จำแนกอารมณ์ของจิต [อรรถกถา จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน]

 
JANYAPINPARD
วันที่  16 ก.ย. 2552
หมายเลข  13569
อ่าน  2,437

[เล่มที่ 14] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 314

อรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๙. วิธี อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะตรัสจิตตานุปัสสนา ๑๖ วิธี จึงตรัสว่า กถญฺจ ภิกฺขเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตตานุปัสสนา เป็นอย่างไรเล่าเป็นต้น

จำแนกอารมณ์ของจิต บรรดาบทเหล่านี้ บทว่า จิตมีราคะ คือจิตที่เกิดพร้อมด้วยโลภะ ๘ อย่าง บทว่า จิตปราศจากราคะ คือ จิตที่เป็นกุศล แล อพยากฤตฝ่ายโลกิยะ. แต่ข้อนี้ เป็นการพิจารณา มิใช่เป็นการชุมนุมธรรม เพราะฉะนั้นในคำว่า จิตมีราคะ นี้ จึงไม่ได้โลกุตตรจิต แม้แต่บทเดียว. อกุศลจิต ๔ ดวงที่เหลือ จึงไม่เข้าบทต้น ไม่เข้าบทหลัง.

บทว่า จิตมีโทสะ ได้แก่จิต ๒ ดวง ที่เกิดพร้อมด้วยโทมนัส. บทว่า จิตปราศจากโทสะ ได้แก่จิตที่เป็นกุศล และอพยากฤตฝ่ายโลกิยะ. อกุศลจิต ๑๐ ดวงที่เหลือ ไม่เข้าบทต้น ไม่เข้าบทหลัง. บทว่า จิตมีโมหะ ได้แก่จิต ๒ ดวง คือ จิตที่เกิดพร้อมด้วยวิจิกิจฉาดวง ๑ ที่เกิดพร้อมด้วยอุทธัจจะดวง ๑. แต่เพราะโมหะย่อมเกิดได้ในอกุศลจิตทั้งหมด ฉะนั้น แม้อกุศลจิตที่เหลือ ก็ควรได้ในบทว่าจิตมีโมหะนี้โดยแท้. จริงอยู่ อกุศลจิต ๑๒ (โลภมูล ๘ โทสมูล ๒ โมหมูล ๒) ท่านประมวลไว้ใน ทุกกะ (หมวด ๒) นี้เท่านั้น. บทว่า จิตปราศจากโมหะ ได้แก่จิตที่เป็นกุศล และอพยากฤตฝ่ายโลกิยะ.

บทว่า จิตหดหู่ ได้แก่จิตที่ตกไปในถิ่นมิทธะ. ก็จิตที่ตกไปในถิ่นมิทธะนั้น ชื่อว่า จิตหดหู่ บทว่า ฟุ้งซ่าน ได้แก่จิตที่เกิดพร้อมด้วยอุทธัจจะ จิตที่เกิดพร้อมด้วยอุทธัจจะนั้น ชื่อว่า จิตฟุ้งซ่าน.บทว่า จิตเป็นมหัคคตะ ได้แก่จิตที่เป็นรูปาวจร และอรูปาวจร. บทว่า จิตไม่เป็นมหัคคตะ ได้แก่จิตที่เป็นกามาวจร. บทว่า สอุตฺตรํ จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ได้แก่จิตที่เป็นกามาวจร

บทว่า อนุตฺตรํ จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ได้แก่จิตที่เป็นรูปาวจรและอรูปาวจร. แม้ในจิตเหล่านั้นจิตที่ชื่อว่า สอุตตระ ได้แก่จิตเป็นรูปาวจร จิตชื่อว่า อนุตตระ ได้แก่ จิตที่เป็นอรูปาวจร. บทว่า สุมาหิตํ จิตตั้งมั่นแล้ว ได้แก่อัปปนาสมาธิหรืออุปจารสมาธิ. บทว่า อสมาหิตํ จิตไม่ตั้งมั่น ได้แก่จิตที่เว้นจากสมาธิทั้งสอง บทว่า วิมุตฺตํ จิตหลุดพ้น ได้แก่จิตหลุดพ้นด้วยตทังควิมุตติ และวิกขัมภนวิมุตติ บทว่า อวิมุตฺติ จิตไม่หลุดพ้น ได้แก่จิตที่เว้นจากวิมุตติทั้งสอง ส่วนสมุจเฉทวิมุตติ ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ และนิสสรณวิมุตติ ไม่มีโอกาสในบทนี้เลย

ฯลฯ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 30 ส.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 17 ต.ค. 2567

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ