พระโอวาทานุสาสนี...[๒]
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
อสิพันธกบุตร กราบทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญพระองค์เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าสามารถกระทำสัตว์โลกทั้งหมดเมื่อสิ้นชีพไป ให้เข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ ได้หรือไม่?
พระผู้มีพระภาคฯ ตรัสว่า ดูก่อน นายคามณี เราขอย้อนถามท่านก่อน ว่า บุรุษในโลกนี้ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อมากไปด้วย อภิชฌา มีจิตพยาบาท มีความเห็นผิดหมู่มหาชนมาประชุมกันแล้ว พึงสวดวิงวอน สรรเสริญ ประนมมือเดินเวียนรอบผู้นั้น ว่า บุรุษนี้ เมื่อสิ้นชีพ พึงเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์เพราะเหตุแห่งการสวดวิงวอน เพราะเหตุแห่งการสรรเสริญเพราะเดินเวียนรอบบุรุษนั้น ได้หรือ.? ดูก่อน นายคามณีเปรียบเหมือนบุรุษ โยนหินก้อนใหญ่ลงในห้วงน้ำลึกมหาชนแม้จักช่วยกันสวดวิงวอน ประนมมือสรรเสริญ รอบสระน้ำนั้นขอให้ก้อนหินลอยขึ้นมา ก้อนหินนั้น จะพึงโผล่ขึ้น พึงลอยขึ้นได้หรือไม่?
ก็บุคคลที่ประพฤติใน อกุศลกรรมบถ ๑๐ นั้นเมื่อสิ้นชีพไป พึงเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาตนรก เท่านั้น ถ้าบุคคลในโลกนี้ เว้นจาก อกุศลกรรมบถ ๑๐ คือ ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท ปิสุณาวาท ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะไม่มากไปด้วย อภิชฌา มีจิตไม่พยาบาท มีความเห็นชอบบุคคลนั้น เมื่อสิ้นชีพไป พึงเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์โดยไม่ต้องวิงวอนร้องขอ บุคคลใด มีจิตปรารถนาพระโพธิญาณ จงอุตสาหะ อภิบาล บำรุงบิดา มารดา ประพฤติกุศลสุจริตธรรมจักสมปรารถนาทุกประการ
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสอานิสงส์แห่ง "การให้ทาน" ๕ ประการ คือ ย่อมเป็นที่รักใคร่ของชนหมู่มาก ๑สัตบุรุษผู้สงบ ย่อมคบหาผู้ให้ทาน ๑กิตติศัพท์อันงามของผู้ให้ทานย่อมขจรไกล ๑ผู้ให้ทานย่อมไม่ห่างเหินจากธรรมของคฤหัสถ์ ๑ เมื่อสิ้นชีพแล้ว ย่อมเข้าสู่สุคติ โลกสวรรค์ ผู้ใด ให้สิ่งที่ดีกว่าที่ตนบริโภค ชื่อว่า "ทานบดี"ผู้ใดให้สิ่งที่เสมอกับตนบริโภค ชื่อว่า "สหายทาน" ผู้ใดให้สิ่งที่เลวกว่าสิ่งที่ตนบริโภค ชื่อว่า "ทาสทาน" กาลทาน ๕ ประการ คือ ทายก ย่อมให้ทานแก่ผู้มาสู่ถิ่นของตน ๑ทายก ย่อมให้ทานแก่ผู้เตรียมจะเดินทาง ๑ ทายก ย่อมให้ทานในสมัยข้าวแพงทายก ย่อมให้ทานแก่ผู้มีศีล ๑ ทายก ย่อมให้ผลไม้ออกใหม่แก้ผู้มีศีล ๑
ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย กาลทาน ๕ ประการนี้ ผู้มีปัญญา รู้ความประสงค์ ปราศจากความตระหนี่ ย่อมให้ทานในกาลที่ควรให้ เพราะผู้ให้ทานตามกาล ในพระอริยเจ้าทั้งหลายผู้ปฏิบัติซื่อตรงผู้มีใจคงที่ เป็นผู้มีจิตผ่องใส ทักขิณาทานนั้น จึงจะมีผลไพบูลย์ ชนเหล่าใด อนุโมทนา หรือ ช่วยเหลือในทักขิณาทานนั้น ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งบุญ บุญ ย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ในปรโลก
พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสสอนว่า กุมารี ผู้ไปสู่สกุลของสามี พึงประพฤติธรรม ๕ ประการ ดังนี้
๑. ตื่นก่อน นอนทีหลัง คอยรับใช้ ประพฤติตนเป็นที่พอใจ และใช้ถ้อยคำไพเราะต่อสามี.
๒. ชนเหล่าใด อันเป็นที่เคารพของสามี เช่น มารดาบิดา หรือสมณพราหมณ์ เป็นต้นเมื่อท่านมายังเรือน จักให้ความเคารพนับถือ ต้อนรับปฏิสันถาร.
๓. เป็นผู้ไม่เกียจคร้าน ภายในเรือนของสามี.
๔. สงเคราะห์คนข้างเคียงของสามี ดูแลความเป็นอยู่และการเจ็บไข้ ตามเหตุอันควร.
๕. รู้จักรักษาคุ้มครองทรัพย์ที่สามีหามาได้ มิให้พินาศไป.
ดูก่อน กุมารีทั้งหลาย เธอพึงศึกษาอย่างนี้แลมาตุคาม ผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้เมื่อสิ้นชีพไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาเหล่า "มนาปกายิกา" ความรักนั้น ย่อมเกิดด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ เพราะเคยอยู่ร่วมกันมาก่อน หรือ เพราะเกื้อกูลกันในปัจจุบัน เหมือนดอกบัวเกิดในน้ำ และ เปือกตม ฉะนั้นสามี ภรรยา ผู้หวังจะได้พบกันทั้งในชาตินี้ และ ชาติหน้าไซร้ทั้งคู่ พึงเป็นผู้มีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน มีจาคะเสมอกันมีปัญญาเสมอกัน
สัตว์โลกนี้ ถูกชาตินำไปสู่ชรา ถูกชรานำไปสู่พยาธิ ถูกพยาธินำไปสู่มรณะ ถูกมรณะนำไปสู่ชาติ คือการเกิดอีกพึงสำรวมกาย วาจา ใจ ให้เป็นที่พึ่งในภพหน้าเถิด เมื่อเรือนถูกไฟไหม้ เจ้าของขนของสิ่งใดออกสิ่งนั้นจักเป็นประโยชน์แก่เจ้าของเหมือนสัตว์โลก อันชรามรณะไหม้อยู่อย่างนี้ชาวโลก พึงขนของออกด้วยการให้ทานเถิดสิ่งที่ให้เป็นทานไปแล้ว ชื่อว่า ได้ขนออกอย่างดีแล้ว
หลักในการใช้จ่ายทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ ๕ ประการ
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมใช้จ่ายทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยความขยันสะสมขึ้นด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ ได้มาโดยชอบธรรม คือ
๑. เลี้ยงตน เลี้ยงมารดา บิดา บุตร ภรรยา ทาสกรรมกรให้เป็นสุข อิ่มหนำสำราญ.
๒. เลี้ยงมิตร-สหายให้เป็นสุข อิ่มหนำสำราญ.
๓. เพื่อป้องกัน ความเดือดร้อนจากไฟ น้ำ พระราชา โจรและ ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก.
๔. ทำพลีกรรม ๕ ประการ คือ ญาติพลี - บำรุงญาติ อติพลี - ต้อนรับแขกปุพพเปตพลี - ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย ราชพลี - บริจาคทรัพย์ช่วยชาติเทวตาพลี - ทำบุญอุทิศให้เทวดา.
๕. บำเพ็ญทักษิณา คือ การทำทาน เพื่อวิบากที่เป็นสุขในภพหน้า
... ขออนุโมทนา ...