ทุคติ คือ อะไร.

 
พุทธรักษา
วันที่  19 ก.ย. 2552
หมายเลข  13619
อ่าน  21,785

เรียนถาม คำว่า ทุคติ คือ อะไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 19 ก.ย. 2552

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ทุคติ แปลว่า ที่ไปอันชั่ว ที่อยู่อันชั่ว ภพอันเป็นที่ไปของสัตว์อันชั่ว

[เล่มที่ 44] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 770

ชื่อว่า ทุคติ เพราะเป็นภูมิเป็นที่ไป คือ เป็นที่พำนักอาศัยแห่งทุกข์ อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ทุคติ เพราะเป็นภูมิเป็นที่ไป อันเกิดด้วยกรรมชั่ว เหตุมากไปด้วยโทสะ

โดยศัพท์แล้วไม่เกี่ยวข้องกับอคติ แต่ผู้ที่อคติ (ลำเอียง) แล้วทำชั่วย่อมไปสู่ทุคติได้

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
พุทธรักษา
วันที่ 19 ก.ย. 2552

จากประโยคนี้...แต่ผู้ที่อคติ (ลำเอียง) แล้วทำชั่วย่อมไปสู่ทุคติได้ ฉะนั้น ผู้ที่มีอคติ (ลำเอียง) แล้วไม่ทำชั่ว หรือ กรรมที่กระทำชั่ว เป็นกรรมที่ไม่เป็นกรรมบถก็ไม่เป็นปัจจัยให้ไปทุคติ ใช่ไหมคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 19 ก.ย. 2552

กรรมที่จะเป็นเหตุปัจจัยให้ไปอบาย ทุคติ ก็ต้องครบองค์กรรมบถครับ ถ้าไม่ครบกรรมบถก็อาจให้ผลในปวัตติกาลคือหลังจากเกิดแล้ว แต่กรรมที่ทำไม่ครบกรรมบถจะไม่เป็นปัจจัยให้นำเกิดในอบายภูมิครับ เช่น ลำเอียง เกิดความอคติในใจไม่ได้ล่วงออกมาทางกาย วาจา หรือลำเอียงแล้วพยายามฆ่าแต่ไม่สำเร็จ ก็ไม่เป็นปัจจัยให้ไปนำเกิดในทุคติครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 20 ก.ย. 2552

ผู้ที่จะละอคติได้ต้องเป็นพระโสดาบันขึ้นไปค่ะ

อคติ ๔ คือ

1. ลำเอียงเพราะรัก

2. ลำเอียงเพราะโกรธ

3. ลำเอียงเพราะหลง

4. ลำเอียงเพราะกลัว

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
วิริยะ
วันที่ 20 ก.ย. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
BudCoP
วันที่ 20 ก.ย. 2552

นโม อคติยา : ขอนอบน้อมพระนิพพาน

สวัสดีครับ ทุกท่าน

ขอร่วมเสนอความเห็นด้วยคน ครับ

นัยที่ 1 อคติ คือ ความลำเอียง

อคติ มี 4 อย่าง คือ

ลำเอียงเพราะชอบพอกัน (ฉันทาคติ)

ลำเอียงเพราะโกรธเกลียดกัน (โทสาคติ)

ลำเอียงเพราะไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ (โมหาคติ)

ลำเอียงเพราะเกรงกลัวผลกระทบร้าย (ภยาคติ)

โดยนัยนี้ อคติเกี่ยวกับทุคติ เพราะเป็นสิ่งที่นำไปอบายได้ถ้ามีกำลังพอ ครับ

นัยที่ 2 อคติ คือ นิพพาน

คมุ ธาตุ ติ ปัจจัย -> ลบ มุ แล้วประกอบร่าง ได้เป็น คติ แปลว่า ไปถึง หรือ ที่ๆ ไปถึง

คติบางที่ หมายถึง สถานที่ๆ บุคคลเข้าถึง เช่น สุคติ (มนุษย์ขึ้นไป) ทุคติ (อบาย 4)

อคติ (น + คติ) บางที่ หมายถึง ไม่ใช่คติ เช่น ใน สุตมยญาณนิทเทส คัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค ของท่านพระสารีบุตรเป็นต้น จึงเทียบ พระนิพพาน ว่า อคติ เพราะ ไม่ใช่และไม่เป็นคติใดๆ ทั้งสุคติ ทุคติ

โดยนัยนี้ อคติเกี่ยวกับทุคติ เพราะเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับทุคติโดยสิ้นเชิง ครับ

นัยที่ 3 อคติ คือ ที่อันกามคุณเข้าไม่ถึง

พระพุทธพจน์ นิวาปสูตร คัมภีร์มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ กล่าวถึงที่ๆ กามคุณ ๕

เข้าไม่ถึงสมณพราหมณ์ ท่านก็ใช้ศัพท์ว่า "อคติ" เช่นกัน อคติในที่นี้ เป็นที่วิเวก เช่น ป่า เป็นต้น ครับ

โดยนัยนี้ อคติเกี่ยวกับทุคติ เพราะเป็นที่ซึ่งจะทำให้ห่างจากทุคติได้ ครับ

นอกจาก 3 นี้ โดยศัพท์อคติยังอาจหมายถึง ที่ไม่ควรเข้าถึง (ซึ่งได้แก่คือ ทุคตินั่นเอง) ก็ได้ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
พุทธรักษา
วันที่ 21 ก.ย. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ คุณพุทธคอป ถ้าไม่รบกวนเกินไป กรุณาแนะนำ ข้อความในพระไตรปิฎก เรื่อง "อคติ ๔" โดย นัย ที่กล่าวถึง พระโสดาบันละอคติ ๔ ได้เป็นสมุจเฉท (ถ้ามี)

ขอขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
BudCoP
วันที่ 21 ก.ย. 2552

เรียน คุณ พุทธรักษา ความคิดเห็นที่ 7 ครับ :

ข้อความดังกล่าวอยู่ในวิสุทธิมรรค ญาณทัสสนวิสุทธินิทเทส ฉบับมหามกุฎแปล เล่ม 6 ประมาณหน้า 238 ว่า .-"อคติ ปฐมญาณวชฺฌาว : อคติละได้ด้วยปฐมญาณเลยทีเดียว"

ลองเปิดดู ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
วันใหม่
วันที่ 21 ก.ย. 2552

เรียนความเห็นที่ 7

พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 935

ก็อีกอย่างหนึ่ง บุคคลใด เมื่อแบ่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งในฐานะที่ควรแบ่ง ย่อมให้มากกว่าผู้อื่น ด้วยอำนาจแห่งความรักว่า ผู้นี้เป็นมิตรของเรา หรือ ว่าเป็นเพื่อน หรือว่าเป็นผู้ร่วมกินร่วมนอน ดังนี้ ย่อมให้น้อยด้วยอำนาจ แห่งโทสะว่า ผู้นี้เป็นศัตรูของเรา ดังนี้ เมื่อไม่รู้ว่า สิ่งนี้อันเราให้แล้ว หรือว่ายังมิให้ เพราะความที่ตนเป็นคนเขลา ย่อมให้สิ่งของมากแก่คนบางคน ย่อมให้น้อยแก่คนบางคน ดังนี้ เป็นผู้กลัวว่า เมื่อเราไม่ให้สิ่งนี้ ผู้นี้พึงทำความฉิบหายแม้แก่เรา ดังนี้ ย่อมให้สิ่งของแก่คนบางคน บุคคลแม้ทั้ง ๔ จำพวกนี้ ชื่อว่า ย่อมดำเนินไปสู่ฉันทาคติเป็นต้น ตามลำดับ

พระอริยะทั้งหลาย ย่อมไม่ดำเนินไปเพราะธรรมมีฉันทะเป็นต้นนี้ เพราะเหตุนี้ ธรรมนี้ จึงชื่อว่า อคติ ชนทั้งหลายมิใช่พระอริยะ ย่อมดำเนินไปสู่อคติ ด้วยธรรม มีฉันทะเป็นต้นนี้ เพราะเหตุนั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
พุทธรักษา
วันที่ 22 ก.ย. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ