ผลสมาบัติ [วิสุทธิมรรคแปล]

 
JANYAPINPARD
วันที่  16 ก.ย. 2552
หมายเลข  13551
อ่าน  3,603

ขอเชิญอ่านข้อความจากวิสุทธิมรรคโดยตรง

วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 274

[ปวัติในผลสมาบัติ]

ส่วนว่า เพื่อแสดงปวัติในผลสมาบัติแห่งอริยผลนั้น มีปัญหากรรม (ดังต่อไป) นี้ คือ ผลสมาบัติ คืออะไร บุคคลเหล่าไหนเข้าผลสมาบัตินั้นได้ เหล่าไหนเข้าไม่ได้ เข้าเพราะ (เพื่อ) อะไร และการเข้าผลสมาบัตินั้นเป็นอย่างไร (เข้าแล้ว) ยั้งอยู่อย่างไร ออกอย่างไรอะไรมีในลำดับแห่งผล และผลมีในลำดับแห่งอะไร?

[ผลสมาบัติคืออะไร]

ในปัญหากรรมทั้งหลายนั้น ปัญหากรรมข้อว่า "ผลสมาบัติคืออะไร" แก้ว่า คือ ความแนบอยู่ในนิโรธแห่งอริยผล

[ใครเข้าผลสมาบัติได้ ใครเข้าไม่ได้]

ปัญหากรรมข้อว่า "บุคคลเหล่าไหนเข้าผลสมาบัตินั้นได้ เหล่าไหนเข้าไม่ได้ " แก้ว่า บุถุชนทั้งปวงเข้าไม่ได้ เพราะอะไร เพราะยังไม่ได้บรรลุ (อริยผล) ส่วนพระอริยะทั้งปวงเข้าได้ เพราะอะไรเพราะได้บรรลุ (อริยผล) แล้ว แต่ว่าพระอริยะชั้นสูง ย่อมไม่เข้าผลสมาบัติชั้นต่ำ เพราะผลชั้นต่ำระงับไปแล้ว ด้วยการเข้าถึงความเป็นบุคคลอื่น พระอริยะชั้นต่ำระงับไปแล้ว ด้วยการเข้าถึงความเป็นบุคคลอื่น พระอริยะชั้นต่ำเล่า ก็เข้าผลสมาบัติชั้นสูงหาได้ไม่ เพราะยังไม่ได้บรรลุ อันพระอริยะทั้งหลาย ย่อมเข้าผลสมาบัติของตนๆ เท่านั้น นี่เป็นสันนิษฐาน (ข้อตกลง) ในปัญหากรรมข้อนี้ แต่อาจารย์ลางเหล่ากล่าวว่า "แม้พระโสดาบันและพระสกทาคามีก็เข้าไม่ได้ พระอริยะชั้นสูง พวกเท่านั้นจึงเข้าได้ " ดังนี้ และ นี่เป็นเหตุของเกจิอาจารย์เหล่านั้น คือ "เพราะพระอริยะชั้นสูง ๒ พวกนั้น เป็นผู้ทำให้บริบูรณ์ในสมาธิ" เหตุที่เกจิอาจารย์กล่าว (อ้าง) นั้นไม่เป็นเหตุ (คือไม่ชอบ) เลย เพราะแม้บุถุชนก็เข้าโลกิยสมาธิที่ตนได้แล้วได้ ๒ แต่ว่าประโยชน์อะไรด้วยการคิดว่าเป็นเหตุไม่เป็นเหตุในข้อนี้เล่า ในพระบาลีเองท่านก็ได้กล่าวไว้แล้วมิใช่หรือว่า "โคตรภูธรรม ๑๐ อะไรบ้าง ย่อมเกิดขึ้นด้วยอำนาจวิปัสนา? ญาณใดครอบงำเสียซึ่งอุปปาทะ.. ซึ่งปวัตตะ ฯลฯ ... ซึ่งอุปายาส ... ซึ่งสังขารนิมิตภายนอกเพื่อประโยชน์แก่อันได้โสดาปัตติมรรค เหตุนี้ ญาณนั้นจึงชื่อ โคตรภู ญาณใดครอบงำเสียซึ่งอุปปาทะ ฯลฯ ซึ่งสังขารนิมิตภายนอก เพื่อประโยชน์แก่อันเข้า โสดาปัตติผลสมาบัติ ... สกทาคามิผลสมาบัติ ... อานาคามิผลสมาบัติ ... อรหัตตผลสมาบัติ ... สุญตวิหารสมาบัติ อนิมิตวิหารสมาบัติ เหตุนี้ ญาณนั้นจึงชื่อโคตรภู ๓" ดังนี้ เพราะเหตุนั้น จึงควรถึงความตกลงในปัญหากรรมข้อนี้ได้ว่า "พระอริยะทั้งปวง (ทุกชั้น) ย่อมเข้าผลสมาบัติของตนๆ ได้"


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 16 ก.ย. 2552

วิสุทธิมรรคแปล ภาค ๓ ตอน ๒ (ตอนจบ) - หน้าที่ 276

[เข้าเพื่ออะไร]

ปัญหากรรมข้อว่า "เข้าเพราะ (เพื่อ) อะไร" แก้ว่า เพื่อทิฏฐธรรมสุขวิหาร (ความพักอยู่สำราญในปัจจุบันชาติ) เหมือนอย่างพระราชาเสวยรัชสุข เทวดาทั้งหลายอริยโลกุตรสุข ฉันใด พระอริยะทั้งหลายคิดว่า เราทั้งหลายจักเสวยอริยโลกุตรสุข ทำอัทธานปริเฉท (กำหนดกาล) แล้วก็เข้าผลสมาบัติในทุกขณะที่ต้องการ ฉันนั้น

[เข้าอย่างไร ยั้งอยู่อย่างไร ออกอย่างไร]

ปัญหากรรมข้อว่า "และการเข้าผลสมาบัตินั้นเป็นอย่างไร (เข้า) แล้ว) ยั้งอยู่อย่างไร ออกอย่างไร" แก้ว่า อันดับแรก การเข้าผลสมาบัตินั้นย่อมมีด้วยอาการ ๒ คือ เพราะไม่มนสิการถึงอารมณ์อื่นจาก พระนิพพาน ๑ เพราะมนสิการถึงแต่พระนิพพาน ๑ ดังพระธัมมทินนาเถรีกล่าว (แก่วิสาขอุบาสก) ว่า "ดูกรอาวุโส ปัจจัยแห่งการเข้าอนิมิตตาเจโตวิมุติมี ๒ คือ ไม่มนสิการถึงนิมิตทั้งปวง ๑ มนสิการถึงแต่ธาตุอันไม่มีนิมิต (คือนิพพาน) ๑ * ดังนี้ ส่วน (ต่อไป) นี้ เป็นลำดับการเข้าในการเข้าผลสมาบัตินี้ ความว่า พระอริยสาวกผู้มีความประสงค์ด้วยผลสมาบัติ พึงไปในที่ลับ (คน) ปลีกตัวอยู่แล้ว (ทำวิปัสสนา) เพ่งพิจารณาสังขารโดยวิปัสนาญาณ มีอุทยัพพยญาณเป็นต้น จิตของพระอริยสาวกผู้มีวิปัสนาญาณตามลำดับ เป็นไปแล้ว ย่อมแนบแน่นในนิโรธ โดยเป็นผลสมาบัติ ในลำดับแห่งโคตรภูญาณ อันมีสังขารเป็นอารมณ์ ก็แลในการเข้าผลสมาบัตินี้เพราะความที่พระอริยสาวกนั้นน้อม (จิต) ไปเพื่อผลสมาบัติ จึงผลเท่านั้นเกิดขึ้น แม้แก่พระเสขะ มรรคหาเกิดขึ้นไม่ ส่วนอาจารย์เหล่าใดกล่าว่า "พระโสดาบันประสงค์ว่าจักเข้าผลสมาบัติ ตั้งทำวิปัสสนาไปก็เป็นพระสกทาคามี พระสกทาคามีเล่า ... ตั้งทำวิปัสสนาไปก็เป็นพระอนาคามี" ดังนี้ อาจารย์เหล่านั้นควรถูกว่ากล่าวว่า "เมื่อเป็นอย่างนั้น พระอนาคามี (ตั้งทำวิปัสนาไป) ก็จักเป็นพระอรหันต์ พระอรหันต์ ... ก็จักเป็นพระปัจเจกพุทธ และพระปัจเจกพุทธ ... ก็จักเป็นพระพุทธเจ้าได้ละซิ" เพราะเหตุนั้น คำของอาจารย์เหล่านั้นนั่นจึงไม่ควรถือเอาสักหน่อย อนึ่ง คำของอาจารย์เหล่านั้น เป็นอันถูกปฏิเสธด้วยอำนาจพระบาลี (เรื่องโคตรภูธรรม ๑๐ ที่กล่าวแล้ว ซึ่งแยกวิปัสนาสำหรับมรรคและสำหรับผลเป็นคนละอย่าง) ด้วย แม้เพราะเหตุนี้ จึงไม่ควรถือเอา ควรถือเอาแต่นี่เท่านั้น คือ "ผลเท่านั้นเกิดขึ้นแม้แก่พระเสขะ มรรคหาเกิดขึ้นไม่ ๒ ผล (ที่เกิดขึ้น) เล่า ถ้ามรรคที่พระอริยบุคคลผู้นั้นได้บรรลุเป็นปฐมฌานิกมรรค (มรรคมีปฐมฌาน) ก็เป็นปฐมฌานิกผลเหมือนกัน เกิดขึ้นแก่พระอริยบุคคลผู้นั้นถ้ามรรคเป็นทุติยฌานิกะเป็นต้น ฌานิกะใดฌานิกะหนึ่ง ผลก็เป็นทุติยฌานิกะ เป็นต้น ฌานิกะใดฌานิกะหนึ่งเหมือนกัน" ฯลฯ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 31 ต.ค. 2567

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ