ประวัติพระโสณโกฬวิสเถระ [อังคุตตรนิกาย]

 
orawan.c
วันที่  29 ส.ค. 2552
หมายเลข  13387
อ่าน  1,720

[เล่มที่ 32] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 367

ประวัติพระโสณโกฬวิสเถระ

บทว่า อารทฺธวิริยานํ ความว่า ผู้ตั้งความเพียรแล้ว ผู้มีความเพียรบริบูรณ์แล้ว. คำว่า โสโณ โกฬวิโส เป็นชื่อของพระเถระนั้น. คำว่า โกฬวิโส เป็นโคตร. อีกอย่างหนึ่ง ความว่า ชื่อว่า โกฬเวโสอธิบายว่า เด็กแห่งตระกูลแพศย์ ผู้ถึงที่สุดด้วยความมีอิสสระ ก็เพราะเหตุที่ธรรมดาว่า ความเพียรของภิกษุเหล่าอื่น ย่อมต้อง ทำให้เจริญ แต่ของพระเถระ พึงอบรมเท่านั้น เพราะฉะนั้น พระเถระนี้ ชื่อว่าเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้มีความเพียรอันปรารภแล้ว ฝ่ายกุลบุตรนั้น เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์มาถือปฏิสนธิในเรือนของอุสภเศรษฐี ในเมืองกาลจัมปาก ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา ตั้งแต่เวลาที่กุลบุตรนั้นถือปฏิสนธิ เครื่องบรรณาการหลายพันมาในสกุลเศรษฐี ในวันที่เกิดนั่นเอง ทั่วพระนครได้มีเครื่องสักการะสัมมานะเป็นอันเดียวกัน ต่อมาในวันตั้งชื่อกุมารนั้นมารดาบิดาคิดว่า บุตรของเรารับชื่อของตนมาแล้ว รัศมีสรีระของเขาเหมือนรดด้วยทองมีสุกแดง เพราะฉะนั้น จึงตั้งชื่อของกุมารนั้นว่า โสณกุมาร ครั้งนั้น เศรษฐีให้พี่เลี้ยงนางนมบำรุงบุตรนั้นให้เจริญด้วยความสุขประหนึ่งเทพกุมาร ฯลฯ ต่อมาเมื่อพระศาสดาของเราทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ ทรงประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐแล้ว อาศัยกรุงราชคฤห์ประทับอยู่ เศรษฐีบุตรนั้นอันพระเจ้ามคธตรัสเรียกมาเพื่อจะทอดพระเนตรขนที่เท้าแล้วส่งไปเฝ้าพระศาสดาพร้อมกับชาวบ้าน ๘๐,๐๐๐ ฟังพระธรรมเทศนาได้ศรัทธา จึงขอบรรพชากะพระศาสดา ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามเขาว่า มารดาบิดาอนุญาตแล้วหรือ ทรงสดับว่า ยังมิได้อนุญาต จึงทรงห้ามว่า โสณะตถาคตไม่ให้กุลบุตรที่มารดาบิดาไม่อนุญาตบวชได้ เศรษฐีบุตรนั้นรับพระดำรัสของพระตถาคตด้วยเศียรเกล้าว่า ดีละพระเจ้าข้า จึงไปหามารดาบิดาให้ท่านอนุญาตแล้ว จึงกลับมาเฝ้าพระตถาคต ได้บวชในสำนักของภิกษุรูปหนึ่ง นี้เป็นความย่อในเรื่องนี้, โดยพิสดาร พิธีบรรพชาของท่านมาแล้วในพระบาลีนั่นแล.

เมื่อท่านได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว อยู่ในกรุงราชคฤห์ หมู่ญาติและสายโลหิตเป็นอันมาก และเพื่อเห็นเพื่อนเป็นอันมาก ต่างนำสักการะและสัมภาระมา กล่าวสรรเสริญความสำเร็จแห่งรูปแม้คนเหล่าอื่นก็พากันมาดู พระเถระคิดว่า คนเป็นอันมากมายังสำนักของเรา เราจักทำกิจกรรมในกัมมัฏฐาน หรือในวิปัสสนาได้อย่างไร ถ้ากะไร เราพึงเรียนกัมมัฎฐานในสำนักของพระศาสดาแล้วไปสุสานสีตวัน บำเพ็ญสมณธรรม เพราะคนเป็นอันมากเกลียดสุสานสัตว์นั้น จักไม่ไป เมื่อเป็นอย่างนี้ กิจของเราจักถึงที่สุดได้ จึงรับกัมมัฏฐานในสำนักของพระศาสดาแล้วไปยังสีตวันเริ่มบำเพ็ญสมณธรรม ท่านคิดว่า สรีระของเราละเอียดอย่างยิ่งแต่ไม่อาจจะให้ถึงความสุขโดยความสะดวกนั่นเอง แม้ถึงจะลำบากกายก็ควรบำเพ็ญสมณธรรม แต่นั้นจึงอธิษฐานการยืนและการจงกรม มีแต่โลหิตอย่างเดียว เมื่อเท้าเดินไม่ได้ ก็พยายามจงกรมด้วยเข่าบ้าง ด้วยมือบ้าง แม้ถึงกระทำความเพียรอย่างมั่นคงถึงเพียงนี้ก็ไม่อาจทำคุณแม้เพียงโอภาสให้บังเกิด จึงคิดว่า แม้หากว่าคนอื่น พึงปรารภความเพียรพึงเป็นเช่นกับเราไซร้ แต่เราพยายามอยู่อย่างนี้ ก็ไม่อาจทำมรรคหรือผลให้เกิดขึ้นได้ เราไม่ใช่อุคฆฏิตัญญูบุคคล หรือไม่ใช่วิปจิตัญญูบุคคล ไม่ไช่ไนยบุคคล เราพึงเป็นปทปรมบุคคลแน่แท้ เราจะประโยชน์อะไรด้วยบรรพชา เราจะสึกออกไปบริโภคโภคะและกระทำบุญ

สมัยนั้น พระศาสดาทรงทราบความปริวิตกของพระเถระ เวลาเย็น ทรงมีหมู่ภิกษุแวดล้อมไปในสุสานสีตวันนั้น ทอดพระเนตรเห็นที่จงกรมเปื้อนเลือด ทรงโอวาทพระเถระโดยโอวาทเทียบดังพิณ ตรัสบอกกัมมัฏฐานแก่พระเถระเพื่อให้ประกอบความเพียรเพลาๆ ลงบ้าง แล้วเสด็จไปยังภูเขาคิชฌกูฎ ฝ่ายพระโสณเถระได้พระโอวาทในที่ต่อพระพักตร์ของพระทศพล ไม่นานนักก็ตั้งอยู่ในพระอรหัตตผล. ต่อมาภายหลังพระศาสดา มีหมู่ภิกษุแวดล้อมทรงแสดงธรรมในพระเชตวันวิหารทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเป็นยอดของเหล่าภิกษุผู้ปรารภความเพียร.

จบ อรรถกถาสูตรที่ ๗


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ