คุณสมบัติของพ่อค้ากับของภิกษุ [ทุติยปาปณิกสูตร]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 61
๑๐. ทุติยปาปณิกสูตร คุณสมบัติของพ่อค้ากับของภิกษุ
[๔๕๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าประกอบด้วยองค์ ๓ ย่อมถึงความใหญ่ความไพบูลย์ในโภคทรัพย์ไม่นานเลย องค์ ๓ คืออะไร คือพ่อค้าเป็นผู้มีดวงตา ๑ ฉลาด ๑ ถึงพร้อมด้วยที่พึ่งอาศัย ๑ ก็พ่อค้าเป็นผู้มีดวงตาอย่างไร พ่อค้ารู้สินค้าว่า สินค้าสิ่งนี้ซื้ออย่างนี้ ขายอย่างนี้ เป็นต้นทุนเท่านี้ กำไรเท่านี้ อย่างนี้แล ภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าชื่อว่า เป็นผู้มีดวงตา พ่อค้าเป็นผู้ฉลาดอย่างไร พ่อค้าเป็นผู้เข้าใจที่จะซื้อ และที่จะขายอย่าง
นี้แล พ่อค้า ชื่อว่า ฉลาด พ่อค้าถึงพร้อมด้วยที่พึ่งอาศัยอย่างไร คฤหบดีทั้งหลายก็ดี บุตรของคฤหบดีทั้งหลายก็ดี ที่มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก ย่อมรู้จักพ่อค้านั้นอย่างนี้ว่า พ่อค้าผู้เจริญผู้นี้แหละเป็นคนมีดวงตาด้วย ฉลาดด้วย มีกำลังพอที่จะเลี้ยงบุตรภริยา และแถมพกให้เราบ้างตามเวลาอันควร คฤหบดี และบุตรของคฤหบดีเหล่านั้น ย่อมรับรองพ่อค้านั้นด้วยโภคะทั้งหลายว่า แน่ะสหายพ่อค้า แต่นี้ไป เชิญท่านนำโภคะไปเลี้ยงบุตรภริยา และจงแถมพกให้เราบ้างตามเวลาอันควรเถิด อย่างนี้แล พ่อค้า ชื่อว่า ถึงพร้อมด้วยที่พึ่งอาศัย. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พ่อค้าประกอบด้วยองค์ ๓ นี้แล ย่อมถึงความใหญ่
ความไพบูลย์ในโภคทรัพย์ไม่นานเลย ฯลฯ
บทว่า จกฺขุมา ความว่า พ่อค้าเป็นผู้มีปัญญาจักษุ. บทว่า วิธุโรความว่า เป็นผู้มีธุระอันสำคัญ คือมีธุระอันสูงสุด ได้แก่ประกอบด้วยวิริยะที่สัมปยุตด้วยญาณ. บทว่า นิสฺสยสมฺปนฺโน คือถึงพร้อมด้วยที่พึ่ง ได้แก่ถึงพร้อมด้วยที่พำนัก. บทว่า ปณิยํ ได้แก่สินค้าที่ขาย. ในบทนั้นว่า เอตฺตกํ มูลํ ภวิสฺสติเอตฺตโก อุทฺรโย มีอธิบายว่า สินค้าที่ซื้อมานั้น โดยการซื้อมีปริยายดังที่ตรัสไว้ว่า ซื้ออย่างนี้ ขายอย่างนี้. สินค้านั้นจัดเป็นทุน คือจำนวนที่ซื้อมาเท่านี้ ฉะนั้น เมื่อจำหน่ายสินค้านั้นไป ในการจำหน่ายสินค้าจักมีกำไรเท่านี้คือเพิ่มขึ้นเท่านี้. บทว่า กุสโล โหติ ปณิยํ เกตุญฺจ วิกเกตุญฺจ ความว่า พ่อค้าผู้ฉลาดไป
หาซื้อยังที่ที่สินค้าหาได้ง่าย และไปขายยังที่ที่สินค้าหาได้ยาก ชื่อว่าเป็นผู้
ฉลาดในที่นี้ เขาย่อมได้ลาภเพิ่มขึ้น ๑๐ เท่าบ้าง ๒๐ เท่าบ้าง. บทว่า อทฺธา ได้แก่ อิสรชน คือผู้ถึงพร้อมด้วยทรัพย์ที่เก็บไว้จำนวน
มาก. บทว่า มหทฺธนา ได้แก่ ผู้มีทรัพย์มาก ด้วยอำนาจเครื่องใช้สอย บทว่า
มหาโภคา ได้แก่ ผู้มีโภคะมาก ด้วยสิ่งของที่เป็นเครื่องอุปโภคและบริโภค บทว่า ปฏิพโล ได้แก่ ชื่อว่า เป็นผู้สามารถ เพราะถึงพร้อมด้วยกำลังกาย และกำลังความรู้. บทว่า อมฺหากญฺจ กาเลน กาลํอนุปฺปาเทตุ ความว่า เพื่อเพิ่มให้ดอกเบี้ยอันเกิดจากทรัพย์ที่เขาหยิบยืมไปเป็นต้นทุน แก่เราทั้งหลายตามกาลอันสมควร.
ฯลฯ