ความสงบของจิต
ขอเรียนถามค่ะ
ขณะที่ฟังธรรม มีการบรรยายถึงพระพุทธองค์ หรือ พระสาวก และการอ่านหนังสือธรรมเมื่อกล่าวถึงพระพุทธองค์ หรือ พระสาวก แล้วเกิดความรู้สึกซาบซึ้ง ปิติ เช่นนั้น เรียกว่าเป็นความสงบของจิตหรือไม่
ขอบพระคุณค่ะ
กล่าวโดยรวมก็คือ ขณะใดที่จิตเป็นกุศล เป็นไปในทาน ศีล ภาวนา ขณะนั้นจิตสงบ
จากอกุศล แต่กุศลขั้นภาวนาะดับอุปจาระหรืออัปปนาสมาธิจะสงบแนบแน่นมากว่า
จิตขณะขณิกสมาธิ ขณะที่จิตเป็นอกุศลขณะนั้นจิตไม่สงบครับ
กุศลชื่อว่าไม่มีโทษ ไม่มีโรค เบาสบาย สงบจากอกุศลชั่วขณะที่กุศลจิตเกิด
ในครั้งพุทธกาล ท่านพระมหากัปปินะ และท่านอนาถบิณฑกเศรษฐี ได้ยิน
คำว่าพระพุทธเจ้า ก็เกิดปิติด้วยกุศลจิต เพราะท่านได้อบรมปัญญามาในอดีตค่ะ
อุทธัจจเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่ไม่สงบในอารมณ์ เกิดร่วมกับอกุศลจิตทุกดวง
ดังนั้น ขณะใดที่จิตเป็นกุศลอันเป็นไปในทาน ศีล และภาวนา (สมถะและวิปัสสนา)
ขณะนั้นไม่มีอุทธัจจเจตสิกเกิดร่วมด้วย กุศลจิตจึงเป็นสภาพธรรมที่สงบครับ
มีข้อสังเกตุนิดหนึ่งครับว่า โลภมูลจิต และกุศลจิตเกิดร่วมกับโสมนัสเวทนา (ความ
รู้สึกเป็นสุข) ก็ได้ เกิดร่วมกับอุเบกขาเวนา (ความรู้สึกเฉยๆ ) ก็ได้ ผู้ที่จะสามารถรู้
ความแตกต่างระหว่างโลภมูลจิตที่ไม่สงบ กับกุศลจิตที่สงบได้จริงๆ ต้องเป็นผู้ศึกษา
มาก เข้าใจมาก พิจารณามาก และมีการสนทนาสอบถามกัลยาณมิตรอยู่เสมอครับ
เรียนความเห็นที่ 5
ที่ท่านกล่าวมานั้น หมายความว่า โลภมูลจิต กับ กุศลจิตที่สงบ นั้นมีความคล้ายคลึงกัน ถ้ายังไม่มีปัญญา อาจจะยังแยกไม่ออก หรือเข้าใจผิดว่า อกุศลเป็นกุศล แต่ความซาบซึ้ง เมื่อได้ฟังการบรรยายถึงพระพุทธองค์ น่าจะเป็นความรู้สึกที่ชัดเจนนะคะ คิดเช่นนั้นหรือไม่ หรือ เป็นไปได้ไหมที่ไม่มีใครรู้ นอกจากตัวเราเอง
ขอบพระคุณค่ะ
การรู้ว่าจิตสงบหรือไม่ ไม่ใช่รู้ได้เพียงเพราะเป็นโสมนัสเวทนาครับ แต่รู้ได้ด้วย
ปัญญาและเป็นความรู้เฉพาะตน ดังนั้น ผู้ที่จะรู้ได้จะต้องอบรมกุศลจิตที่ประกอบ
ด้วยปัญญา เช่นการศึกษาพระธรรม และพิจารณาสภาพธรรมตามความเป็นจริงครับ
อิทมฺปิ พุทฺเธ รตนํ ปณีตํ เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ
แม้นี้ก็เป็นรัตนะอันประณีตคือพระพุทธเจ้า ด้วยคำสัตย์นี้
ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์ทั้งหลาย
กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล ปิติเจตสิกเกิดกับจิตที่เป็นกุศลก็ได้ เกิดกับจิตที่
เป็นอกุศลคือโลภะก็ได้ ถามว่าใครรู้..ตัวเองรู้ รู้ด้วยอะไร ด้วยปัญญา..ปัญญาขั้นไหน
ไม่ใช่ขั้นคิดนึก ไม่ใช่ขั้นพิจารณาเพราะขณะที่คิดนึก พิจารณาในความรู้สึกนั้นที่
ซาบซึ้ง เป็นต้น สภาพธรรมนั้นดับไปนานแล้ว ไม่มีลักษณะให้รู้ในสภาพที่เป็นกุศล
หรืออกุศล จึงต้องเป็นปัญญาที่รู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดขึ้น จึงจะรู้ว่า
ขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล ธรรมจึงไม่ใช่เรื่องประมาณ แต่เป็นเรื่องของปัญญาที่รู้ตรง
ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นปัญญาของตนเอง เมื่อใดที่เป็นกุศลสงบ เมื่อใดที่เป็น
อกุศลไม่สงบ สาธุ