ความจริงแห่งชีวิต [172] ชื่อว่า บัญญัติ เพราะรู้ได้ ด้วยประการนั้นๆ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ฉะนั้น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีบัญญัติเป็นอารมณ์หรือเปล่า ต้องมีการฟังพระธรรมนั้นต้องพิจารณาเหตุผลของสภาพธรรมประกอบกันด้วย อารมณ์มี ๒ อย่าง คือ ปรมัตถธรรมและบัญญัติ ขณะใดที่ไม่มีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ ขณะนั้นต้องมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ที่กล่าวยํ้าบ่อยๆ ก็เพื่อเกื้อกูลให้สติระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้ถูกต้องว่า ในขณะที่มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาเป็นสีสันวัณณะต่างๆ นั้น เมื่อสีแยกจากมหาภูตรูปไม่ได้ สีที่เกิดกับมหาภูตรูปจึงปรากฏให้เห็นเป็นบัญญัติต่างๆ ขึ้น เมื่อสติปัฏฐานเกิดก็แยกระลึกพิจารณาสังเกตรู้ได้ถูกต้องว่า สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นสีสันต่างๆ นั้นเป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่ปรากฏทางตา และขณะที่รู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตานั้นเป็นอะไร ก็เป็นวิถีจิตที่รู้ทางมโนทวาร
เมื่อได้ศึกษาเข้าใจแล้วก็จะเห็นได้ว่า ในชีวิตประจำวันของทุกสัตว์บุคคลฝนั้น บางขณะจิตมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ และบางขณะก็มีบัญญัติเป็นอารมณ์สืบต่อกัน เช่น ทางตาก็ไม่ได้มีแต่จักขุทวารวิถีจิตซึ่งมีแต่สีเป็นอารมณ์เท่านั้น เมื่อจักขุทวารวิถีจิตดับหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตก็เกิดขึ้นรับรู้สีต่อจากจักขุทวารวิถี เมื่อมโนทวารวิถีจิตวาระแรกดับหมดแล้ว ภวังคจิตเกิดคั่นแล้ว มโนทวารวิถีจิตวาระต่อไปก็เกิดขึ้น มีบัญญัติเป็นอารมณ์ มิฉะนั้นแล้วจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร ถ้าไม่รู้บัญญัติว่าเป็นโต๊ะ เป็นเก้าอี้ เป็นอาหาร เป็นถ้วย เป็นจาน เป็นช้อน ฯลฯ ก็จะมีชีวิตอยู่ไม่ได้เลย สัตว์ดิรัจฉานมีบัญญัติเป็นอารมณ์ไหม ต้องมีเหมือนกัน ถ้าไม่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ แม้แต่สัตว์ดิรัจฉานก็ย่อมมีชีวิตอยู่ไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าอะไรเป็นอาหาร อะไรไม่ใช่อาหาร
ผู้ที่มีบัญญัติเป็นอารมณ์ เช่น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย พระอนาคามีบุคคล พระสกทาคามีบุคคล พระโสดาบันบุคคล และปุถุชน ต่างกันอย่างไรหรือไม่ต่างกันเลย ผู้ที่เป็นพระอริยเจ้ากับผู้ที่เป็นปุถุชนต่างกันที่ปัญญา ปุถุชนที่ไม่รู้เรื่องปรมัตถธรรมเลยก็ยึดถือว่าบัญญัติเป็นสิ่งที่จริง แต่ผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจจธรรมแล้วรู้ว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สภาพธรรมที่เกิดขึ้นปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจไม่เที่ยง และบัญญัติไม่ใช่ปรมัตถธรรม ที่ชื่อว่าบัญญัตินั้นเพราะให้รู้ได้ด้วยประการนั้นๆ ฉะนั้น บัญญัติจึงเป็นอารมณ์ของจิตและเจตสิก ขณะรู้ความหมาย หรืออรรถของสิ่งที่ปรากฏ ถ้าไม่มีจิต เจตสิก มีบัญญัติได้ไหม สภาพธรรมเป็นสิ่งที่พิจารณาได้ตามเหตุผล ถ้าไม่มีจิต เจตสิก จะมีบัญญัติไม่ได้ ถ้ามีแต่รูปธรรมเท่านั้นไม่มีนามธรรมเลย ไม่มีจิต เจตสิกเลย จะมีบัญญัติไหม ไม่มี เพราะว่ารูปไม่ใช่สภาพที่รู้อารมณ์ จิตและเจตสิกเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ ถ้าจิตและเจตสิกไม่เกิดก็ไม่มีการรู้บัญญัติ การมีบัญญัติเป็นอารมณ์ของผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลกับผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคลนั้น ต่างกันที่ผู้ที่ไม่ใช่พระอริยบุคคลยึดถือบัญญัติว่าเป็นสิ่งที่มีจริง แต่ผู้ที่เป็นอริยบุคคลรู้ว่าจิตขณะใดมีปรมัตถธรรมเป็นอารมณ์ และจิตขณะใดมีบัญญัติเป็นอารมณ์
ขณะใดที่จิตรู้บัญญัติ คือกำลังมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ขณะนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิหรือเปล่า แล้วแต่ประเภทของจิตที่กำลังมีบัญญัติเป็นอารมณ์ พระอริยบุคคลทั้งหลายมีบัญญัติเป็นอารมณ์ แต่พระอริยบุคคลทั้งหลายไม่มีมิจฉาทิฏฐิ เพราะพระอริยบุคคลทั้งหลายดับทิฏฐิเจตสิกเป็นสมุจเฉท ถ้าไม่พิจารณาโดยละเอียดก็จะไม่รู้ว่าโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์กับโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ต่างกันอย่างไร โลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ยินดีพอใจในอารมณ์ทุกอย่าง พอใจสิ่งที่ปรากฏทางตา พอใจเสียงที่ปรากฏทางหู และบัญญัติของเสียงที่ได้ยินทางหูด้วย ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ โดยนัยเดียวกันเป็นชีวิตปกติประจำวัน ขณะใดที่ไม่มีความคิดเห็นผิดในเรื่องสภาพธรรม ขณะนั้นไม่ใช่โลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์
พระโสดาบันบุคคลและพระสกทาคามีบุคคล มีโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ ซึ่งเป็นไปในอารมณ์ทั้ง ๖ พระอนาคามีบุคคลมีโลภมูลจิตทิฏฐิคตวิปปยุตต์ในธัมมารมณ์ เพราะดับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ ซึ่งเป็นกามอารมณ์เป็นสมุจเฉท ส่วนพระอรหันต์นั้น แม้ว่ามีอารมณ์ ๖ แต่ก็ไม่มีทั้งกุศลธรรมและอกุศลธรรมใดๆ ทั้งสิ้น เพราะพระอรหันต์ดับกิเลสและอกุศลธรรมทั้งหมดเป็นสมุจเฉท ผู้ที่ไม่ใช่พระอรหันต์นั้น ถึงแม้จะรู้ลักษณะของอารมณ์ตามความเป็นจริงว่า ขณะใดเป็นปรมัตถธรรม ขณะใดเป็นบัญญัติ แม้กระนั้น เมื่อยังไม่ได้ดับกิเลสหมด จึงยังมีปัจจัยที่จะให้เป็นสุข เป็นทุกข์ ยินดี ยินร้ายไปตามปรมัตถอารมณ์และบัญญัติอารมณ์ตามขั้นของบุคคลนั้นๆ
ฉะนั้น จึงต้องพิจารณาโดยละเอียดว่า ขณะใดเป็นมิจฉาทิฏฐิ ขณะที่ยึดมั่นในบัญญัติต่างๆ ด้วยความเห็นผิดว่า สิ่งที่ไม่ใช่ปรมัตถธรรมนั้นมีจริง ในขณะนั้นเป็นสักกายทิฏฐิ เมื่อบัญญัติไม่ใช่ปรมัตถธรรม แต่เห็นผิด ยึดถือบัญญัติว่าเป็นสิ่งที่เป็นตัวตนจริงๆ เป็นสัตว์บุคคล เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ จริงๆ จึงเป็นความเห็นผิด เป็นสักกายทิฏฐิ เมื่อสักกายทิฏฐิยังไม่ดับเป็นสมุจเฉท ก็ย่อมจะเป็นปัจจัยให้เกิดความเห็นผิดประการต่างๆ เพิ่มขึ้นอีก เช่น เห็นว่ากรรมไม่มี ผลของกรรมไม่มี เห็นว่ามีพระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ผู้ทรงสร้างโลกและสัตว์บุคคลทั้งหลายทั้งปวง เมื่อไม่รู้ปัจจัยที่ทำให้สังขารธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น ก็ทำให้เกิดความเห็นผิดต่างๆ แต่ในขณะใดก็ตามที่จิตมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ขณะนั้นไม่ใช่มีมิจฉาทิฏฐิทุกครั้ง เพราะมิจฉาทิฏฐิต้องเป็นขณะที่ยึดมั่นในความเห็นผิดต่างๆ
โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ จัดพิมพ์เผยแพร่ โดย คณะกรรมการ ศิลปะและวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนม์พรรษา ครบ ๗๕ พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๕
ขอเชิญอ่านหรือดาวน์โหลดหนังสือ ...
ขออนุโมทนาขออุทิศกุศลแด่คุณพ่อ คุณแม่ และสรรพสัตว์