อคติ คืออะไรคะ?
อคติ คืออะไรคะ
คำว่า อคติ หมายถึง ฐานะอันไม่พึงถึง ทางความประพฤติที่ผิด ความลำเอียง มี ๔ คือ
๑. ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรัก
๒. โทสาคติ ลำเอียงเพราะชัง
๓. โมหาคติ ลำเอียงเพราะเขลา
๔. ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว
ขอเชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่ ...
พระโสดาบันดับกิเลสหยาบอันได้แก่ "อคติ ๔" ได้แล้วเป็นสมุจเฉท ถูกต้องไหมคะ แต่ เหตุใด พระโสดาบันจึงยังร้องไห้ เพราะเหตุแห่งการเสียชีวิตของญาติ (ท่านวิสาขามิคารมาตา) หรือ ความเศร้าหมองใจในทานที่ให้ (ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี) กรุณาอธิบาย เหตุ ผล
ความแตกต่าง เช่นนี้ ระหว่างบุคคล ที่ชื่อว่า ไม่มีความเห็นผิดในสภาพธรรมเพราะประจักษ์แจ้งอริยสัจธรรมแล้ว ว่าไม่มีเรา ไม่มีของของเรา ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน ฯลฯ (พระโสดาบัน และ พระสกทาคามี) กับ กัลยาณปุถุชน ด้วยค่ะและมีการอ้างอิง เรื่อง พระโสดาบันละ อคติ ๔ ได้เป็นสมุจเฉท ในพระไตรปิฎก บ้างไหมคะ กรุณาแนะนำด้วยนะคะ
ขอขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ
เท่าที่สังเกต อคติ อย่างใดอย่างหนึ่งใน ๔ มีอิทธิพลมาก ในชีวิตประจำวันของผู้มีกิเลส จึงอยากทราบว่าพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม เรื่อง อคติ ๔ ด้วยพุทธประสงค์ โดยนัยที่วิจิตร อย่างไรบ้างคะ
เรียน ความเห็นที่ 2
การเสียใจ การร้องไห้ของพระโสดาบัน เป็นของธรรมดาแม้ว่าท่านจะดับความเห็นผิดได้แล้วก็ตาม แต่ท่านยังละกิเลสประเภทกามราคะและโทสะ ยังไม่ได้ เมื่อยังมีความติดข้องในกามอยู่ โทสะก็ย่อมเกิดเป็นธรรมดาแต่มิได้หมายความว่า ขณะนั้นท่านยึดถือโดยความเห็นผิดว่าเป็นสัตว์บุคคลจริงๆ ส่วนท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ในช่วงที่ท่านยากจนลง ไทยธรรมที่ท่านมี แต่ไม่ประณีตท่านก็ไม่เกิดปีติโสมนัสเหมือนแต่ก่อนที่เคยถวายสิ่งของดีๆ ดังนั้นจิตเศร้าหมองก็ย่อมมีได้เป็นของธรรมดา และข้อความบางตอนจาก สิงคาลกสูตร เรื่อง อคติ มีดังนี้
[๑๗๖] อริยสาวกไม่ทำบาปกรรมโดยฐานะ ๔ เป็นไฉน ปุถุชนถึงฉันทาคติ ย่อมทำกรรมลามก ถึงโทสาคติ ย่อมทำกรรมลามก ถึงโมหาคติย่อมทำกรรมลามก ถึงภยาคติ ย่อมทำกรรมลามก. ดูก่อนคฤหบดีบุตรส่วนอริยสาวก ไม่ถึงฉันทาติ ไม่ถึงโทสาคติ ไม่ถือโมหาคติ ไม่ถึงภยาคติ ท่านย่อมไม่ทำกรรมอันลามก โดยฐานะ ๔ เหล่านี้...
เรียน ความเห็นที่ 2
การร้องไห้ ขณะนั้นเป็นโทสมูลจิต แต่ขณะนั้นไม่ได้หมายความว่าต้องลำเอียง (อคติ) ท่านไม่ได้เกิดความลำเอียงเลยในขณะที่ร้องไห้ว่า คนนี้เรารักมากจะต้องให้สิ่งต่างๆ มาก คนนี้ไม่ชอบ ท่านจะให้น้อย แต่เพราะอำนาจโลภะที่พอใจในรูป เสียง ... มีอยู่ เมื่อพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ท่านก็เสียใจ ร้องไห้ ซึ่งขณะนั้นท่านไมได้มีความลำเอียง
เพราะฉะนั้น จึงไม่ได้หมายความว่าเมื่อเป็นอกุศลประภทใดแล้วจะต้องเป็นอคติเสมอเช่นเดียบกับกรณีท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ของที่ให้ของท่านเศร้าหมอง แต่จิตไม่เศร้าหมอง และเมื่อลูกสาวของท่านตาย ท่านก็ร้องไห้อย่างมาก ขณะนั้นไมไได้เกิดความลำเอียง แต่เป็นโทสมูลจิตอันเป็นเหตุมาจาก ยังมีความยินดีพอใจ ในรูป เสียง กลิ่น รส ซึ่งขณะที่ร้องไห้ ไม่ใช่ความลำเอียง โดยนัยเดียวกัน แม้แต่ปุถุชนขณะที่ร้องไห้เสียใจ เพราะพลัดจากสิ่งที่รัก เป็นต้น ขณะนั้นก็ไม่ได้มีความลำเอียง เป็นไปตามเหตุที่มีความยินดีพอใจ ในรูป ... นั่นเอง
ซึ่งเราจะต้องเข้าใจว่า ขณะที่ลำเอียงนั้นมีลักษณะอย่างไร เช่น ขณะให้ของมากเพราะผู้นี้เป็นที่รัก เป็นต้น เพระาฉะนั้น ขณะใดที่เป็นอกุศลจึงไม่ได้หมายความว่ามีความลำเอียงเสมอไป
ขออนุโมทนาครับ
เรียน ความเห็นที่ 3
ที่ถามว่า เท่าที่สังเกต ... อคติ อย่างใดอย่างหนึ่งใน ๔ มีอิทธิพลมาก ในชีวิตประจำวันของผู้มีกิเลส จึงอยากทราบว่า พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม เรื่อง อคติ ๔ ด้วยพุทธประสงค์ โดยนัยที่วิจิตร อย่างไรบ้างคะ
ธรรมขอพระพุทธเจ้าทรงแสดงโดยนัยวิจิตรต่างๆ เพื่อให้เห็นโทษของอกุศล เพื่อให้เห็นคุณของกุศล เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย คลายกำหนัดและเพื่อความเจริญปัญญาดับกิเลส โดยแสดงเป็นไปตามอัธยาศัยของสัตว์โลก แม้ในเรื่องของอคติ ความลำเอียง อคติเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอกุศลธรรม พระองค์ทรงแสดงอกุศลธรรมด้วยความเป็นอกุศลธรรมคือเป็นธรรมและให้เห็นโทษของอกุศลธรรมตามความเป็นจริงด้วยปัญญา อันเกิดจากการฟังพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงเรื่องอคติ (ความลำเอียง) ว่า หากผู้ใดมีอคติแล้ว ล่วงธรรมคือทำอกุศลกรรม ก็ย่อมเสื่อมจากยศ เสื่อมจากกุศลธรรมและย่อมทำให้ไปอบายได้เพราะ เป็นผู้มีความลำเอียงแล้วทำอกุศลกรรมโดยนัยตรงกันข้าม พระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นคุณของกุศลตามความเป็นจริง ดังนั้น ความไม่ลำเอียงด้วยจิตที่เป็นกุศล ผู้ที่ไม่ลำเอียงก็ย่อมได้ชือ่เสียงเพระประพฤติธรรม นั่นเอง ธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสงดในเรื่องอคติจึงมีนัยวิจิตรต่างๆ ดังนี้ ดังพระสูตร
[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 48
๗. ปฐมอคติสูตร
ว่าด้วยความลำเอียง ๔
[๑๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความลำเอียง ๔ ประการนี้ ความลำเอียง ๔ คือ อะไร คือลำเอียงเพราะชอบกัน ลำเอียงเพราะชังกัน ลำเอียงเพราะเขลา ลำเอียงเพราะกลัว ภิกษุทั้งหลาย นี้แลความลำเอียง ๔ ประการ บุคคลใดประพฤติล่วงธรรม เพราะความชอบกัน เพราะความชังกัน เพราะความกลัว เพราะความเขลา ยศของบุคคลนั้นย่อมเสื่อม เหมือนดวงจันทร์ข้างแรมฉะนั้น
[เล่มที่ 35] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ 49
๘. ทุติยอคติสูตร
ว่าด้วยความลำเอียง ๔
[๑๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความไม่ลำเอียง ๔ ประการนี้ ความไม่ลำเอียง ๔ คืออะไร คือไม่ลำเอียงเพราะชอบกัน ไม่ลำเอียงเพราะชังกัน ไม่ลำเอียงเพราะเขลา ไม่ลำเอียงเพราะกลัว ภิกษุทั้งหลาย นี้แล ความไม่ลำเอียง ๔ ประการ บุคคลใดไม่ประพฤติล่วงธรรมเพราะความชอบกัน เพราะความชังกัน เพราะความกลัว เพราะความเขลา ยศของบุคคลนั้นย่อมเพิ่มพูน เหมือนดวงจันทร์ข้างขึ้น ฉะนั้น.
ขออนุโมทนาค่ะ
ที่ในสังคมแบ่งพรรคแบ่งพวกกันอยู่ทุกวันนี้ ก็คงจะเป็นอคติใช่มั้ยคะ
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 13617 ความคิดเห็นที่ 9
ขออนุโมทนาค่ะ
ที่ในสังคมแบ่งพรรคแบ่งพวกกันอยู่ทุกวันนี้ ก็คงจะเป็นอคติใช่มั้ยคะ
จากข้อความใน ความเห็นที่ 4
[๑๗๖] อริยสาวก ไม่ทำบาปกรรมโดยฐานะ ๔ เป็นไฉน ปุถุชน ถึงฉันทาคติ ย่อมทำกรรมลามก ถึงโทสาคติ ย่อมทำกรรมลามก ถึงโมหาคติ ย่อมทำกรรมลามก ถึงภยาคติ ย่อมทำกรรมลามก ดูก่อนคฤหบดีบุตร ส่วน อริยสาวก ไม่ถึงฉันทาติ ไม่ถึงโทสาคติ ไม่ถือโมหาคติ ไม่ถึงภยาคติ ท่านย่อมไม่ทำกรรมอันลามก โดยฐานะ ๔ เหล่านี้
เข้าใจว่า ฐานะ ๔ คือ อคติ ๔ อริยสาวก คือ สาวกผู้มีคุณธรรมระดับพระโสดาบันเป็นต้นไป ปุถุชน ย่อมมีอคติ ๔ มากน้อย ตามการสะสม ค่ะ