วิธีเจริญพุทธานุสติ [วิสุทธิมรรคแปล]
วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๑ ตอน ๒ - หน้าที่ 248
วิธีเจริญพุทธานุสติ
ในอนุสติ ๑๐ มีประการดังกล่าวมานี้ พระโยคาวจรผู้กอปรด้วยความเลื่อมใสมั่น ใคร่จะเจริญพุทธานุสสติเป็นอันดับแรก พึงเป็นผู้ไปในที่ลับ (คน) เร้นอยู่ในเสนาสนะอันสมควรแล้ว ระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า (โดยอนุสสรณปาฐะ) อย่างนี้ว่า อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน สุคโต โลกวิทู อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ สตฺถา เทวมนุสฺสานํ พุทฺโธ ภควา (ต่อไป) นี้เป็นนัยในการระลึกในพระพุทธคุณเหล่านั้น (คือ) ระลึก (ประกอบ อิติปิ ไว้ทุกบท) ว่า โส ภควา อิติปิ อรหํ (แม้เพราะเหตุนี้พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระอรหันต์) ฯ เป ฯ โส ภควา อิติปิ ภควา (แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระภควา) (คำ อิติปิ นั้น) มีอธิบายว่า "เพราะเหตุนี้ๆ "
แก้อรรถบท อรหํ ๕ นัย
บัณฑิตย่อมระลึกว่า ในบทเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นได้พระนามว่า อรหํ เพราะเหตุ (๕ นัย) นี้ก่อน คือ
อารกตฺตา เพราะความเป็นอารกะ (ผู้ไกล) (๑)
อรีนํ อรานญฺจ หตตฺตา เพราะความที่ทรงกำจัดอริ (ข้าศึก) ทั้งหลายเสียได้ (๑)
และเพราะทรงทำลายอระ (ซี่กำ) ทั้งหลายเสียได้ (๑)
ปจฺจยาทีนํ อรหตฺตา เพราะความเป็นอรหะ (ผู้ควร) ทักขิณาวัตถุทั้งหลายมีปัจจัย ๔ เป็นต้น (๑)
ปาปกรเณ รหาภาวา เพราะความไม่มีรหะ (ที่ลับ) ในอันที่จะทำบาป (๑) ฯลฯ
เมื่อพระโยคาวจรนั้น ระลึกถึงพระพุทธคุณว่า "เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นพระอรหํ ฯลฯ เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นพระภควา " ดังนี้อยู่ ในสมัยนั้น จิตของเธอย่อมไม่เป็นจิตที่ราคะกลุ้มรุม ไม่เป็นจิตที่โทสะกลุ้มรุม ไม่เป็นจิตที่โมหะกลุ้มรุมเลยทีเดียว ในสมัยนั้น จิตของเธอย่อมเป็นจิตดำเนินไปตรงแน่ว ปรารภ (คุณ) พระตถาคตเจ้า เมื่อเธอข่มนิวรณ์ได้โดยที่ไม่มีปริยุฏฐานกิเลสมีราคะเป็นอาทิอย่างนั้นชื่อว่ามีจิตดำเนินไปตรง เพราะความที่มีจิตมุ่งต่อพระกรรมฐานอยู่ ฉะนี้ วิตกและวิจารอันโน้มไปในพระพุทธคุณย่อมเป็นไป เมื่อตรึกเมื่อตรองพระพุทธคุณร่ำไปๆ ปีติย่อมเกิดขึ้นความกระวนกระวายกายจิตของเธอผู้มีใจกอปร ด้วยปีติย่อมระงับ โดยปัสสัทธิอันมีปีติเป็นปทัฏฐาน สุขทั้งทางกายทั้งทางจิต ย่อมเกิดแก่เธอผู้มีความกระวนกระวายอันระงับแล้ว จิตของเธอผู้มีสุข เป็นจิตมีพระพุทธคุณเป็นอารมณ์ ย่อมเป็นสมาธิ องค์ฌานย่อมเกิดขึ้นโดยลำดับในขณะเดียว ดังกล่าวมาฉะนี้ แต่เพราะความที่พระพุทธคุณทั้งหลายเป็นอารมณ์ลึกซึ้ง หรือเพราะความที่จิตน้อมไปในการระลึกถึงพระคุณมีประการต่างๆ ฌานนี้จึงเป็นฌานที่ไม่ถึงอัปปนา ถึงเพียงอุปจารเท่านั้น (และ) ฌานนี้ก็ถึงซึ่งความนับ (คือได้ชื่อ) ว่าพุทธานุสสตินั่นเอง เพราะเป็นฌานที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจการระลึกถึงพระพุทธคุณ ฯลฯ