การสอนตนเมื่อเกิดปฏิฆะ [วิสุทธิมรรคแปล]

 
JANYAPINPARD
วันที่  24 ส.ค. 2552
หมายเลข  13323
อ่าน  4,312

วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้าที่ 158

[การสอนตนเมื่อเกิดปฏิฆะ]

[นัยที่ ๑ ระลึกถึงโทษของความโกรธ]

แต่ถ้าเมื่อเธอนำจิตเข้าไปในคนเป็นศัตรูกัน ปฏิฆะเกิดขึ้นเพราะระลึกถึงความผิดที่เขาทำให้ไซร้ เมื่อเช่นนั้น เธอพึงเข้าเมตตา (ฌาน) ในบุคคลลำดับหน้าๆ (มีคนที่รักเป็นต้น) ในบุคคลไรๆ ก็ได้บ่อยๆ ออกแล้วทำเมตตาถึงบุคคลนั้นร่ำไป บรรเทาปฏิฆะให้ได้ถ้าแม้เมื่อเธอพยายามไปอย่างนั้น มันก็ไม่ดับไซร้ ทีนี้ เธอพึงพยายามเพื่อละปฏิฆะ โดยระลึกถึงพระพุทธโอวาททั้งหลาย มีกกจูปมโอวาท (พระโอวาทที่มีความอุปมาด้วย เลื่อย) เป็นต้น บ่อยๆ เถิด๑ก็แลโยคาวจรภิกษุนั้นเมื่อจะสอนตน พึงสอนด้วยอาการ (ต่อไป) นี้แลว่า๒ "อะไรนี่เจ้าบุรุษขี้โกรธ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้มิใช่หรือว่า (๑) "ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้หากพวกโจรป่า ๓ จะพึง (จับตัว) ตัดองค์อวัยวะด้วยเลื่อยที่มีด้าม ๒ ข้าง แม้นผู้ใดยังใจให้คิดร้ายในพวกโจรนั้น เพราะเหตุที่ใจร้ายนั้น ผู้นั้นหาได้ชื่อว่าสาสนกร (ผู้ทำตามคำสอน) ของเราไม่" ฯลฯ

[สอนตนนัยที่ ๒ ระลึกถึงความดีของเขา]

เมื่อเธอเพียรพยายาม (สอนตน) อยู่อย่างนี้ ถ้าปฏิฆะนั้นระงับลงได้ไซร้ ระงับได้ดังนี้นั่นเป็นการดี หากไม่ระงับ ทีนี้ธรรมใดๆ ของบุคคลนั้น เป็นส่วนที่เรียบร้อยหมดจด ระลึกถึงเข้าจะนำมาซึ่งความเลื่อมใสได้ ก็พึงระลึกถึงธรรมนั้นๆ (ของเขา) ขจัดความอาฆาตเสียให้ได้เถิด

[สอนตนนัยที่ ๓ โกรธคือทำทุกข์ให้ตนเอง]

แต่ถ้าเมื่อพระโยคาวจรนั้นพยายามอยู่ถึงอย่างนั้น ความอาฆาตก็ยังเกิดขึ้นอยู่นั่นไซร้ ทีนี้เธอพึงโอวาทตนดังนี้ว่า " (๑) ถ้าศัตรูทำทุกข์ให้แก่เจ้าใจสิ่งอันเป็นวิสัย (คือกาย) ของตนไซร้ ไฉนเจ้าจึงปรารถนาจะทำทุกข์ไว้ในใจของตัว ซึ่งมิใช่วิสัย (คือไม่ใช่กาย) ของเขาเล่า"


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 24 ส.ค. 2552

[สอนตนนัยที่ ๔ - พิจารณากัมมัสสกตา]

แต่ถ้าเมื่อเธอแม้สอนตนอยู่อย่างนี้ ปฏิฆะก็ยังไม่ระงับอยู่นั่นไซร้ทีนี้ เธอพึงพิจารณาให้เห็นความที่ตนและคนอื่น มีกรรมเป็นของๆ ตนต่อไป ใน ๒ ฝ่ายนั้น พึงพิจารณาฝ่ายตนก่อนดังนี้ "นี่แน่ะพ่อเอ๊ย เจ้าโกรธเขาแล้ว เจ้าจักทำอะไร กรรมอันมีโทสะเป็นเหตุ นั่นมันจักเป็นไปเพื่อความเสื่อมเสียแก่ตัวเจ้าเองมิใช่หรือ เพราะว่าเจ้าเป็นผู้มีกรรมเป็นของๆ ตน เป็นผู้รับมรดกของกรรม เป็นผู้มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่อาศัยไป เจ้าจักทำกรรมใดไว้ เจ้าจะต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ฯลฯ

[สอนตนนัยที่ ๕ - พิจารณาถึงบุพจริยาของพระศาสดา]

แต่ถ้าเมื่อพระโยคาวจรนั้น แม้พิจารณากัมมัสสกตาอยู่อย่างนี้ปฏิฆะก็ยังไม่ระงับอยู่อีกไซร้ ทีนี้เธอพึงพิจารณาถึงพระคุณส่วนบุพจริยาของพระศาสดา ๑ (ต่อไป) (ต่อไป) นี้เป็นนัยแห่งการพิจารณาในบุพจริยคุณของพระศาสดานั้น (คือสอนตน) ว่า "นี่แน่ะพ่อนักบวช พระศาสดาของเจ้าในกาลก่อนแก่สัมโพธิสมัย แม้เป็นพระโพธิสัตว์ยังมิได้ตรัสรู้ ทรงบำเพ็ญพระบารมีอยู่ตลอด ๔ อสงไขยกับแสนกัป ก็มิได้ทรงยังพระจิตให้ (คิด) ประทุษร้ายในบุคคลทั้งหลายผู้เป็นศัตรู แม้ (ถึงกับ) เป็นผู้ปลงพระชนม์เอาในชาตินั้นๆ มิใช่หรือ ข้อนี้มีเรื่องอย่างไรบ้าง ฯลฯ

[สอนตนนัยที่ ๖ - พิจารณาถึงความที่เคยเกี่ยวข้องกันในสังสารวัฏฏ์]

แต่ถ้าเมื่อเธอแม้พิจารณาถึงพระคุณ อันเป็นส่วนบุพจริยาของพระศาสดาดังกล่าวมานี้อยู่ ปฏิฆะของเธอผุ้ตกเป็นทาสของกิเลสทั้งหลายมาช้านานนั้น ก็ยังไม่ระงับอยู่นั่นไซร้ ทีนี้เธอพึงพิจารณาถึงบทพระสูตรทั้งหลาย ที่มีความเนื่องด้วยศัพท์อนมตัคคะ (สงสารที่ไม่ปรากฏต้นปลาย) ก็ในสุตตบทเหล่านั้น สุตตบท (ต่อไป) นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า "ดุกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ผู้ที่ไม่เคยเป็นมารดาไม่เคยเป็นบิดา ไม่เคยเป็นพี่น้องชาย ไม่เคยเป็นพี่น้องหญิง ไม่เคยเป็นบุตร ไม่เคยเป็นธิดา (ของเรา) มิใช่หาได้ง่าย" ดังนี้ ฯลฯ

[สอนตนนัยที่ ๗ - พิจารณาอานิสงส์เมตตา]

แต่ถ้าแม้อย่างนี้ เธอก็ยังไม่อาจดับจิต (ร้าย) ลงได้ไซร้ ทีนี้เธอพึงพิจารณาถึงอานิสงส์เมตตา (ต่อไป) อย่างนี้ว่า "นี่แน่ะพ่อบรรพชิต พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้มิใช่หรือว่า 'ดูกรภิกษุทั้งหลายเมื่อเจโตวิมุติ คือ เมตตา ภิกษุเสพโดยเอื้อเฟื้อ เจริญทำให้มาก ทำให้เป็นดุจยาน ทำให้เป็นดุจวัตถุ * ก่อตั้งสั่งสมทำให้สำเร็จอย่างดีแล้วอานิสงส์ ๑๑ เป็นหวังได้ อานิสงส์ ๑๑ คืออะไรบ้าง อานิสงส์ ๑๑ คือผู้เจริญเมตตา ย่อม หลับเป็นสุขตื่นเป็นสุขไม่ฝันร้ายเป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลายเป็นที่รักของมนุษย์ทั้งหลายเทวดารักษาไฟก็ดี พิษก็ดี ศัสตราก็ดี ไม่แผ้วพานเขาจิตตั้งมั่นเร็วสีหน้าผ่องใสไม่หลงทำกาลกิริยาเมื่อยังไม่บรรลุคุณอันยิ่งกว่า ย่อมเข้าถึงพรหมโลก"

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 24 ส.ค. 2552

[สอนตนนัยที่ ๘ - ใช้วิธีแยกธาตุ]

แต่พระโยคาวจรผู้ไม่อาจยังจิต (ร้าย) ให้ดับไป แม้โดยอุบายอย่างนี้ พึงทำธาตุวินิพโภค (แยกธาตุ) ต่อไป ถามว่า ทำอย่างไรแก้ว่า พึงสอนตนโดยวิธีแยกอย่างนี้ว่า 'นี่แน่ะพ่อบรรพชิต ก็ตัวเจ้าเมื่อโกรธบุคคลนั้น โกรธอะไร โกรธผมหรือ หรือว่า โกรธขน ฯลฯ

[วิธีสุดท้าย - ทำทานสังวิภาค]

แต่พระโยคาวจรผู้ไม่อาจทำธาตุวินิพโภค ก็พึงทำทานสังวิภาค (การให้และการแบ่ง) เถิด (คือ) พึงให้ของๆ ตนแก่ปรปักษ์ รับของๆ ปรปักษ์มาเพื่อตน แต่ถ้าปรปักษ์เป็นภินนาชีวะ (มีอาชีวะแตก คือไม่บริสุทธิ์) มีบริขารไม่เป็นของควรแก่การบริโภคไซร้ ก็พึงให้แต่ของๆ ตน (ไปฝ่ายเดียว อย่ารับของๆ เขาเลย) เมื่อเธอทำอันชื่อว่าการให้นี่ มีอานุภาพมากอย่างนี้ สมคำ (โบราณ) ว่า การให้ ปราบคนที่ใครๆ ปราบไม่ได้ (ก็ได้) การให้ ยังสิ่งประสงค์ทั้งปวงให้สำเร็จ (ก็ได้) ด้วยการให้กับการเจรจาไพเราะ (ประกอบกันทำให้) คนทั้งหลายเงยก็มี ก้มก็มี

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
suwit02
วันที่ 24 ส.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
วิริยะ
วันที่ 10 ต.ค. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chaweewanksyt
วันที่ 22 ก.พ. 2555

สาธุ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ