต่อๆ ไปอีก ล้วนแต่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เช่นเดียวกันทั้งสิ้น ๓. สันตติสัมมสนนัย เป็นการกำหนดรูปนามที่เกิดติดต่อกันเป็นระยะๆ เช่น รูปที่เกิดอยู่ในขณะนอน เมื่อลุกขึ้นนั่ง รูปเหล่านั้นก็หาได้ติดตามมา ด้วยไม่ ย่อมดับไปในขณะที่นอนนั้นเอง รูปที่เกิดอยู่ในขณะนั่ง เมื่อยืนขึ้นแล้ว รูปนั้นก็ไม่ได้ตามมา คงดับไป ในขณะนั่งนั้นเอง รูปที่เกิดอยู่ในขณะยืน เมื่อเดินแล้ว รูปนั้นก็ไม่ได้ตามมา คงดับไปใน ขณะยืนนั่นเอง ซึ่งล้วนแต่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นต้น
๔. ขณะสัมมสนนัย เป็นการพิจารณาความเกิดขึ้นและดับไปของรูปหนึ่งต่ออีกรูปหนึ่ง การเกิดขึ้นและดับไปของจิตดวงหนึ่งต่อจิตอีกดวงหนึ่ง อย่างไม่ขาดสาย ซึ่งล้วนแต่เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ด้วยกันทั้งสิ้น ปัญญาของพระโยคีที่เกิดขึ้นในขณะพิจารณาอยู่ใน ขณะสัมมสนนัยนี้ ชื่อว่า สัมมสนญาณ เช่นเดียวกัน การพิจารณาแบบนี้เป็นวิธีที่ละเอียดที่สุดแล้ว สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่พระองค์เดียวเท่านั้น จึงสามารถพิจารณาได้ การเห็นไตรลักษณ์นั้น ย่อมประจักษ์ในขณะที่ รูปนามดับ เพราะว่าดับไปจึงเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง ถ้าเที่ยงอยู่ก็ไม่ดับ, เพราะว่าดับไปจึงเป็นทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้ ถ้าทนอยู่ได้ก็ไม่ดับ และเพราะว่าดับไป จึงเป็นอนัตตา บังคับบัญชา ให้คงอยู่ก็ไม่ได้ ถ้าบังคับบัญชาได้ ก็ไม่ให้ดับไปได้ แต่ว่า สัมมสนญาณนี้ เห็นความเกิดของรูปนามที่เกิดใหม่ ขึ้นมาแทนแล้ว จึงได้รู้ว่ารูปนามเก่านั้นดับไป แล้ว เป็นการรู้ได้โดยอนุโลมด้วยอาศัยจินตามยปัญญาเข้ามาช่วย ไม่ได้ ประจักษ์ในขณะที่ดับ ดังนั้นจึงกล่าวว่า สัมมสนญาณ เป็นญาณ ที่ยกรูปนาม ขึ้นสู่ไตรลักษณ์ สัมมสนญาณนี้ สามารถละ สมูหัคคาหะ การยึดเรายึดเขา เสียได้ ตั้งแต่ นามรูปปริจเฉทญาณ ญาณที่ ๑, ปัจจยปริคคห-ญาณ ญาณที่ ๒ จนถึง สัมมสนญาณ ญาณที่ ๓, นี้ ล้วนแต่ยังเป็นญาณที่ ต้องอาศัยจินตามย ปัญญา เข้าช่วยอยู่ทั้ง ๓ ญาณ และนับแต่ อุทยัพพยญาณ เป็นต้นไป ไม่ต้องอาศัย จินตามยปัญญา เข้ามาช่วยอีกเลย ฯลฯ ........
ข้าพเจ้าอยากเรียนถามว่า การเจริญสติปัฏฐานที่ อ.สุจินต์บรรยายอยู่ สงเคราะห์เข้าหมวดที่ ๑ ใช่หรือเปล่าครับ ในส่วนข้อที่สาม ทำไมเขาจึงให้เราพิจารณารูปนั่งเดิน ยืน นอน ทั้งๆ ที่ไม่ใช่รูปปรมัตถ์ และจริงหรือไม่ที่กล่าวว่า สัมมสนญาณนี้ สามารถละ สมูหัคคาหะ การยึดเรายึดเขาเสียได้ และเป็นการรู้ได้โดยอนุโลมด้วยอาศัยจินตามยปัญญาเข้ามาช่วย