น้อมประพฤติปฏิบัติตาม
คำนี้เคยได้ยินบ่อยๆ แต่เพิ่งจะเข้าใจความหมายที่ลึกซึ้งในวันนี้เอง เมื่อได้พิมพ์คำบรรยายแนวทางเจริญวิปัสสนาครั้งที่ ๑๖๒๐ ท่านอาจารย์อธิบายคำว่า “น้อมประพฤติปฏิบัติตาม” ไว้ว่า
“เพราะเหตุว่าประโยชน์ของการฟังพระธรรมให้เข้าใจ เพื่อการปฏิบัติตาม นี่สำคัญที่สุดค่ะ และไม่ใช่แต่เฉพาะในขั้นของการเจริญสติปัฏฐานเท่านั้น ทุกขั้น ไม่ว่าจะทรงแสดงเรื่องของความไม่โกรธ ทุกคนที่ยังโกรธอยู่ คิดยังไง ยังจะเป็นผู้ว่ายาก คือว่าอยากจะโกรธต่อไปอีก หรือว่าเป็นผู้น้อมไปที่จะไม่โกรธ เพราะเหตุว่าจะไม่โกรธทันที เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่แม้กระนั้นพระธรรมที่ได้ฟังก็ทำให้จิตอ่อนโยน แล้วก็มีศรัทธาที่จะน้อมไปที่จะประพฤติปฏิบัติตาม ที่ใช้คำว่า “น้อมประพฤติปฏิบัติตาม” เพราะเหตุว่าทุกคนยังปฏิบัติตามทันทีไม่ได้ตรงตามที่ได้เข้าใจ เช่น เข้าใจว่า โลภะไม่ดี โทสะไม่ดี โมหะไม่ดี แต่ว่าใครจะละโลภะ โทสะ โมหะ ได้ในเมื่อปัญญายังไม่เจริญขึ้นถึงขั้นที่จะละได้
เพราะฉะนั้น ทุกคนฟังพระธรรมเพื่อเข้าใจในเหตุในผล อกุศลเป็นอกุศล เป็นโทษ กุศลเป็นกุศล ไม่เป็นโทษ ถ้าเข้าใจอย่างนี้แล้วก็น้อมไปที่จะละอกุศล และเจริญกุศลยิ่งขึ้น ไม่ใช่ยังเป็นผู้ที่แข็งกระด้าง ว่ายาก ไม่ว่าพระธรรมจะว่าอย่างไร แต่ใจยังต้องการที่จะเป็นอกุศลต่อไปอีก ถ้าเป็นอย่างนั้นก็จะไม่ได้รับประโยชน์จากการฟังพระธรรม เพราะฉะนั้นผู้ที่ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมก็ตั้งแต่ในขั้นต้นจนถึงขั้นสุดท้าย คือ ปฏิบัติธรรมในขั้นที่ทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้
ถ้าไม่เข้าใจแล้ว จะทำให้ปฏิบัติธรรมที่ทำให้รู้แจ้งอริยสัจธรรมก็ไม่ได้ ถ้ายังเป็นผู้ที่ว่ายาก ไม่อดทน มักโกรธ ก็ไม่สามารถที่จะเห็นประโยชน์ของการเป็นผู้ว่าง่าย อดทน และน้อมไปที่จะเจริญกุศลยิ่งขึ้น”
อย่างนั้นก็ถูกแล้ว ที่เรายังให้อภัยทันทีไม่ได้ แต่ก็ได้น้อมไปที่ละค่อยๆ ขัดเกลาไปทีละเล็กละน้อย น้อมไป ไม่ใช่แข็งกระด้างโกรธอยู่อย่างเดิม แต่ค่อยๆ โกรธน้อยลงๆ ตามกำลังของปัญญาที่เพิ่มขึ้น
เมื่อน้อมระลึกถึง พุทธจริยาที่พระพุทธองค์ ทรงประสบกับธรรมฝ่ายไม่น่าปราถนา ถูกใส่ร้าย ป้ายสี ด่าว่าให้เสียหาย ฯลฯ
เป็นถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังมีผู้เห็นผิด กล้าทำในสิ่งที่ไม่สมควร
แล้วเราเป็นใคร ทำให้อาจหาญ ร่าเริง อดทน ต่อ ธรรมเพราะมีพระพุทธองค์ทรงเป็นแบบอย่างเพื่อน้อมประพฤติตาม ด้วยศรัทธาและความเข้าใจ ไม่ฝืน ไม่ขืน
อนุโมทนาค่ะ