สอบถามเรื่องผลของการอาบัติ

 
rukawa119
วันที่  2 ก.ย. 2552
หมายเลข  13440
อ่าน  13,623

ขอสอบถามท่านอาจารย์ประจำมูลนิธิฯ เกี่ยวกับการอาบัติ เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจกันมากยิ่งขึ้นครับ

1. หากภิกษุอาบัติใดๆ ก็ตามแล้วลาสิกขาออกมาเป็นฆราวาส แม้จะได้ปลงอาบัติบางอย่างหรือไม่ได้ปลงอาบัติบางอย่างก็ตาม สิ่งที่เคยทำอาบัติไว้ก็เป็นอันตกไปใช่มั้ยครับ ไม่ส่งผลให้ไปรับวิบากในภายหน้า เนื่องจากเพศไม่ใช่บรรพชิตแล้ว แสดงว่าคนที่บวชมานานแล้วแค่ไหน ทำอาบัติมามากเท่าไหร่ หลังจากลาบวชออกมาเป็นฆราวาสแล้วสิ่งที่เคยทำอาบัติมาก็เป็นอันตกไป ซึ่งหากภายหลังมีศรัทธาประสาทะเมื่อไหร่ก็เข้าไปบวชใหม่ หากอาบัติมากๆ ก็ลาบวช ทำเช่นนี้ ก็ไม่มีผลอันใดต่อเขาเลยหรือไม่ครับ อยากทราบจริงๆ

2. หากขณะที่เป็นภิกษุแล้วรับเงินมาเข้าบัญชีตนเองไว้ แล้วลาบวชออกมาแม้จะปลงอาบัติแล้วก็ตามแต่ยังไม่ได้สละทรัพย์ให้สงฆ์ นำเงินที่ได้รับมาขณะบวชมาใช้ในเพศฆราวาส จะมีผลอย่างไร หรือไม่ เพราะเท่าที่ศึกษาดูจะเป็นผลก็ต่อเมื่อเป็นภิกษุอยู่เท่านั้น หากสึกมาแล้วก็ไม่ส่งผล

ขอกราบอนุโมทนาล่วงหน้าครับ

หวังว่าคำถามนี้จะเป็นประโยชน์และความสว่างกระจ่างแห่งปัญญาว่า การบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนาไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายที่จะทำเลยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 3 ก.ย. 2552

ควรทราบว่าคำว่า อาบัติ ใช้เฉพาะเพศบรรพชิตเท่านั้นเมื่อภิกษุลาสิขาเป็นฆราวาสแล้วคำว่าอาบัติหรือกิจที่ต้องปลงอาบัติย่อมไม่มี แต่อกุศลจิต หรืออกุศลกรรมมีอยู่ คือการก้าวล่วงสิกขาบทที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ ด้วยอกุศลเจตนา เป็นการกระทำที่มีโทษ บางครั้งเป็นถึงอกุศลกรรมบถก็มี เช่น การฆ่าสัตว์เป็นต้น เมื่อลาสิกขาแล้วไม่มีอาบัติก็จริง แต่กรรมที่กระทำไว้ไม่หายไปไหนคือย่อมมีผล

อนึ่ง การก้าวล่วงสิกขาบทด้วยเจตนาทั้งรู้ว่าเป็นอาบัติเป็นอกุศลจิตที่มีกำลัง ขาดความเคารพในพระพุทธเจ้า ผู้บัญญัติสิกขาบท ขาดความเคารพในพระธรรมวินัย ขาดความเคารพในพระสงฆ์ ขณะนั้นชื่อว่าเป็นผู้ไม่มีความละอาย เป็นอลัชชี เป็นผู้ขาดหิริโอตตัปปะ เป็นผู้คตไม่ตรง เป็นผู้ไม่มีสัจจะ

ลองคิดดูครับว่าถ้าสะสมอกุศลธรรมอย่างนี้ไปเรี่อยๆ จะเป็นผู้เจริญได้ไหม คติข้างหน้าจะเป็นอย่างไร วัฏฏะจะยาวไหม เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีของพระรุ่นหลังๆ เท่ากับเป็นผู้ทำลายพระศาสนาให้เสื่อมเร็วขึ้น ถ้ารู้อย่างนี้แล้วควรกระทำอย่างไร และที่แน่ๆ คือ ถ้ามรณะในระหว่างมีอาบัติติดตัว ต้องเกิดในอบายแน่นอนครับ

อนึ่ง ถ้ามีความว่าจะอาศัยผ้าเหลืองเพื่อหาเงิน ความคิดนั้นก็ผิดตั้งแรกคิดแล้ว แม้จุดประสงค์ในการบวช การดำรงอยู่ การยินดีในเงินและทอง ก็ผิดโดยตลอด การนำเงินที่เกิดขึ้นโดยไม่ชอบธรรมมาใช้ก็ไม่สมควรเช่นกันครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
BudCoP
วันที่ 3 ก.ย. 2552

นโม ปญฺจอสีติสตนวสหสฺสโกฏีนญฺจ ฉตึสสหสฺสานญฺจ

ขอน้อบน้อมแด่ปาติโมกขสังวรศีล 91,805,036,000 ข้อ

สวัสดีครับ คุณ rukawa119, คุณ ประเชิญ, ขอโอกาสสนทนาด้วยนะ ครับ.

1. เท่าที่ทราบ อาบัติที่เคยทำไว้ พอสึกไปแล้ว พอบวชใหม่บางอย่างก็ต้องมาทำคืนต่อ เช่น เคยค้าง ปริวาสไว้ ถ้าบวชใหม่ ก็ต้องมาอยู่ปริวาสต่อ เป็นต้น, ข้อนี้มีมาในพระวินัย มหาวิภังค์ โดยตรง ครับ.

2. เงินที่รับมา ไม่ว่าจะรู้ หรือไม่รู้ หรือแม้แต่ยินดีเงินที่เขารับให้ ถึงไม่ได้แตะเงินเลยเงินนั้นก็กลายเป็นนิสสัคคิยวัตถุ ต้องสละก่อนปลงอาบัติ เพราะอาบัติข้อนี้ เป็นติกปาจิตตีย์ อจิตตกะ ปัณณัตติวัชชะ จิต 3 เวทนา 3

ฉะนั้นจะรู้หรือไม่รู้ แต่ทำกิริยารับเช่น รับบาตรที่ใส่เงิน (สิยา กิริยา) หรือ ไม่ปฏิเสธที่จะรับ เช่น โยมถวายท่านนะเจ้าค่ะ แล้วพระไม่ปฏิเสธ (สิยา อกิริยา) ก็เป็นอาบัติทั้งนั้น ครับ.

ถ้าไม่สละนิสสัคคิยวัตถุก่อน ยังมีเงินอยู่ หรือของที่ซื้อมาด้วยเงินนั้นยังอยู่กับตน ถือว่าเป็นของตนอยู่ การทำคืนโทษ ไม่เป็นอันทำคืน ปลงอาบัติเท่าไหร่ก็ไม่ตก ครับ.

ส่วนถ้าสึกออกมาแล้ว นำเงินนั่นมาใช้ จะมีโทษก็ต่อเมื่อของนั้นเขาถวายให้สงฆ์ เช่น สังฆทาน เป็นต้น แล้วสงฆ์ยังไม่ได้แจกกันก่อน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งครุภัณฑ์ เช่น ขาบาตร เป็นต้น อันนี้แจกไม่ได้เลย ของสงฆ์ เอามาใช้เองทั้งที่รู้มีโทษแน่นอน.

แต่ถ้าเขาถวายไว้เป็นของส่วนตัว นำมาใช้เอง ไม่มีระบุไว้ว่ามีโทษโดยตรงครับ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรลืมว่า เงินนั่นจะผูกคอตัวเองทุกครั้งที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวว่า "ฉันเป็นมหาโจรเที่ยวปล้นชาวบ้านเขามากิน" เพราะท่านว่าพวกทุศีลแล้วเที่ยวบิณฑ-บาตรไปนี้ เป็นมหาโจรยิ่งกว่ามหาโจรใดๆ ฉะนั้น มีสิทธิ์ที่จะตกอบายมาก ถ้ายังใช้เงินนั่นอยู่ ครับ. ทางที่ดีผมว่า ทำบุญสร้างพระเจดีย์ไปให้หมด จะควรกว่า ครับ.

ข้อมูลในเรื่องรับเงินนี้ พึงศึกษา สิกขาบทภาชนีย์ และ ตอนท้ายของ สมันตปาสาทิกา อรรถกถาของข้อนี้ ครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 3 ก.ย. 2552

1. ถ้าอาบัติแล้วไม่ได้ปลงอาบัติ เช่น บริโภคอาหารในยามวิกาล สึกมาเป็นฆราวาสอาบัตินั้นก็เป็นอันตกไป ไม่มีโทษ แต่ถ้ากลับไปบวชใหม่ อาบัตินั้นก็ยังอยู่ ถ้าไม่ปลงอาบัติก็เป็นเครื่องกั้นมรรค ผล นิพพาน

2. ถึงจะสึกมาเป็นฆราวาส แต่เงินที่ได้มาไม่สุจริต ไม่เหมาะสม ผิดพระวินัย ไม่สมควร ถ้าสะสมเป็นอกุศลไว้มากๆ ก็เป็นเหตุให้ไปอบายภูมิ ไม่คุ้มกับประโยชน์ชาติเดียวค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
BudCoP
วันที่ 4 ก.ย. 2552

นโม สีลสังวรสฺส : ขอน้อม แด่ศีลสังวร

สวัสดีครับ คุณ wannee.s, ผมมีข้อสงสัยจะขอเรียนถามสักเล็กน้อย รบกวนด้วยนะครับ.

แต่เดิม ผมเข้าใจว่า อาบัติประเภทวุฏฐานคามินีนั้น การชำระโทษต้องสำเร็จโดยสงฆ์ ดังนั้น เมื่อสึกไปในขณะที่ยังทำคืนไม่เรียบร้อย แล้วบวชใหม่ คนผู้ยังทำอาบัติประเภทวุฏฐานคามินี จึงต้องมาชำระโทษต่อ เพราะว่ายังไม่ได้ทำวุฏฐานะให้เรียบร้อย.

ส่วนอาบัติประเภทเทสนาคามินีทั้ง 6 ไม่ต้องชำระกับสงฆ์ เพราะสามารถจะแสดงคืนกับพระรูปใดก็ได้ ที่ไม่มีสภาคาบัติกันอยู่ โดยที่สุดแม้จะเทสนาด้วยการบอกลาสิกขา กับมนุษย์ที่รู้ความกัน ก็สามารถชำระเทสนาบัติได้.

นี้เป็นความเข้าใจจากที่สังเกตมาจาก อรรถกถาปาราชิกสิกขาบทที่ 1 ซึ่งแสดงเรื่องของการลาสิกขา และ สมุจจยขันธกะ ซึ่งมีส่วนที่แสดงเรื่องของพระที่ต้องวุฏฐานคามินีอาบัติแล้วสึกไปมาบวชใหม่ไว้ ตั้งแต่นิทานของขันธกะ เป็นต้นมา.

สรุปคำถาม คือ อยากทราบว่า ที่คุณ wannee.s ได้ยกมานี้ จะสามารถค้นคว้าได้จากที่ใดบ้าง ผมเพิ่งทราบ เพื่อจะได้เป็นความรู้ใหม่ ครับ.

ขอบคุณ ครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
michii
วันที่ 17 ก.ย. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
a_rod
วันที่ 17 ก.ย. 2552

พอดีผมอ่านเรื่องพระวินัย แล้วมีคำถามสงสัยอย่างจึงอยากจะเรียนถาม ถ้าภิกษุไม่รู้ว่าตัวเองต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ภายในระยะเวลาที่ไม่รู้ว่าต้องอาบัติปาราชิกนั้น เขาได้ต้องอาบัติอื่นๆ เช่น สังฆาทิเสส ปาจิตตีย์ เป็นต้น (เพราะคิดว่าตนยังเป็นภิกษุอยู่) อาบัตินั้นจะมีผลต่อความเป็นภิกษุ หรือไม่ครับ หรือว่าสึกไปเลยโดยไม่ต้องปลงอาบัติที่เกิดขึ้นภายหลัง (จากที่ปาราชิก) เพราะถือว่าสิ้นจากความเป็นภิกษุแล้ว

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
prachern.s
วันที่ 17 ก.ย. 2552

เข้าใจว่าถ้าต้องอาบัติปาราชิกแล้ว การกระทำของผู้ที่ไม่พระภิกษุ อาบัติสิงฆาทิเสส เป็นต้น ก็ไม่มี เพราะไม่ใช่พระภิกษุแล้วครับ กิจในการปลงอาบัติจึงไม่มี


 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
BudCoP
วันที่ 17 ก.ย. 2552

นโม อริยานนํ : ขอนอบน้อมพระอริยะ

สวัสดีครับ คุณ a_rod, คุณ prachern.s ขอโอกาสสนทนาด้วย ครับ.

ตามหลักการแล้ว พระที่ต้องอาบัติปาราชิกแล้ว ไปต้องสังฆาทิเสสอีก ในภายหลัง ยังเป็นอันต้องอาบัติสังฆาทิเสสอยู่ เพราะยังไม่ได้สึก คงเป็นพระภิกษุอยู่ ครับ.

แต่ถึงไม่ได้ทำคืนสังฆาทิเสส จะสึกออกไปเลยก็ได้ ไม่มีโทษโดยตรงเมื่อสึกไป เพราะเป็นโยมไปแล้วไม่ใช่พระ ครับ.

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
a_rod
วันที่ 23 ก.ย. 2552
กรณีพระต้องอาบัติแล้วไม่ได้ปลง ถ้ามรณะในระหว่างมีอาบัติติดตัว ต้องเกิดในอบายใช่ไหมครับ แต่ถ้าสึกไปแล้วแต่ตอนที่เป็นพระนั้นไม่ได้ปลงอาบัติที่มีให้ครบแล้ว ห้ามสวรรค์หรือเปล่าครับ ผมเคยอ่านในกระทู้ของเว็บนึง (จำไม่ได้ว่าเว็บไหน) เขาบอกว่า ถ้าพระที่ต้องอาบัติอย่างปาราชิก ถ้ารู้ตัวก็รีบสึก แล้วตอนหลังกลับใจได้หมั่นปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบก็สามารถไปสวรรค์ได้ แต่ห้ามนิพพาน อันนี้ไม่รู้จริงเท็จแค่ไหน ช่วยอธิบายหน่อยนะครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
wannee.s
วันที่ 23 ก.ย. 2552

ถ้าอาบัติปาราชิก สึกมาเป็นฆราวาสที่ดี รักษาศีล ฟังธรรม ไม่ห้ามสวรรค์ ไม่ห้ามนิพพาน ในพระไตรปิฏกก็มีแสดงไว้ เช่น ภิกษุที่อาบัติปาราชิก สึกไปเป็นฆราวาส รักษาศีล เป็นผู้ไม่ประมาท อบรมเจริญปัญญา บางพวกได้เป็นพระโสดาบัน ฯลฯ ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
prachern.s
วันที่ 23 ก.ย. 2552

เรียน ความเห็นที่ 9

ขอเชิญคลิกอ่านหลักฐานตามที่ความเห็นที่ ๑๐ อธิบายไว้

ที่กระทู้....

พระต้องอาบัติปาราชิก

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
a_rod
วันที่ 24 ก.ย. 2552
ขอบคุณมากครับคุณ prachern.s ได้ความรู้กระจ่างครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 26 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ