พึงละแม้ซึ่งธรรมทั้งหลาย

 
พุทธรักษา
วันที่  26 ส.ค. 2552
หมายเลข  13356
อ่าน  1,487

เคยอ่านเจอที่ไหนจำไม่ได้ค่ะ ... จึงขอรบกวน แสดงข้อความในพระไตรปิฎกเกี่ยวกับเรื่องนี้ ข้อความที่กล่าวถึงพระอรหันต์ ประมาณว่า "เมื่อถึงฝั่ง ย่อมถีบแพ ฯ" หรือ "เมื่อถึงฝั่ง ก็ไม่แบกเรือไปด้วย แต่ทิ้งไว้ริมฝั่งนั้นเอง ฯ" (ถ้าเขียนผิด ... ขออภัยด้วยค่ะ) ที่เรียนถาม เพราะอยากทราบว่า "เรือ" ที่กล่าวถึงนั้นท่านหมายถึงสิ่งใด รบกวนหน่อยนะคะ

ขอบพระคุณมากค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
dron
วันที่ 28 ส.ค. 2552

เรือหาไม่เจอครับ เจอแต่ทุ่น ลองอ่านดูนะครับ เกี่ยวกับเรือเหมือนกัน

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 287

[๒๘๐] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้เดินทางไกล พบท้วงน้ำใหญ่ฝั่งข้างนี้ น่ารังเกียจ มีภัยตั้งอยู่เฉพาะหน้าฝั่งข้างโน้นเกษม ไม่มีภัย ก็แหละ เรือหรือสะพานสำหรับข้ามเพื่อจะไปสู่ฝั่งโน้นไม่พึงมี บุรุษนั้นพึงดำริอย่างนี้ว่า ห้วงน้ำนี้ใหญ่แล ฝั่งข้างนี้น่ารังเกียจ มีภัยตั้งอยู่เฉพาะหน้า ฝั่งข้างโน้นเกษม ไม่มีภัย ก็แหละเรือหรือสะพานสำหรับข้ามเพื่อจะไปสู่ฝั่งโน้นย่อมไม่มี ถ้ากระไร เราพึงรวบรวมหญ้าไม้ กิ่งไม้ และใบไม้มาผูกเป็นทุ่น แล้วอาศัยทุ่นนั้น พยายามด้วยมือและเท้าพึงข้ามถึงฝั่งได้โดยความสวัสดี ทีนั้นแล บุรุษนั้นรวบรวมหญ้า ไม้ กิ่งไม้และใบไม้มาผูกเป็นทุ่น อาศัยทุ่นนั้น พยายามด้วยมือและเท้า พึงข้ามถึงฝั่งโดยความสวัสดี บุรุษนั้นข้ามไปสู่ฝั่งได้แล้ว พึงดำริอย่างนี้ว่า ทุ่นนี้มีอุปการะแก่เรามากแล เราอาศัยทุ่นนี้ พยายามอยู่ด้วยมือและเท้า ข้ามถึงฝั่งได้โดยความสวัสดี ถ้ากระไร เรายกทุ่นนี้ขึ้นบนศีรษะ หรือแบกที่บ่า แล้วพึงหลีกไปตามความปรารถนา ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

บุรุษนั้นผู้กระทำอย่างนี้ จะชื่อว่าถูกหน้าที่ในทุ่นนั้นบ้างหรือหนอ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้อนั้นชื่อว่าทำไม่ถูก พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าภิกษุทั้งหลาย ก็บุรุษนั้นกระทำอย่างไรจึงจะชื่อว่าทำถูกหน้าที่ในทุ่นนั้น. ในข้อนี้ บุรุษนั้นข้ามไปสู่ฝั่งแล้ว พึงดำริอย่างนี้ว่า ทุ่นนี้มีอุปการะแก่เรามากแลเราอาศัยทุ่นนี้ พยายามอยู่ด้วยมือและเท้า จึงข้ามถึงฝั่งได้โดยความสวัสดี ถ้ากระไร เราพึงยกทุ่นนี้ขึ้นวางไว้บนบก หรือให้ลอยอยู่ในน้ำแล้วพึงหลีกไปตามความปรารถนา ภิกษุทั้งหลาย บุรุษนั้นกระทำอย่างนี้แล จึงจะชื่อว่ากระทำถูกหน้าที่ในทุ่นนั้น แม้ฉันใด ภิกษุทั้งหลาย เราแสดงธรรมมีอุปมาด้วยทุ่นเพื่อต้องการสลัดออก ไม่ใช่เพื่อต้องการยึดถือฉันนั้นแล เธอทั้งหลายรู้ถึงธรรมมีอุปมาด้วยทุ่นที่เราแสดงแล้วแก่ท่านทั้งหลาย พึงละแม้ซึ่งธรรมทั้งหลาย

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
พุทธรักษา
วันที่ 28 ส.ค. 2552

ขอขอบพระคุณและอนุโมทนา คุณดร ค่ะ ที่กรุณาค้นมาให้อ่าน.ต้องขออภัยที่จำคลาดเคลื่อนไปมาก ว่า เป็นเรือที่จริงแล้ว เป็น ทุ่น

จากข้อความนี้ ... ภิกษุทั้งหลาย เราแสดง ธรรม มีอุปมาด้วยทุ่น เพื่อต้องการสลัดออก ไม่ใช่เพื่อต้องการยึดถือ ฉันนั้นแล เธอทั้งหลาย รู้ถึง ธรรม มีอุปมาด้วยทุ่น ที่เราแสดงแล้วแก่ท่านทั้งหลาย พึงละ แม้ซึ่ง ธรรมทั้งหลายขอเรียนถามว่าธรรม มีอุปมาด้วยทุ่นคือ กุศลธรรมทั้งหลาย ใช่ไหมคะ ธรรมทั้งหลายคือ กุศลธรรม อกุศลธรรม และ อัพพยากตธรรม ใช่ไหมคะ (ปล. คลิกเข้าไปที่ลิงค์แล้ว เข้าไปอ่านไม่ได้ ... เลยไม่ทราบว่าอรรถกถา ท่านแสดงว่า อย่างไร จึงขอเรียนถามดังกล่าวค่ะ)

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 28 ส.ค. 2552

ธรรมที่อุปมาด้วยทุ่น ธรรมในที่นี้หมายถึง สมถะและวิปัสสนา ซึ่งพระพุทะเจ้าทรงให้ละความยึดถือแม้ในสมถะและวิปัสสนา ผู้ที่ยึดถือในสมถะและวิปัสสนาด้วย ความยินดี พอใจ เป็นต้น ก็เหมือนแบกทุ่นขึ้นศรีษะ ไม่วางไว้นั่นเอง ส่วนภิกษุใดละความยึดถือในสมถะและวิปัสสนา (ทุ่น) ก็เหมือนข้ามถึงฝั่งแล้ววางทุ่นไว้ที่บก ไม่แบกไว้ที่ศรีษะฉะนั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
พุทธรักษา
วันที่ 29 ส.ค. 2552
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 13356 ความคิดเห็นที่ 3 โดย paderm ธรรมที่อุปมาด้วยทุ่น ธรรมในที่นี้หมายถึง สมถะและวิปัสสนา ซึ่งพระพุทะเจ้าทรงให้ละความยึดถือแม้ในสมถะและวิปัสสนา ผู้ที่ยึดถือในสมถะและวิปัสสนาด้วย ความยินดี พอใจ เป็นต้น ก็เหมือนแบกทุ่นขึ้นศรีษะ ไม่วางไว้นั่นเอง ส่วนภิกษุใดละความยึดถือในสมถะและวิปัสสนา (ทุ่น) ก็เหมือนข้ามถึงฝั่งแล้ววางทุ่นไว้ที่บก ไม่แบกไว้ที่ศรีษะฉะนั้น ขออนุญาตเรียนถามอีกนิดค่ะยึดถือ ใน วิปัสสนา เป็นอย่างไรคะ กรุณาขยายความหน่อยค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 29 ส.ค. 2552

ยึดถือในสมถและวิปัสสนาในที่นี้ หมายถึง ยึดถือด้วยอำนาจโลภะและทิฏฐิ อย่างไรคือยึดถือด้วยอำนาจโลภะ เช่นยินดีพอใจในฌานขั้นต่างๆ ขณะนั้น ขณะที่ยินดีพอใจ ไม่ใช่หนทางในการดับกิเลส เช่นเดียวกับขณะที่สติปัฏฐานเกิดก็เกิดความยินดี พอใจ ต้องการสติให้เกิดอีก เป้นต้น ขณะที่เกิดความยินดีพอใจก็ไม่ใช่หนทางในการดับกิเลส ขณะนั้นยิดถือด้วยอำนาจโลภะนั่นเอง ดังข้อความในพระไตรปิฎกในเรื่องนี้

[เล่มที่ 18] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 308

ในคำว่า ธมฺมาปิ โว ปทาตพฺพา นี้ ธรรมทั้งหลาย ชื่อว่า สมถะ และวิปัสสนา จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้ละฉันทราคะ ทั้งในสมถะ ทั้งในวิปัสสนา. ทรง ให้ละฉันทราคะในสมถะไว้ในที่ไหน ทรงให้ละฉันทราคะไว้ในสมถะ ในที่นี้ว่า ดูก่อน อุทายีเพราะเหตุนี้แล เรากล่าวการละแม้เนวสัญญานาสัญายตนะ ดูก่อนอุทายีเธอไม่เห็นสังโยชน์ อันละเอียดหรือหยาบ ที่เรามิได้กล่าวการละไว้. ทรงให้ละฉันท ราคะไว้ในวิปัสสนา ในที่นี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากพวกเธอไม่เกาะไม่ยึด ไม่ถือทิฏฐินี้ ที่บริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนี้ แต่ในที่นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงให้ละฉันทราคะในสมถะ และวิปัสสนาทั้ง ๒ จึงตรัสว่า แม้ธรรม ทั้งหลายพวกเธอพึงละ จะป่วยกล่าวไปไย ถึงอธรรมทั้งหลาย

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
พุทธรักษา
วันที่ 29 ส.ค. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ