เราจักไม่ยึดมั่นจักษุ และ วิญญาณที่อาศัยจักษุจักไม่มีแก่เรา

 
sms
วันที่  31 ส.ค. 2552
หมายเลข  13430
อ่าน  1,868

เรื่อง ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ทุกขเวทนาหนักก่อนตาย แต่ก็ชวนสุดท้ายเป็นกุศลเพราะท่านเกิดที่สวรรค์ชั้นดุสิต พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 413 ข้อความบางตอนจาก อนาถบิณฑิโกวาทสูตร ความเป็นไปแห่งอาพาธ [๗๒๓] ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ลมเหลือประมาณกระทบขม่อม ของกระผมอยู่ เหมือนบุรุษมีกำลังเอาของแหลมคมทิ่มขม่อมฉะนั้น กระผม จึงทนไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผมหนัก กำเริบ ไม่ทุเลา ปรากฏความกำเริบเป็นที่สุด ไม่ปรากฏความทุเลาเลย. [๗๒๔] ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ลมเหลือประมาณเวียนศีรษะ กระผมอยู่ เหมือนบุรุษมีกำลังขันศีรษะด้วยชะเนาะมั่นฉะนั้น กระผมจึงทน ไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนาของกระผมหนัก กำเริบ ไม่ทุเลา ปรากฏ มีความกำเริบเป็นที่สุด ไม่ปรากฏความทุเลาเลย. [๗๒๕] ข้าแต่พระสารีบุตรผู้เจริญ ลมเหลือประมาณปั่นป่วนท้อง ของกระผมอยู่ เหมือนคนฆ่าโค หรือลูกมือคนฆ่าโคผู้ฉลาดเอามีดแล่โคอัน คมคว้านท้อง ฉะนั้น กระผมจึงทนไม่ไหว เป็นไปไม่ไหว ทุกขเวทนาของ กระผมหนัก กำเริบ ไม่ทุเลา ปรากฏความกำเริบเป็นที่สุด ไม่ปรากฏความ ทุเลาเลย........................ [๗๒๗] สา. ดูก่อนคฤหบดี เพราะฉะนั้นแล ท่านพึงสำเหนียก อย่างนี้ว่า เราจักไม่ยึดมั่นจักษุ และวิญญาณที่อาศัยจักษุจักไม่มีแก่เรา. ครั้นนั้นแล ท่านพระสารีบุตรและท่านพระอานนท์กล่าวสอนอนาถ- บิณฑิกคฤหบดีด้วยโอวาทนี้แล้ว จึงลุกจากอาสนะหลีกไป. [๗๓๘] ต่อนั้น อนาถบิณฑิกคฤหบดีเมื่อท่านพระสารีบุตรและท่าน พระอานนท์หลีกไปแล้วไม่นาน ก็ได้ทำกาลกิริยาเข้าถึงชั้นดุสิตแล -------------------------------------------------------------------------------------- เราจักไม่ยึดมั่นจักษุ และวิญญาณที่อาศัยจักษุจักไม่มีแก่เรา หมายความว่าอย่างไร กรุณาช่วยอธิบายขยายความด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 1 ก.ย. 2552

ควรทราบว่าพระสูตรทั้งหลายท่านแสดงถือเอายอดคือพระอรหันต์ คือแสดงระดับ

สูงสุด ผู้ฟังที่สะสมมาเพื่อบรรลุเป็นพระอรหันต์ ท่านฟังย่อมสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้

แต่ถ้าสะสมมาไม่ถึงก็เป็นพระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบันเท่านั้น ดังนั้น คำ

ที่ว่า ไม่ยึดมั่น เป็นภาวะของพระอรหันต์ เพราะท่านไม่มีความยึดมั่นอะไรๆ เพราะไม่

ยึดมั่น ชาติใหม่ก็ไม่มีขันธ์ใดๆ เกิดอีกเลย คือ ไม่มี รูป เวทนา สัญญา สังขาร

วิญญาณเกิดขึ้นอีก หรือถ้าเป็นขั้นต่ำก็ได้ เช่น ไม่มีวิญญาณ ในอบายภูมิสำหรับพระ-

โสดาบัน พระสกทาคามี เป็นต้น ไม่มีวิญญาณ ในกามภูมิสำหรับพระอนาคามีบุคคล

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
วิริยะ
วันที่ 1 ก.ย. 2552

เรียนความเห็นที่ 1

สองบรรทัดสุดท้ายในความเห็นที่ 1 หมายความว่า พระโสดาบันบุคคล และพระสกทา-คามีบุคคล ไม่ไปสู่อบายภูมิ และพระอนาคามีบุคคล ไม่กลับไปสู่กามภูมิ ใช่หรือไม่

ขอบพระคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
คุณ
วันที่ 1 ก.ย. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
prachern.s
วันที่ 1 ก.ย. 2552
เรียนความเห็นที่ ๒ ถูกต้องครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
วิริยะ
วันที่ 1 ก.ย. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
BudCoP
วันที่ 1 ก.ย. 2552

นโม รตนตฺยมหาสุวิสุทฺธสฺส : ขอน้อมท่านผู้บริสุทธิ์ดุจไตรมณีรัตนะ

(กำลังขอท่านแอดมินิสเตรเตอร์ ให้ลบ ความคิดเห็นที่ ๖ ของผมด้วย ครับ

ปรับ HTML ใหม่แล้ว)

สวัสดีครับ คุณ sms, คุณ ประเชิญ ขอโอกาสเข้าร่วมสนทนาด้วย ครับ.

จากข้อความที่คุณ sms ยกมานั้น เป็นข้อความไม่เต็มตอน จึงทำให้อ่านอรรถกถาเองไม่เข้าใจ ครับ.

ขอให้คุณ sms สรุปข้อความที่ท่านพระสารีบุตรกล่าวทั้งหมดว่า "มีหมวดธรรมะใดบ้าง" เสียก่อน หลังจากนั้น จึงดูคำสรุปพร้อมคำอธิบายซึ่งผมอาศัยอรรถกถา-ฏีกาเรียบเรียงมาอีกครั้ง ครับ, จะเข้าใจไม่ยากนัก.สรุปว่า :

  1. แสดงธรรมะ 43.
    1. ธรรมะในกามภูมิ 39.
      • แจก ธรรมะอย่างละเอียด 34 คือ อายตนะ 12, วิญญาณ 6, ผัสสะ 6, เวทนา 6 (30 นี้นิยมเรียก ธรรมะ 30) , ภูตรูป 4.
      • ย่อ ธรรมะ 30 เหลือ 5 คือ ขันธ์ 5.
    2. ธรรมะในอรูปภูมิ 4.
      • อรูปฌาน 4.
  2. ลงท้ายท่านพระสารีบุตรสรุปอีกครั้งว่า ที่ท่านเองกล่าวว่า "เราจักไม่ยึดมั่นจักษุและวิญญาณที่อาศัยจักษุจักไม่มีแก่เรา" หมายถึง ถ้าไม่มีคาหะ ก็ไม่มีปฏิสนธิวิญญาณในปรโลกนั่นเอง.


คำอธิบาย :

คำว่า "เราจักไม่ยึดมั่นจักษุ"เป็นต้น ในฏีกาหมายถึง เราจักไม่มีมานคาหะด้วยการเจริญอนิจจานุปัสสนา, ไม่มีตัณหาคาหะด้วยการเจริญทุกขานุปัสสนา, ไม่มีทิฏฐิคาหะด้วยการเจริญอนัตตานุปัสสนา.

คำว่า "และวิญญาณที่อาศัยจักษุจักไม่มีแก่เรา" เป็นต้น หมายถึง เมื่อไม่มีคาหะแล้ว, ปฏิสนธิวิญญาณที่เกิดจากการเข้าไปยึดด้วยคาหะทั้ง 3 ก็จะไม่มีต่อไปในอนาคตอีก ในตอนท้ายท่านพระสารีบุตรจึงกล่าวถึงปรโลกไว้ด้วย.

สรุปความว่า "ถ้าไม่ยึดมั่นอะไร สิ่งนั้นก็จะไม่ปรากฎขึ้นมาอีก", และ "ถ้าไม่ยึดมั่นภพใดได้ ก็ไม่เกิดในภพนั้นอีก".

วิธีอ่านสูตรนี้ ต้องสังเกตสิ่งต่อไปนี้ :

การแสดงธรรมะเพื่อบรรลุ ท่านจะกำหนดธรรมะทุกอย่างในทุกภพภูมิที่ยังยึดถือได้อยู่ เรียกว่า "เตภูมิกธรรม : ธรรมะที่เป็นไปใน 3 ภูมิ คือ กามาวจร รูปาวจรอรูปาวจร" ฉะนั้น อรรถกถาจึงเอาธรรมะที่ท่านพระสารีบุตรแสดง มาอธิบายเชื่อมกับภพภูมิ.

ธรรมะที่ท่านพระสารีบุตรแสดงมีทั้งสิ้นมี 43 อย่าง คือ ธรรมะ 30, ภูตรูป 4,ขันธ์ 5, และ อรูปฌาน 4.


ธรรมะ 43
อย่างนั้น อรรถกถาท่านแบ่งตามภูมิ ออกเป็น 2 คือ กามภูมิ 39 กับอรูปภูมิ 4, จากนั้น จึงแบ่งกามภูมิออกเป็น 2 คือ แสดงโดยละเอียดด้วยธรรมะ 30 และภูตรูป 4, แสดงโดยย่อด้วย ขันธ์ 5.

ดังนั้น ในอรรถกถาจึงอธิบายว่า ที่ท่านพระสารีบุตรแสดงรูปขันธ์ หมายถึงรูปขันธ์ในกามภูมิทั้งหมด หมายความว่า ไม่ว่าจะรูปายตนะ สัททายตนะ เป็นต้นรูปทั้งหมดที่แสดงไปแล้วในธรรมะ 34 ก็เป็นรูปขันธ์ในกามภูมิ (ในฏีกาท่านอนุญาตให้รวมรูปภูมิด้วยเพื่อให้ครบเตภูมิกธรรม) เท่านั้นเอง.

ถ้าพยายามอ่านจับใจความอย่างที่แสดงมานี้ ก็จะอ่านพระไตรปิฎกไม่ติดขัด ครับ.

อ้างอิง :

- พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ บรรทัดที่ ๙๓๑๑ - ๙๕๒๔.หน้าที่ ๓๙๔ - ๔๐๒.

- ศึกษาอรรถกถาอนาถปิณฑิโกวาทสูตร.- สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔.

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
ประสาน
วันที่ 2 ก.ย. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ไตรสรณคมน์
วันที่ 2 ก.ย. 2552

อืม....เข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏกับตนจะดีกว่ามั้ยคะ ?_?

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 2 ก.ย. 2552

เรียน คุณ BudCoP ความคิดเห็นที่ 6ธรรมะเป็นของละเอียด ต้องเกิดศรัทธาและวิริยะจริงๆ จึงจะค่อยๆ ทำความเข้าใจ

และต้องเกิดศรัทธาและวิริยะจริงๆ ครับที่จะค่อยๆ อธิบาย

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
BudCoP
วันที่ 2 ก.ย. 2552

นโม ชีวิตปริยนฺตสีลสฺส : ขอนอบน้อมผู้มีศีลตลอดชีพ

ขอบคุณ คุณ ไตรสรณคมน์, จักรกฤษณ์ ครับ, สำหรับคำแนะนำ จะพยายามปรับปรุง ครับ.

ความจริง คราวแรก ผมได้พิมพ์ตัดบรรทัด, ทำตัวสี, และจัดย่อหน้าทั้งหมดไว้ ไม่ได้เป็นอย่างที่ท่านเห็นนั่นเลย ครับ.

แต่เนื่องจากระบบบนเว็บ กับ บนเครื่องผม ไม่ซับพอร์ตกัน ทำให้โดนลบสี และ ย่อหน้าออกหมด เหลือแต่ข้อความเปล่าๆ ดังที่เห็นในตอนแรก (ซึ่งเดิมที จะคล้ายกับที่เห็นอยู่ตอนนี้) ครับ.

ภายหลัง เมื่อผมได้เข้ามาเห็น จึงได้ทำใหม่ทั้งหมด และขอให้แอดมินช่วยแขวนแทนที่ให้แล้ว ครับ.

ต้องขออภัย ที่ทำให้ไม่สบายตา ไว้ณ. ที่นี้ด้วย ครับ.

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ