อนัตตา...คำต้นจนถึงคำสุดท้าย !
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สนทนาธรรมที่ประเทศอินเดียณ พระคันธกุฎี พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถีตุลาคม ๒๕๔๒
คุณบุตร สาวงษ์ ธรรม อันได้แก่ ผัสสะ นี้ มีความเกี่ยวข้องกับ การเจริญสติปัฏฐาน ใน สังยุตตนิกาย นิทานวรรค ที่พระผู้มีพระภาคฯ ทรงแสดง เรื่อง ผัสสะที่เกิดขึ้นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และ ทางใจคือ ทั้ง ๖ ทวาร และ ทรงแสดงต่อไปอีก ว่าเวทนา เกิดขึ้น เพราะมี ผัสสะ เป็นปัจจัยตัณหา เกิดขึ้น เพราะมี เวทนา เป็น ปัจจัย ฯ ตลอดจน ชรา เกิดขึ้น เพราะมี ภพชาติ เป็นปัจจัย และ พระองค์ยังทรงแสดง ธรรมฝ่ายดับ ซึ่ง ธรรมฝ่ายดับ นี้ พระองค์ทรงแสดงโดย ๖ ทวารนี้ เหมือนกัน
ข้อความในพระสูตร ตอนนั้น ทรงแสดงว่า มีพระภิกษุ รูปหนึ่ง ซึ่งได้ฟังพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคฯ ทรงแสดงแล้ว พระผู้มีพระภาคฯ ตรัสถามว่า ดูกร ภิกษุ ได้ฟังธรรมปริยาย ที่ตถาคตแสดงแล้วหรือ
ภิกษุ ทูลว่า "ข้าพระพุทธเจ้า ได้ฟังแล้ว"
พระผู้มีพระภาคฯ ตรัสว่า "เพราะฉะนั้น ภิกษุก็ศึกษาปริยายนี้ ปริยายนี้ เป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์" และ ในอรรถกถา ก็แสดงว่า พรหมจรรย์นี้ เป็นมรรคพรหมจรรย์ เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมะ ทั้ง ๖ ทวาร นี้ ไม่ใช่ศึกษาแต่เพียงชื่อเท่านั้น การเจริญสติปัฏฐาน ก็ต้องระลึกรู้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และ ทางใจ ทั้ง ๖ ทวาร
ผัสสะ ที่เกิดขึ้น อาจจะศึกษาได้ แต่ "สติ" จะระลึกตรงผัสสะ ได้ไหมครับ
ท่านอาจารย์ แล้วแต่บุคคล ปัญญาของท่านพระสารีบุตร ปัญญาของพระอัครสาวก ฯ ปัญญาของสาวกระดับต่างๆ ทำไมเกิดความสงสัยคะ
คุณบุตร สาวงษ์ พระพุทธเจ้า ทรงแสดงว่า ควรเล่าเรียน ควรศึกษา แล้วผมก็ทราบว่า เราเรียนพยัญชนะ ก็ไม่อาจเป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์ได้ก็ต้องศึกษา
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น คุณบุตร สาวงษ์ จะหมดความสงสัยเมื่อสภาพธรรม ปรากฏกับคุณบุตร สาวงษ์ ว่า สภาพธรรมใด รู้ได้ สภาพธรรมใด รู้ไม่ได้ สำหรับ แต่ละบุคคล สำหรับตัวเอง สามารถที่จะ รู้ สภาพธรรมอะไรได้ ก็ค่อยๆ ศึกษา ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจ
เพราะฉะนั้น ถ้ามีการศึกษาขณะนี้ จากสภาพธรรมที่มีจริงๆ จะเข้าใจ มากกว่าศึกษาจากตัวหนังสือ เพราะว่า ขณะที่ศึกษาจากตัวหนังสือ ก็จะมีคำภาษาบาลี ซึ่งเป็นคำที่เราไม่สามารถจะเข้าใจได้ สำหรับคุณบุตร สาวงษ์พอจะรู้ลักษณะของนามธรรม และ รูปธรรม ที่กำลังปรากฏไหม โดยไม่ต้องไปนึกถึง ผัสสเจตสิก ชีวิตินทรียเจตสิก มนสิการเจตสิก ฯลฯ เพียงแต่ รู้ ว่า ขณะนี้ มีสภาพของ นามธรรม และ รูปธรรม ซึ่ง "ไม่ใช่เรา" ความหมายที่แสดงถึง ความเข้าใจ หรือ การประจักษ์แจ้งก็ คือ ว่า "สภาพธรรมนั้น ไม่ใช่เรา"
เพราะว่า ลักษณะของสภาพธรรมนั้น ปรากฏ เปิดเผย กับ "ปัญญาที่ได้อบรมแล้ว" ซึ่ง เป็นปัญญา ที่ รู้ ว่า ลักษณะของ นามธรรม เป็นอย่างนี้ และ ลักษณะของ รูปธรรม เป็นอย่างนี้ แล้วไม่ต้องเป็นห่วงเรื่อง ผัสสเจตสิก มนสิการเจตสิก ฯลฯ เพราะว่า ปัญญา ต้องอบรมไปตามลำดับขั้น
แล้วแต่ ว่า ขณะนั้น "สติ" จะระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมอะไร ซึ่งยับยั้งไม่ได้ เช่น ขณะนี้ มี การเห็นและ มีเจตสิก (สัพพจิตสาธารณเจตสิก) ๗ ประเภท ลองพิจารณาดู ว่า ปัญญาของใคร ระดับไหน ที่จะรู้ ถึง ความเป็นธาตุรู้ หรือ สภาพรู้ ที่กำลังเห็น หรือ รู้ ถึง ลักษณะของเจตสิกทั้ง ๗ ประเภท ที่เกิดร่วมด้วย
คุณบุตร สาวงษ์ ถ้า "รู้การเห็น" คือ รู้ ว่า เพราะมีผัสสเจตสิก การเห็นจึงปรากฏ
ท่านอาจารย์ ไม่ต้องคิดถึงผัสสเจตสิกเลย เพราะว่า การศึกษาสภาพธรรมใดที่ กำลังปรากฏ คือ ปรากฏให้ "สติ" ระลึก ในขณะที่ สภพธรรมนั้นๆ กำลังปรากฏ เท่านั้น ก็ไม่ต้องไปคิดถึง สิ่งอื่น ที่ไม่ปรากฏ เพราะว่า สิ่งที่ปรากฏนั้น เกิดแล้ว ดับอย่างรวดเร็วมาก ขณะที่ไปคิดถึงเรื่องอื่น ขณะนั้น ก็คือ ไม่สามารถ รู้ ลักษณะที่แท้จริง ของสิ่งที่กำลังปรากฏได้เพราะว่า ข้ามไปแล้ว อย่างเช่น ขณะนี้ เป็น ปรมัตถธรรมทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นสิ่งที่มีจริง
ความหมายของ ปรมัตถธรรม ก็คือ เป็น สภาพธรรม ที่มีจริง ซึ่งไม่มีใคร สามารถที่จะเปลี่ยนแปลง ลักษณะของสภาพธรรมนั้น ได้ เช่น จิตเห็น มีจริงๆ และ ไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงสภาพเห็น ให้เป็นอย่างอื่นไปได้ เห็นเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องดับไป และผู้ที่ไม่ได้อบรมเจริญปัญญา จะไม่รู้เลยว่า เมื่อเห็นแล้ว ก็คิดเป็นเรื่องราว สืบต่อทันที เช่น ขณะที่กระทบแข็ง แข็ง เป็นสภาพธรรมที่มีจริง แข็ง เป็นปรมัตถธรรม แต่เมื่อไม่เคยฟังพระธรรม และไม่เคยรู้ ว่า แข็ง เป็นสภาพธรรม ก็ไม่มีปัจจัยให้ "สติ" เกิด ระลึก ตรงลักษณะที่แข็ง เพราะฉะนั้น ต่อจากแข็งปรากฏ ก็คือ การทรงจำลักษณะที่แข็ง แล้วก็เข้าใจว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ว่าจะในขณะที่กระทบ หรือ ขณะที่เห็น ฯลฯ
เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีโอกาสที่ "สติ" จะเกิด ระลึก รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง เมื่อไม่ได้ฟังพระธรรม แต่เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้ว สภาพธรรมทั้งหมดที่มี จะปรากฏกับ "สติ" ก็แล้วแต่ว่า "สติ" เกิดขึ้นเมื่อไรหรือ "สติ" ระลึกตรงลักษณะของสภาพธรรมอะไร
ซึ่ง "สติ" เกิดขึ้นเพียงชั่วระยะเวลาที่สั้นมาก แล้วก็ดับไปทันที ไม่ต้องคิดว่า จะต้องรู้ ผัสสเจตสิก เลย ปัญญาจริงๆ ต้องเป็นปัญญา ที่เห็น ความเป็นอนัตตา ของสภาพธรรมว่า "เลือกไม่ได้" สติจะเกิด หรือ ไม่เกิด เลือกไม่ได้ เพราะว่า เป็น ปรมัตถธรรม ซึ่งเกิดขึ้นเพราะ "เหตุปัจจัย" ต้องไม่ลืมคำต้น จนถึงคำสุดท้าย คือ "อนัตตา" เมื่อ สภาพธรรม เป็น "อนัตตา" ก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แล้วแต่ "เหตุปัจจัย" ทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ก็คือสติสัมปชัญญะ ระลึกรู้ ลักษณะของสภาพธรรม ที่มีปัจจัยปรุงแต่งซึ่ง เกิดขึ้น ปรากฏ ตามปกติ ตามความเป็นจริง
ขออนุโมทนา
ขออุทิศกุศล แด่ คุณพ่อ คุณแม่ และ สรรพสัตว์