พระภิกษุให้พรตอนเราใส่บาตรผิดวินัยหรือไม่.
รบกวนสอบถามด้วยครับ
พระภิกษุให้พร อายุ วรรณะ สุขะ......ตอนเราใส่บาตรเสร็จ หรือให้เรากรวดน้ำ แล้วกล่าวยะถา แต่ท่านยืนอยู่เรานั่งยองๆ พระภิกษุผิดวินัยหรืออาบัติหรือไม่ครับ ผมตรวจในศีล ๒๒๗ ไม่มี แต่มีบางท่านบอกว่าผิด
เรียนความเห็นที่ 1
ได้คลิกอ่านไปตามหัวข้อที่ให้มา อยากทราบว่า เวลาภิกษุกล่าวธรรมหรือให้พร ทำไมเราจึงไม่ควรนั่ง เพียงยืนพนมมือก็พอ
ขอบพระคุณค่ะ
เรียนความเห็นที่ ๒ ตามพระวินัยมีว่า ผู้แสดงธรรมยืน ผู้ฟังนั่ง ชื่อว่าไม่เคารพธรรม พระภิกษุผู้แสดง เป็นอาบัติ
เรียนความเห็นที่สี่
ที่ท่านได้ให้ความเห็นมา เป็นความรู้ใหม่ที่อ่านแล้วรู้สึกช็อคเล็กน้อย ถ้าจะช่วยไม่ให้พระท่านอาบัติ ก็คงต้องบอกกล่าวแก่ท่าน หรือไม่ หลังจากใส่บาตรแล้ว พนมมือไหว้แล้วรีบเดินไปทันที
ขอบพระคุณค่ะ
เรียนความเห็นที่ 5
ควรเรียนพระท่านก่อนใส่บาตรว่าไม่ต้องให้พรครับ
เรียนถามว่า ถ้าเราได้เรียนท่านก่อนใส่บาตรแล้ว และเราได้ถอยหลังห่างจากบาตรแล้ว ท่านยังให้พร (ไม่ทราบว่าท่านจะได้ยินคำที่เรากล่าวหรือไม่) ทำให้เราต้องยืนฟังคำให้พรจนจบ ควรจะทำอย่างไร และถ้าเราไม่ใส่บาตรเพราะเห็นบาตรเต็ม จะได้หรือไม่ค่ะ เพราะได้เตรียมของแล้ว และของที่เตรียมไว้นั้นควรจะทำอย่างไร จะนำมาทานได้หรือไม่
นโม อริยมคฺคสฺส : ข้าน้อมทางอริยะ สาธุ คุณประเชิญ ในการแสดงพระพุทธพจน์ และคุณวิริยะในคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ครับ.
ผมขอเสริมเกร็ดน่ารู้ว่า :
1. ในพระวินัย โดยมาก การแสดงธรรม จะหมายถึงการแสดงพระพุทธพจน์ด้วย และต้องเป็นภาษาบาลีด้วย เพราะสิกขาบทเรื่องการแสดงธรรมที่ท่านมักอ้างถึงในอรรถกถา เช่น ปทโสธัมมสิกขาบท, ธัมมเทสนสิกขาบท ในปาจิตตีย์ มุสาวาทวรรค เป็นต้นนั้น, อรรถกถาให้นับเป็นคาถาบ้าง เป็นอักขระบ้าง แบบภาษาบาลี. ภาษาบาลีไม่เหมือนกับภาษาไทยหลายประการ ว่ากันว่า ภาษาไทย จะนับเป็นคาถา ก็จัดไม่ได้ จะจัดอักขรฐานกรณ์ก็ไม่ตรง เป็นต้น และท้ายที่สุด ภาษาไทย ไม่สามารถใช้ทำสังฆกรรมได้เลย ได้เพียงวินัยกรรมเท่านั้นเอง. จึงเป็นข้อสรุปกันในวงการวินัยว่า
"การใช้แปลเป็นภาษาไทย ยังไม่ผิดพระวินัย" และเพราะท่านให้แสดงเป็นพุทธพจน์หรืออรรถกถาเท่านั้น จึงสรุปกันในวงการวินัยอีกว่า "การแสดงเป็นภาษาบาลีที่ไม่ใช่พระพุทธพจน์ ยังไม่ผิดพระวินัย" เช่นกัน.
ฉะนั้น ในสายที่รักษาพระวินัย บางท่าน อาจใช้ ภาษาบาลีที่แต่งขึ้นเองบ้าง หรือ แปลพุทธพจน์เป็นภาษาไทยเสียบ้าง. การทำอย่างนี้ ยังไม่จัดว่า ผิดพระวินัย ครับ.
การยืนใส่บาตร, ขอตัวท่านออกมา, เดินออกมาเฉยๆ ไม่ต้องรอท่านให้พร (2-3 วันท่านคงชินเองว่า คนนี้รีบ) เป็นต้น เหล่านี้ก็เป็นทางออกง่ายๆ อย่างหนึ่งครับ.
2. ใส่ถุงเท้า ขณะท่านให้พร หรือ แสดงธรรม ไม่ว่าจะในตึกนอกตึกก็ไม่ได้ ทั้งนั้นครับ เพราะตรัสไว้ว่า "นปาทุกรุฬฺหสฺส ... อุปาหนารุฬหสฺส อคิลานสฺส ธมฺมํ เทเสสฺสามีติ สิกขากรณิยา : พระควรฝึกว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนปกติที่สวมรองเท้า ... เขียงเท้า".
ส่วนตัวพระภิกษุเอง ก็ใส่รองเท้าในละแวกบ้านไม่ได้เช่นกัน หากเห็นท่านใส่ โดยสังเกตได้ว่าท่านไม่ได้ป่วย ก็ควรหาวิธีแนะนำนิ่มๆ ดีๆ เพราะๆ บอกท่านไปโดยไม่ให้เกิดอกุศลทั้ง 2 ฝ่าย นะครับ.
3. มือถือ คอมพิวเตอร์ ก็ถวายไม่ได้ เพราะข้างในมีทองอยู่ แต่สามารถใช้ได้ด้วยวิธีการยืมโยมใช้ หรือ ยืมมือถือประจำกุฏิใช้ เพราะทรงห้ามไม้ให้ครอบครอง เงิน และทอง, แต่อนุญาตให้ใช้เป็น คิหิวิกัต และ ของประจำเสนาสนะได้ครับ.
4. ตอนรับศีล อย่ากล่าวแทรกพระ จะทำให้ท่านอาบัติข้อ ปทโสธัมมสิกขาบท (สอนให้โยมเปล่งวาจาท่องจำพร้อมกัน) อาบัติข้อนี้ หนักกว่าข้อแสดงธรรมแก่ผู้สวมรองเท้า เพราะเป็นอาบัติปาจิตตีย์ ทั้งยังเป็น อจิตตกะ คือ ไม่รู้, หลงลืม ก็อาบัติด้วย, และซ้อนคำเดียวก็อาบัติแล้ว ครับ.
5. พระฉันได้แต่อาหารที่สุกเท่านั้น พวกกะปิ, หอยดอง,หอยนางรมย์, กุ้งเต้น เป็นต้น เป็นอาหารยังไม่สุกทั้งนั้น ถวายพระมา หากว่าที่วัดไม่มีคนวัด พระก็ฉันไม่ได้ เพราะต้องทำให้สุกก่อน และห้ามต้มเองด้วย ฉะนั้น ถ้าปรารถนาจะทำบุญที่ประกอบด้วยปัญญา ก็ควรคั่ว, ต้ม เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่งมาให้เรียบร้อยก่อน จึงถวายพระ ครับ.
6. ผักและผลไม้ใด สามารถงอกได้ ไม่ว่าจะโดยเมล็ด, โดยข้อปล้อง, โดยราก, โดยยอด, ปักชำ เป็นต้น พระจะไปเด็ด กัด ตัด หรือ ฉันไม่ได้เลย ถ้าไม่ปล้อนเม็ดเป็นต้นออก การถวายอาหารของคนฉลาดทำบุญจึงควรทำให้สมควรก่อน โดยการปล้อนเม็ดออก (ส้ม) เด็ดรากทิ้ง (ต้นหอม) , ตัดข้อต่อทิ้ง (ผักบุ้ง-ผักกระเฉด) เป็นต้น
ถ้าให้ง่ายกว่านั้น ก็ให้พระท่านถามว่า "กัปปิยัง กะโรหิ" หรือ "จงทำให้สมควรฉัน" แล้วเราก็ลงมือกับผักผลไม้ ที่ชนกันอยู่นั้น หรือจับให้ชนกันก็ได้ โดยการใช้ไม้, มีด, ช้อน โดยที่สุดแม้เล็บ (ถ้าจนปัญญาจะหาของสะอาดและสมควรอื่นๆ ) จิกไปที่ผัก-ผลไม้นั้น พอเป็นรอยแตก ไม่ต้องแรงมากก็ได้ พร้อมกับกล่าวคำว่า "กัปปิยัง ภันเต" หรือ "ควรฉันแล้วครับ" เท่านี้ ผัก-ผลไม้กลุ่มที่ชิดกันอยู่นั้น พระก็ฉันได้ตามสะดวกแล้ว ครับ.
สุดท้าย ถ้าไม่สามารถทำได้จริงๆ ก็ให้เลือกเฉพาะอาหารที่ไม่มีโทษสมบัติข้างต้น แล้วถวายไปครับ, แต่ถ้ามันมีโทษสมบัติข้างต้น ก็ยังถวายได้อยู่ครับ แต่พระท่านอาจจะฉันได้เป็นบางอย่างเท่านั้นเอง.
นอกจากที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ยังมีเรื่องของ .-
1. การถวายไม่ได้หัตถบาส
2. การถวายของผิดกาล
3. การถวายจีวรที่พระใช้ไม่ได้
4. การไม่อยากใส่บาตรกลัวอาหารเหลือพระไม่ฉัน
5. การฝากถวาย ไม่ประเคนด้วยตนเอง
6. การนิมนต์ผิดระเบียบ
7. การทำกฐินไม่ถูกต้อง
8. การถวายเงินพระ
9. การนิมนต์พระเดินทาง
10. การนั่งในห้องเดียวกันกับพระ
11. การนอนในตึกเดียวกันกับพระ
12. การเลือกจีวรบวช
13. การใส่เงินในบาตรพระใหม่ในโบสถ์
14. การบวชแล้วสวดฐานกรณ์ไม่เรียบร้อย
15. การเลือกวัดบวชไม่ถูก
16. การแนะนำพระ
17. การถวายอาหารพระแบบจับจานชนกันรวดเดียวตามบ้านนอก
ฯลฯ เป็นต้น
เรื่องเหล่านี้ล้วนพบว่าทำผิดพลาดกันได้ทั้งนั้น แต่ไม่ได้กล่าวในที่นี้ เดี๋ยวจะกลายเป็นหนังสือไป ไว้มีประเด็น ค่อยกล่าวเป็นเรื่องๆ ไป ...
หวังว่าจะได้ความรู้ สำหรับพอกพูนทานกุศล-ศีลกุศลกันไปบ้าง ไม่มากก็น้อย ครับ.
เรียนความเห็นที่ 9
สรุปว่า ถ้าถวายผลส้ม ก็ต้องเอาเมล็ดออกก่อนหรือคะ เป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือคะ และการที่จะให้พระท่านถามหรือพูดว่า จงทำให้สมควรฉัน ดิฉันว่า ท่านไม่ถามหรอกค่ะ และส้มเป็นผลๆ ดิฉันก็เคยใส่บาตรมาแล้ว
ขอบพระคุณค่ะ
นโม อคฺคสฺส สมฺโพชฺฌงฺคสฺส : ขอนอบน้อมแด่ยอดแห่งโพชฌงค์
เรียนคุณ วิริยะครับว่า ...
ใน สิกขาบทที่ 60 ของพระปาติโมกข์ สิกขาบทที่ 11 ของปาจิตตีย์ และเป็นสิกขาบทแแรกของภูตคามวรรค ภูตคามสิกขาบท ทรงตรัสว่า "ภูตคามปาตพฺยตาย ปาจิตฺติยํ : เป็นโทษระดับปาจิตตีย์ เพราะพรากภูตคาม (พืชที่ปลูกสำเร็จแล้ว) ".
ในอรรถกถาที่นี้ ท่านยังกล่าวถึงของจะงอกได้อีกด้วย โดยเรียกว่า "พีชคาม : พืชที่สามารถปลูกได้ (เชื้อพันธุ์) " โดยพระอรรถกถาจารย์ท่านปรับอาบัติ ทุกกฎ สำหรับภิกษุที่ไปทำลายพีชคาม ตามแนวคัมภีร์มหาวรรค เภสัชชขันธกะไว้ว่า "พรากพีชคามแม้ทั้ง ๕ อย่าง อันนอกจากภูตคาม เป็นทุกกฏ" ครับ. คำกล่าวทำกัปปิยะว่า "จงทำให้ควรฉัน" นั้นก็อยู่ในอนาปัตติวาระ ของสิกขาบทข้อนี้ ครับ.
นอกจากนี้ เรื่องนี้ยังมีเรื่องใน มหาวรรค เภสัชชขันธกะ อีกมาก เช่น "เราอนุญาตให้ปล้อนเมล็ดออกก่อน ไม่ทำกัปปิยะ ก็ฉันได้" เป็นต้น. รายละเอียดสามารถตามอ่านได้จากที่มาซึ่งได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ครับ.
ให้พยายามระลึกเสมอว่า ถ้าท่านรู้วินัย และไม่มีใครทำกัปปิยะให้ ท่านก็อาจไม่ฉันอาหารของเราก็ได้ เพราะสมัยนี้เป็นที่ทราบกันดีดังเห็นในย่ามของพระท่านว่า อาหารบิณฑบาตรเหลือมากทุกวัน ครับ ท่านจะเลือกฉันเฉพาะอาหารที่สมควรถุงใดก็ได้.
ส่วนการทำกัปปิยะนั้น เป็นคำแนะนำเมื่อไปประเคนอาหารที่วัด เพราะมีของที่จะต้องทำกัปปิยะมาก ถ้ารู้อุบายก็จะได้ไม่ต้องทำทุกลูก ทุกเม็ด.
ฉะนั้น ผู้มีปัญญาสามารถฝึกความฉลาดในการให้ทานได้ โดยการพยายามหาอุบายที่พระจะฉันได้ โดยไม่ลำบาก และไม่ให้สิ่งที่มีโทษ ครับ.
เรียนถามว่า
ข้าราชการใส่เครื่องแบบ ไม่ถอดรองเท้าเข้าโบสถ์ และขณะฟังพระท่านสวดนั้น ถือว่าสมควรหรือไม่ เพราะเคยทราบมาว่าเมื่อใส่เครื่องแบบไม่ต้องถอดรองเท้า กรุณาชี้แจงด้วยครับ
ขอขอบพระคุณ
ควรถอดรองเท้าเพราะเป็นสถานที่ควรเคารพ ในพระไตรปิฎกมีแสดงไว้ ในอดีตชาติของพระเจ้าพิมพิสารใส่รองเท้าเข้าในวิหาร ผลของกรรมนั้นทำให้ท่านถูกกรีดพระบาท
อิทมฺปิ พุทฺเธ รัตนํ ปณีตํ เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ
แม้นี้ก็เป็นรัตนะอันประณีตคือพระพุทธเจ้า ด้วยคำสัตย์นี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์ทั้งหลาย
เรียนความเห็นที่ 12
ไม่ว่าจะใส่ชุดอะไร ควรถอดรองเท้า เมื่อเข้าโบสถ์ วิหารหรือลานเจดีย์ อันเป็นการแสดงความเคารพอ่อนน้อมต่อสิ่งที่ควรเคารพอ่อนน้อมมีพระพุทธเจ้าและพระธรรม เป็นต้น ดังข้อความในพระไตรปิฎก
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้าที่ 637
ความไม่เคารพนั้น ภิกษุใดขึ้นสู่ลานพระเจดีย์ กั้นร่ม สวมรองเท้า แลดูแต่ที่อื่น เดินคุยกันไป. ภิกษุนี้ ชื่อว่าไม่มีความเคารพในพระศาสดา. ภิกษุใด เมื่อเขาประกาศเวลาฟังธรรม อันภิกษุหนุ่มและสามเณรนั่งห้อมล้อม หรือกำลังทำนวกรรมเป็นต้นอย่างอื่น นั่งหลับในโรงฟังธรรมหรือเป็นผู้ฟุ้งซ่าน นั่งคุยเรื่องอื่น ภิกษุนี้ ชื่อว่าไม่มีความเคารพในพระธรรม.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 448
ในบทเหล่านั้น ภิกษุเมื่อเดินกั้นร่ม สวมรองเท้าที่ลานพระเจดีย์เป็นต้นก็ดี พูดเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์มีประการต่างๆ ก็ดี ชื่อว่าไม่เคารพในพระศาสดา. อนึ่ง นั่งหลับในโรงฟังธรรมก็ดี พูดเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ มีประการต่างๆ ก็ดี ชื่อว่าไม่เคารพในพระธรรม.
เรียนความเห็นที่ 11
ไม่เคยได้ทราบรายละเอียดต่างๆ เหล่านั้นมาก่อนเลยในชีวิต ถ้ามีโอกาสได้ใส่บาตร ต่อไปดิฉันก็จะพยายามไม่ใส่บาตรด้วยผลไม้ที่มีเมล็ด ซึ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำได้คือ นำเมล็ดออก หรือฝานออกมาเป็นชิ้นๆ แล้วพระทุกรูปท่านจะทราบถึงวินัยข้อนี้หรือไม่
คำว่า จงทำให้สมควรฉัน นั้น หมายความว่า ผู้ใส่บาตรควรจะกล่าวนำอะไรบางอย่างเพื่อที่จะให้ท่านได้กล่าวคำว่า จงทำให้สมควรฉัน หรืออย่างไร ถ้าพระท่านไม่กล่าวคำนั้น ย่อมหมายความว่า ถ้าท่านเคร่งครัดในวินัย ของใส่บาตรที่เป็นผลไม้ที่มีเมล็ดเหล่านั้น ท่านก็ฉันไม่ได้ ต้องให้ผู้อื่น หรือ ทิ้งหมด เป็นเช่นนั้นหรือไม่
ขอบพระคุณค่ะ
นโม สุวิสุทธสฺส : ขอน้อมท่านผู้บริสุทธิ์ดี
น่าอนุโมทนาคุณวิริยะ ที่ขวนขวายเพื่อให้มีปัญญาในการให้ทานเป็นอย่างดี ครับ. สำหรับส้ม หรือ ผลไม่ที่แกะส่วนที่งอกออกได้ พระภิกษุท่านสามารถไปแกะออกได้เอง ครับ, แต่บางอย่าง เช่น ผักบุ้ง, หอยดอง เป็นต้น, สิ่งเหล่านี้ ถ้าไม่ มีคนวัดทำกัปปิยะให้ ท่านก็ต้องหาฆราวาสมาทำให้ หรือ ให้คนอื่นไป หรือ ทิ้งเสีย เพราะแกะเองไม่ได้ ต้มเองไม่ได้ ครับ.
เมื่อของที่เราถวายท่านมีสิทธิ์ที่ท่านจะไม่ฉัน หรือ ฉันแล้วท่านจะมีโทษ แสดงว่าการถวายนั้นไม่ประกอบด้วยปัญญาในการให้ทาน ครับ, เพราะขนาดเราเองยังเลือกอาหารที่เราจะทานได้ง่าย ทานแล้วไม่มีโทษ, หรือ ของแปลกใหม่ น่า
ทาน ของที่เห็นแล้วต้องหยิบแน่ๆ เราก็เลือกให้กับตัวเองทุกครั้ง. แต่กับพระภิกษุ ผมสังเกตว่า หลายท่านทีเดียว ใส่บาตรไปทั้งที่รู้ว่าท่านจะไม่ฉัน บางทีใส่อาหารบูดมาก็มี (ร้านข้างทาง) ตรงนี้เป็นส่วนที่ทำให้บุญให้ผลได้ไม่เต็มที่ ครับ.
การที่เราเสียสละเวลาคิดใคร่ครวญใช้ปัญญา เลือกเฟ้นแล้วให้ หรือ ดัดแปลงปรับปรุง เพื่อให้พระท่านฉันได้โดยปราศจากโทษ, ฉันได้โดยไม่ลำบาก และเลือกที่จะฉันของๆ เรา นั้น, จะช่วยเราเป็นคนแรก และได้เห็นๆ ในชาตินี้เลย คือ ปัญญา อันเป็นแสงสว่างของโลกนั่นเอง.
อนึ่ง เรื่องการทำกัปปิยะนี้ ไม่ต้องกังวลมากครับ เป็นหน้าที่ของพระภิกษุท่าน ที่จะต้องบอกแก่ญาติโยม แต่ถ้าปรารถนาปัญญาโดยประการทั้งปวง ก็ควรพัฒนาวิธีการใช้ชีวิตทุกด้านตามคำสอนของพระพุทธองค์ รวมไปถึงการตักบาตรด้วย ครับ.
สวัสดีครับ คุณสุภาภรณ์ ความคิดเห็นที่ 8.
ถ้าท่านเรียกไปฟัง เราก็ยืน เพราะท่านรู้ว่าเรารีบอยู่แล้ว ครับ, แต่ถ้าใส่รองเท้า-ถุงเท้า เราก็เดินไปเลย อย่าย้อนกลับ ครับ ท่านไม่สนใจเท่าไหร่หรอก ครับ คนใส่บาตรท่านตั้งเยอะ, อีกอย่างหนึ่ง ถ้าท่านถามในวันหลัง ก็บอกท่านว่า อยู่ฟังไม่ได้จริงๆ .
ถ้าท่านยังดื้อดึง ... ก็ก็อปพระสูตรไปให้ท่านอ่าน เป็นสิ่งที่น่าทำที่สุด ครับ. วิถีอื่นๆ ก็พึงคิดค้นเถิด อุบายมีมากมายในโลก ครับ. อนุโมทนาในความตั้งใจทำทานกุศล ของคุณวิริยะ, คุณสุภาถรณ์, และทุกๆ ท่าน ครับ.
ขอบคุณความเห็นที่ 16 มากค่ะ ผู้ที่อ่านพบจะได้มีความประณีตในการหาของใส่บาตรมากขึ้น แต่ว่า ท่านได้กล่าวเรื่องใส่ของบูด ดิฉันคิดว่า ถ้าตั้งใจจะใส่ของบูด คนนั้นคงมีจิตผิดปกติแล้วล่ะค่ะ น่าจะเป็นบาปมากกว่าเป็นบุญนะคะ เว้นเสียแต่ว่า ไม่รู้ว่าบูด
ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ ช่วยชี้แนะข้อข้องใจเรื่องอาหารที่เตรียมใส่บาตรแล้ว แต่บาตรเต็มค่ะจะนำอาหารนั้นกลับมาทานได้หรือไม่คะ
นโม สฺวากฺขาตสฺส : ขอน้อมพระธรรมคำดี
เรียน คุณวิริยะ :
บางคนไม่เลือก ครับ ซื้ออาหารบูดแถวร้านอาหารตักบาตรในเมือง มาถวายพระ (ผมฟังจากพระท่านมา) , อย่างนี้เป็นบุญไม่ประกอบด้วยปัญญา ต่อไปจะรวย แต่ไม่ฉลาด ครับ.
เรียน คุณสุภาพร :
ถ้ามีคนถือให้ ควรถวายท่านไป ครับ, ถ้าท่านถือไม่ไหวจริงๆ ถวายวัดอื่น, ถ้าวัดอื่นไม่มี ถวายชี, ถ้าชีไม่มี ถวายคนรักษาศีล 8 ข้างบ้าน, ถ้าไม่มีจริงๆ ถวายพระอรหันต์ที่บ้าน, โดยที่สุดขอทาน หรือ สุนัข ก็ให้ได้, อย่าให้บุญเจตนาที่เกิดขึ้นแล้วไม่สำเร็จประโยชน ครับ.
ถ้านำของที่จะให้กลับมาใช้ โดยที่ยังสามารถให้ได้อยู่ แสดงว่ายังมีอาลัยในของสิ่งนั้นอยู่ ไม่สำเร็จประโยชน์เต็มที่ในการละโลภะและมัจฉริยะ ในของสิ่งนั้น ครับ.
ให้พรถือว่าเป็นการแสดงธรรมหรือเปล่า ไม่เข้าใจครับ ดูในพระไตรปิฎกที่ยกมากล่าวถึงการแสดงธรรม ไม่ใช่หรือครับ
คาถาที่พระท่านสวด เป็นพระธรรม ผู้ฟังเข้าใจภาษาบาลีก็รู้ว่าเป็นการกล่าวธรรมะ
แล้วมีเหตุอย่างไรครับ ถึงมีวินัยข้อนี้เกิดขึ้น บอกได้หรือไม่ครับอยู่ในพระวินัยเล่มใหนหน้าไหนครับ
เรียนความเห็นที่ ๒๖
ขอเชิญย้อนไปอ่านตั้งแต่ความเห็นที่ ๑ ใหม่ครับ
เป็นอันว่าผมได้กลับไปอ่านความเห็น1 และก็อ่านตามลิ้งค์ เข้าใจโดยเนื้อหาดังกล่าวซึ่งกล่าวถึงการแสดงธรรม แต่ไม่ได้บอกว่าให้พรแต่อย่างใด
สรุป ว่าพระแสดงธรรม ฆราวาสนั่ง ทำไม่ได้ อาบัติ อันนี้ผมเข้าใจแจ่มแจ้งแล้วครับ แต่พระให้พรได้? การกล่าว ขอให้อายุ วรรณะ สุขะ พละ ให้สุขภาพแข็งแรงนะ เป็นต้น เป็นการแสดงธรรมหรือครับ? น่าจะทำได้หรือไม่? ขอคำอธิบายหน่อยนะครับ ยังไม่ค่อยเข้าใจครับ ขอบคุณครับ