มลสูตร
Oo๐ ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ๐oO
... สนทนาธรรมที่ ...
<> มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา <>
พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ
วันเสาร์ ๑๒ ก.ย. ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ
มลสูตร
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 393
... นำสนทนาโดย ...
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 393
๕. มลสูตร
[๑๐๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มลทิน ๘ ประการนี้ ๘ ประการเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มนต์มีการไม่ท่องบ่นเป็นมลทิน ๑เรือนมีความไม่หมั่นเป็นมลทิน ๑ ความเกียจคร้านเป็นมลทินของผิวพรรณ ๑ ความประมาทเป็นมลทินของผู้รักษา ๑ ความประพฤติชั่วเป็นมลทินของหญิง ๑ ความตระหนี่เป็นมลทินของผู้ให้ ๑ อกุศลธรรมที่ลามกเป็นมลทินที่ทั้งโลกนี้และโลกหน้า ๑ เราจะบอกมลทินที่ยิ่งกว่ามลทินนั้น คือ อวิชชาเป็นมลทินอย่างยิ่ง ดูก่อนภิกษุทั้งหลายมลทิน ๘ ประการนี้แล.
มนต์มีการไม่ท่องบ่นเป็นมลทิน เรือนมี ความไม่หมั่นเป็นมลทิน ความเกียจคร้านเป็น เป็นมลทินของผิวพรรณ ความประมาทเป็น มลทินของผู้รักษา ความประพฤติชั่วเป็นมลทิน ของหญิง ความตระหนี่เป็นมลทินของผู้ให้ ธรรม อันลามกเป็นมลทินแท้ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เราจะบอกมลทินที่ยิ่งกว่างนั้น คือ อวิชชา เป็น มลทินอย่างยิ่ง.
จบ มลสูตรที่ ๕
อรรถกถามลสูตรที่ ๕
มลสูตรที่ ๕ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า อสชฺฌายมลา ความว่า การไม่ทำการสาธยายมนต์ที่ตนเรียนแล้ว ชื่อว่า เป็นมลทิน. บทว่า อนุฏานมลา ฆรา ความว่าความไม่ขยันหมั่นเพียรชื่อว่า เป็นมลทินแห่งเรือน. บทว่า วณฺณสฺสได้แก่ ผิวพรรณของกาย. บทว่า รกฺขโต ความว่า. รักษาสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันเป็นสมบัติของตน. บทว่า อวิชฺชา ปรมํ มลํ ความว่าอวิชชาคือความมืดบอดหนาแน่น กล่าวคือ มูลแห่งวัฏฏะอันเป็นความไม่รู้ในฐานะ เป็นมลทินอย่างยิ่งกว่ามลทินคืออกุศลธรรมที่เหลือนั้นมลทินอื่นที่ชื่อว่ายิ่งกว่าอวิชชานั้นไม่มี. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเฉพาะวัฏฏะอย่างเดียวในพระสูตรแม้นี้.
จบ อรรถกถามลสูตรที่ ๕
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ ๑๘
๑๐. มลสูตร
ว่าด้วยมลทิน ๓ ประการ
[๔๔๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓ ไม่ละมลทิน ๓ ย่อมเป็นผู้อุบัติในนรก เหมือนถูกนำตัวไปเก็บไว้ฉะนั้นธรรม ๓ ประการคืออะไรบ้าง คือ เป็นผู้ทุศีลและไม่ละมลทินคือความทุศีลด้วย เป็นผู้ริษยาและไม่ละมลทินคือความริษยาด้วย เป็นผู้ตระหนี่และไม่ละมลทินคือความตระหนี่ด้วย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓ นี้ไม่ละมลทิน ๓ นี้แล ย่อมอุบัติในนรก เหมือนถูกนำตัวไปเก็บไว้ ฉะนั้น
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓ ละมลทิน ๓ย่อมอุบัติในสวรรค์ เหมือนเขาเชิญตัวไปประดิษฐานไว้ฉะนั้น ธรรม๓ ประการ คืออะไรบ้าง คือ เป็นผู้มีศีลและมลทินคือความทุศีลก็ละได้แล้วด้วย เป็นผู้ไม่ริษยาและมลทินคือความริษยาก็ละได้แล้วด้วยเป็นผู้ไม่ตระหนี่และมลทินคือความตระหนี่ก็ละได้แล้วด้วย บุคคลประกอบด้วยธรรม ๓ นี้ ละมลทิน ๓ นี้แล ย่อมอุบัติในสวรรค์ เหมือนเขาเชิญตัวไปประดิษฐานไว้ฉะนั้น.
จบมลสูตรที่ ๑๐
อรรถกถามลสูตร
พึงทราบวินิจฉัย ในมลสูตรที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้:-
ภาวะของบุคคลทุศีล ชื่อว่า ทุสสียะ. ทุสสีลยะนั้นแหละเป็นมลทิน จึงชื่อว่า ทุสสีลยมละ.
ความหมายของมลทิน
ถามว่า ที่ชื่อว่ามลทิน เพราะหมายความว่าอย่างไร. ตอบว่า เพราะหมายความว่าตามเผาไหม้ ๑ เพราะหมายความว่า มีกลิ่นเหม็น ๑ เพราะหมายความว่า ทำให้เศร้าหมอง ๑. อธิบายว่า มลทินนั้น ย่อมตามเผาไหม้สัตว์ ในอบายทั้งหลายมีนรกเป็นต้น เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าเป็นมลทิน เพราะหมายความว่าตามเผาไหม้บ้าง. บุคคลเกลือกกลั้วด้วยมลทินนั้น เป็นที่น่ารังเกียจ ทั้งในสำนักมารดาบิดา ทั้งภายในภิกษุสงฆ์ ทั้งในโพธิสถาน และเจดียสถาน และกลิ่นอันเกิดจากความไม่ดีของเขา ย่อมฟุ้งไปในทุกทิศว่า ผู้นั้นทำบาปกรรมเห็นปานนี้ เหตุนั้น จึงชื่อว่าเป็นมลทิน เพราะหมายความว่า มีกลิ่นเหม็นบ้าง. บุคคลผู้เกลือกกลั้วด้วยมลทินนั้น ย่อมได้รับความเดือดร้อนในที่ที่ไปถึง และกายกรรมเป็นต้นของเขาก็ไม่สะอาด ไม่ผ่องใสเพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่าเป็นมลทิน เพราะหมายความว่า ทำให้เศร้าหมองบ้าง. อีกอย่างหนึ่ง มลทินนั้น ย่อมทำเทวสมบัติ มนุษยสมบัติและนิพพานสมบัติให้เหี่ยวแห้งไป เพราะเหตุนั้น พึงทราบว่าเป็นมลทิน เพราะหมายความว่า ทำให้เหี่ยวแห้งบ้าง.
แม้ในมลทินคือริษยา และมลทินคือความตระหนี่ ก็มีนัย อย่างนี้เหมือนกัน.
จบอรรถกถามลสูตรที่ ๑๐
ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ค่ะ
เพราะอะไรความเกียจคร้านถึงเป็นมลทินของผิวพรรณ
และเพราะอะไรประพฤติชั่วถึงมีแต่หญิง
เรื่องนี้ท่านแสดงตั้งแต่พื้นๆ ถ้าคนเกียจคร้านไม่ทำความสะอาดร่างกายตัวก็เหม็นสกปรก ความประพฤติชั่วเป็นมลทินกับทุกคน แต่ท่านกล่าวถึงโดยทั่วไปถ้าผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว ต่อมามีชู้ ชาวบ้านเขารับไม่ได้โดยเฉพาะตั้งทองขึ้นมาก็ยิ่งแย่ การประพฤติชั่วลักษณะนี้เป็นมลทินของหญิงครับ
ขอบพระคุณค่ะ
ตอนแรกนกก็เข้าใจอย่างนั้น แต่คิดว่ามันน่าจะมีอะไรซับซ้อนกว่านี้
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ข้อความโดยสรุป มลสูตร (ว่าด้วยมลทิน ๘ ประการ) จาก ... พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดง มลทิน ๘ ประการ แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้ คือ ๑. มนต์ มีการไม่ท่องบ่น (สาธยาย) เป็นมลทิน (ปริยัติหรือศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ได้ศึกษาแล้ว เมื่อไม่ทบทวน ไม่ประกอบเนืองๆ ย่อมเสื่อมสูญ หรือ ไม่ปรากฏติดต่อกัน) ๒. เรือน มีความไม่หมั่น เป็นมลทิน (บุคคลผู้อยู่ครองเรือน เมื่อไม่ทำกิจมีการซ่อมแซมเรือนที่ชำรุด เป็นต้น เรือน ย่อมพินาศ) ๓. ความเกียจคร้าน เป็นมลทินของผิวพรรณ (คฤหัสถ์หรือบรรพชิต ผู้เกียจคร้านในการชำระสรีระร่างกาย และบริขาร ย่อมเป็นผู้มีผิวพรรณมัวหมอง) ๔. ความประมาท เป็นมลทิน ของผู้รักษา (เมื่อบุคคลผู้รักษาสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง หลับหรือเล่นเพลินด้วยอำนาจแห่งความประมาท ย่อมเป็นเหตุนำมาซึ่งความพินาศได้ เป็นต้น) ๕. ความประพฤติชั่ว เป็นมลทินของหญิง (กล่าวถึงหญิงที่ประพฤตินอกใจ เป็นต้น) ๖. ความตระหนี่ เป็นมลทินของผู้ให้ (ผู้มีความตระหนี่ ย่อมไม่สามารถจะให้ได้ แต่เพราะกำจัดความตระหนี่แล้ว จึงให้ได้) ๗. อกุศลธรรมที่ลามก เป็นมลทินทั้งในโลกนี้และโลกหน้า (อกุศลธรรม เป็นสภาพ-ธรรมที่ยังสัตว์ให้พินาศ) ๘. อวิชชา เป็นมลทิน อย่างยิ่ง (เป็นมูลแห่งวัฏฏะ) .
ข้อความโดยสรุป มลสูตร (ว่าด้วยมลทิน ๓ ประการ) จาก ... พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงว่า บุคคลผู้มีมลทิน ๓ ประการ คือ ความเป็นผู้ทุศีล ความริษยา และ ความตระหนี่ ไม่ละมลทินเหล่านี้ เมื่อละจากโลกนี้ไป ย่อมจะไปเกิดในนรก ส่วนบุคคลผู้ไม่มีมลทิน กล่าวคือ เป็นคนมีศีล ไม่ริษยา และไม่ตระหนี่ เมื่อละจากโลกนี้ไป ย่อมไปเกิดในสวรรค์. ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ค่ะ
เพราะอะไรความเกียจคร้านถึงเป็นมลทินของผิวพรรณ
และเพราะอะไรประพฤติชั่วถึงมีแต่หญิง
สภาพธรรมที่แท้จริงไม่มีตัวตนสัตว์บุคคล...แล้วจะมีชายหญิงได้อย่างไรชายหญิงเป็นแค่ บัญญัติ...และทุกคนล้วนเคยเกิดเป็นชายและหญิงในพระไตรปิฏกก็มีกล่าวถึงความไม่ดีของผู้ชายเหมือนกัน..คะ
ในพระไตรปิฏกมีการกล่าวถึงมนทินภายใน..ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ
มนทินของผิวพรรณเป็นมนทินภายนอกแต่เกิดจากมนทินภายในคือความเกียจคร้าน