การอุทิศส่วนบุญ
สงสัยเรื่องการอุทิศส่วนบุญที่ถูกต้องควรทำอย่างไร ขอบพระคุณค่ะ
เมื่อมีการทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่งก็กล่าวอุทิศส่วนบุญว่า
ข้าพเจ้าขออุทิศส่วนกุศลที่ได้บำเพ็ญแล้วในวันนี้ แก่มารดาบิดา ทั้งอดีต และผู้มีพระคุณ ทั้งอดีตอนันตชาติ แก่ญาติและมิตรสหายผู้ล่วงลับไปแล้ว ตลอดจนเทพ และอมนุษย์ทั้งหลาย ขอจงมีจิตโสมนัสยินดี อนุโมทนาในส่วนกุศลนี้ โดยทั่วกันเทอญ
เรียนความเห็นที่ 1
อมนุษย์ หมายถึงอะไรบ้าง และผู้ที่ทนทุกข์ทรมานอยู่ในนรกอเวจี จะสามารถอนุโมทนาบุญได้หรือไม่
ขอบพระคุณค่ะ
เคยอ่านพบว่า การอุทิศส่วนบุญนั้น มีแบบเจาะจง และไม่เจาะจง ถ้าเป็นการเจาะจงคือ การระบุชื่อผู้ที่จะอุทิศให้ แต่ถ้าไม่เจาะจงก็คือ อุทิศแบบรวมๆ เช่น ให้บิดา มารดา และญาติทั้งหลายเป็นต้น บางคนบอกว่า การอุทิศส่วนบุญ ถ้าไม่เจาะจง ผู้รับจะไม่ได้ เช่น พวกเปรต ส่วนดิฉันคิดว่า การอุทิศส่วนบุญนั้น อยู่ที่ว่า ผู้รับจะอนุโมทนากับเราหรือไม่ ถ้าเขาไม่อนุโมทนา ถึงแม้เราเจาะจงชื่อเขา ก็คงไม่ได้ ดิฉันเข้าใจถูกหรือไม่ กรุณาช่วยอธิบายเพิ่มเติมด้วยค่ะ
กราบขอบพระคุณค่ะ
เรียนความเห็นที่ ๒
คำว่า อมนุษย์ หมายถึง ผู้ที่ไม่ใช่มนุษย์ คือ อบายภูมิทั้งหมด เทพทั้งหมด เว้น มนุษย์ที่เหลือเป็นอมนุษย์ สำหรับสัตว์ที่เกิดในภูมินรก ไม่สามารถอนุโมทนาส่วนบุญ ที่ญาติอุทิศไปให้ เพราะเขาไม่รับรู้ ในการทำบุญของญาติครับ
และความเห็นที่ ๓
ถ้าใช้คำว่า ญาติ ก็รวมทั้งหมดแล้ว เพราะในสังสารวัฏฏ์ ผู้ที่ไม่ใช่ญาติกันหาได้ยาก แม้พระเจ้าพิมพิสาร เวลาท่านอุทิศ ท่านก็ใช้คำว่า ญาติเหมือนกัน ดังนั้นในบางครั้ง ถ้าประสงค์จะอุทิศออกชื่อของผู้ที่เราเจาะจงก็ได้ และเพิ่มบุคคลอื่น เช่น ญาติ เป็นต้น ก็ได้ครับ
เรียนความเห็นที่ 4
เคยได้ยินเรื่อง พระมาลัย โปรดสัตว์ในนรก เป็นเรื่องจริง เรื่องเล่าหรืออย่างไร
ขอบพระคุณค่ะ
เรียนความเห็นที่ ๕
เรื่องพระมาลัยไม่มีปรากฏในพระไตรปิฎกและอรรถกถา แต่เป็นคัมภีร์รุ่นหลัง ครับ
สงสัยเรื่องการอุทิศส่วนบุญที่ถูกต้องควรทำอย่างไร ขอบพระคุณค่ะ
ทำบุญแล้วให้อุทิศทันทีตอนของนั้นขาดจากสิทธิ์ของเราครับ
ขอเทียบเคียงในพระไตรปิฎกนะครับ
อุทิศบุญให้ผู้ล่วงลับ....ทันที เล่ม 39 หน้า 284
...เปรตพวกนั้น พากันไปยืนที่นอกฝาเรือน เป็นต้น ด้วยหวังว่า วันนี้พวกเราคงได้อะไรกันบ้าง พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงทำโดยอาการที่เปรตพวกนั้น จะปรากฏแก่พระราชาหมดทุกตน พระราชาถวายน้ำทักษิโณทก (ถวายน้ำเป็นทาน) ทรงอุทิศว่า ขอทานนี้จงมีแก่พวกญาติของเรา ทันใดนั้นเอง สระโบกขรณี ดารดาษด้วยปทุม ก็บังเกิดแก่เปรต พวกนั้น เปรตพวกนั้นก็อาบ และดื่มในสระโบกขรณีนั้น ระงับความกระวนกระวายความลำบาก และหิวกระหายได้แล้ว มีผิวพรรณดุจทอง ลำดับนั้น พระราชาถวายข้าวยาคู ของเคี้ยว ของกินเป็นต้น แล้วทรงอุทิศ ในทันใดนั้นเอง ข้าวยาคูของเคี้ยวและของกินอันเป็นทิพย์ ก็บังเกิดแก่เปรตพวกนั้น เปรตพวกนั้น ก็พากินบริโภคของทิพย์เหล่านั้น มีอินทรีย์เอิบอิ่ม ลำดับนั้น พระราชาถวายผ้าและเสนาสนะ (ที่อาศัย) เป็นต้น ทรงอุทิศให้ เครื่องอลังการต่างๆ มีผ้าทิพย์ ยานทิพย์ ปราสาททิพย์ เครื่องปูลาดและที่นอนเป็นต้น ก็บังเกิดแก่เปรตพวกนั้นสมบัติแม้นั้นของเปรตพวกนั้น ปรากฏทุกอย่างโดยประการใด พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ทรงอธิษฐาน (ให้พระราชาทรงเห็น) โดยประการนั้น พระราชาทรงดีพระทัยยิ่ง
เมื่อทำบุญแล้วควรอุทิศบุญให้ท่านเหล่านี้ เล่ม 49 หน้า 30
บุคคลผู้ไม่ตระหนี่ ควรทำเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง คือปรารภถึงบุรพเปตชน (นึกถึงบรรพบุรุษผุ้ตายไป) หรือเทวดาผู้สิงอยู่ในเรือน หรือท้าวมหาราชทั้ง ๔ ผู้รักษาโลก ผู้มียศ คือ ท้าวธตรฐ ๑ ท้าววิรุฬหก ๑ ท้าววิรูปักษ์ ๑ ท้าวกุเวร ๑ ให้เป็นอารมณ์แล้วพึงให้ทาน ท่านเหล่านั้นเป็นอันบุคคลได้บูชาแล้ว และทายก (ผู้ให้ทาน) ก็ไม่ไร้ผล ความร้องไห้ ความเศร้าโศก หรือความร่ำไห้อย่างอื่น ไม่ควรทำเลย เพราะความร้องไห้ เป็นต้นนั้น ย่อมไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ญาติทั้งหลาย (ที่ตายไป) คงตั้งอยู่ตามธรรมดาของตนๆ อันทักษิณาทาน (สิ่งของทำบุญ) นี้ที่ท่านเข้าไปตั้งไว้ดีแล้วในสงฆ์ ให้แล้ว (อุทิศให้ญาติที่ตายไป) ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่บุรพเปตชนโดยทันที สิ้นกาลนาน
อุทิศบุญบ่อยๆ เพื่ออนุเคราะห์แก่เปรตทั้งหลาย เล่ม 49 หน้า 348
.....เพราะฉะนั้น บัณฑิตผู้มีปัญญา พึงให้ทักษิณา (ผลบุญ) บ่อยๆ เพื่ออนุเคราะห์แก่เปรตทั้งหลาย เปรตเหล่าอื่น บางพวกนุ่งผ้าขี้ริ้วขาดรุ่งริ่ง บางพวกนุ่งผม หลีกไปสู่ทิศน้อยทิศใหญ่เพื่อหาอาหาร บางพวกวิ่งไปแม้ในที่ไกลก็ไม่ได้อาหารแล้วกลับมา บางพวกสลบแล้ว เพราะความหิวกระหาย นอนกลิ้งไปบนพื้นดิน บางพวกล้มลงที่แผ่นดินในที่ตนวิ่งไปนั้น ร้องไห้ร่ำไรว่า เมื่อก่อนเราทั้งหลาย ไม่ได้ทำกุศล (ความดี) ไว้ จึงได้ถูกไฟคือ ความหิวและความกระหายเผาอยู่ ดุจถูกไฟเผาแล้ว ในที่ร้อน เมื่อก่อน พวกเรามีธรรมอันลามก เป็นหญิงแม่เรือน มารดาทารกในตระกูล เมื่อไทยธรรม (ของทำบุญ) ทั้งหลายมีอยู่ไม่กระทำที่พึ่งแก่ตน เออ…ก็ข้าวและน้ำมีมากแต่เราไม่กระทำการแจกจ่าย ให้ทาน และไม่ได้ให้อะไรในบรรพชิตทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติชอบ อยากทำแต่กรรมที่คนดีไม่พึงทำ เป็นคนเกียจคร้าน ใคร่แต่ความสำราญและกินมาก ให้แต่เพียงโภชนะก้อนหนึ่ง ด่าปฏิคาหก (ผู้รับทาน) ผู้รับอาหาร เรือน พวกทาสีทาสา (คนรับใช้ชาย – หญิง) และผ้าอาภรณ์ของเราเหล่านั้น ไม่สำเร็จประโยชน์แก่พวกเรา พวกเขาไปบำเรอคนอื่นหมด เรามีแต่ส่วนแห่งทุกข์ เราจุติ (ตาย) จากเปรตนี้แล้ว จักไปเกิดในตระกูล อันต่ำช้าเลวทราม คือ ตระกูลจักสาน ตระกูลช่างรถ ตระกูลนายพราน ตระกูลคนจัณฑาล ตระกูลคนกำพร้า ตระกูลช่างกัลบก นี้เป็นคติ (ที่ไปเกิดของสัตว์) แห่งความตระหนี่ ส่วนทายกทั้งหลายผู้มีกุศลอันทำไว้แล้ว ในชาติก่อน ปราศจากความตระหนี่ ย่อมยังสวรรค์ให้บริบูรณ์ และย่อมยังนันทวันให้สว่างไสวรื่นรมย์แล้ว ในเวชยันตปราสาทสำเร็จความปรารถนา ครั้นจุติ (ตาย) จากเทวโลกแล้ว ย่อมเกิดในตระกูลสูง มีโภคะ (ทรัพย์สมบัติ) มาก....
ทำบุญให้เทวดาบริเวณที่อาศัยอยู่ เล่ม 44 หน้า 755 บุรุษชาติบัณฑิต ย่อมสำเร็จการอยู่ในประเทศ (สถานที่) ใด พึงเชิญ ท่านผู้มีศีล ผู้สำรวมแล้ว ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ให้บริโภคในประเทศนั้นแล้ว ควรอุทิศทักษิณาทาน (อุทิศบุญ) เพื่อเทวดาผู้สถิตอยู่ในที่นั้นๆ เทวดาเหล่านั้นอันบุรุษชาติบัณฑิตนับถือบูชาแล้ว ย่อมนับถือบูชาบุรุษชาติบัณฑิตนั้น แต่นั้นย่อมอนุเคราะห์บุรุษชาติบัณฑิตนั้น ประหนึ่งมารดาอนุเคราะห์บุตร บุคคลผู้อันเทวดาอนุเคราะห์แล้ว ย่อมเห็นความเจริญทุกเมื่อ
ศึกษาเพิ่มเติมจากพระไตรปิฎกนะครับ