มุสาวาทมีด้วยอาการ ๓ อย่าง
[เล่มที่ 66] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 355
ว่าด้วยมุสาวาทมีด้วยอาการ ๓ อย่าง ฯลฯ
[๗๗๒] คำว่า พึงเว้นจากความพูดเท็จ ความว่า มุสาวาท เรียกว่า ความพูดเท็จ บุคคลบางคนในโลกนี้ อยู่ในสภาก็ดี อยู่ในที่ประชุมชนก็ดี ฯลฯ เป็นผู้กล่าวคำเท็จทั้งที่รู้สึกตัว เพราะเหตุเห็นแก่อามิสเล็กน้อยบ้าง นี้เรียกว่าความพูดเท็จ.
อีกอย่างหนึ่ง มุสาวาทย่อมมีด้วยอาการ ๓ อย่าง คือ
ในเบื้องต้นบุคคลนั้นก็มีความรู้ว่า เราจักพูดเท็จ ๑
เมื่อกำลังพูดอยู่ก็รู้ว่า เรากำลังพูดเท็จ ๑
เมื่อพูดแล้วก็รู้ว่า เราพูดเท็จแล้ว ๑
มุสาวาทย่อมมีด้วยอาการ ๓ อย่างนี้.
อนึ่ง มุสาวาทย่อมมีด้วยอาการ ๔ ด้วยอาการ ๕ ด้วยอาการ ๖ ด้วยอาการ ๗ ด้วยอาการ ๘ คือ
ในเบื้องต้น บุคคลนั้นก็มีความรู้ว่าเราจักพูดเท็จ ๑
เมื่อกำลังพูดอยู่ก็รู้ว่า เรากำลังพูดเท็จ ๑
เมื่อพูดแล้วก็รู้ว่า เราพูดเท็จแล้ว ๑
ปกปิดทิฏฐิ ๑
ปกปิดความควร ๑
ปกปิดความชอบใจ ๑
ปกปิดสัญญา ๑
ปกปิดความจริง ๑
มุสาวาทย่อมมีด้วยอาการ ๘ อย่างนี้.