ทุติยอาฆาตวินยสูตร .. ธรรมระงับความอาฆาต ๕ ประการ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  5 ต.ค. 2552
หมายเลข  13863
อ่าน  2,221

Oo๐ ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ๐oO

... สนทนาธรรมที่ ...

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ ๑๐ ต.ค. ๒๕๕๒ เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. คือ

ทุติยอาฆาตวินยสูตร

ว่าด้วยธรรมระงับความอาฆาต ๕ ประการ

จาก ... [เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๓๓๙

... นำสนทนาโดย ...

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ ๓๓๙

๒. ทุติยอาฆาตวินยสูตร

ว่าด้วยธรรมระงับความอาฆาต ๕ ประการ

[๑๖๒] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรได้เรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่า ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย ธรรมเป็นที่ระงับความอาฆาต ซึ่งเกิดขึ้นแก่ภิกษุโดยประการทั้งปวง ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน? คือ ...

บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ (แต่) เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลแม้เช่นนี้ อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ (แต่) เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลแม้เช่นนี้ อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ แต่ย่อมได้ทางสงบใจ ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลแม้เช่นนี้ อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ และย่อมไม่ได้ทางสงบใจไม่ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลแม้เช่นนี้ อนึ่ง บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติวาจาบริสุทธิ์ และย่อมได้สงบทางใจ ย่อมได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลแม้เช่นนี้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในบุคคล ๕ จำพวกนั้น บุคคลใด เป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ (แต่) เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างไร เหมือนอย่างว่า ภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุล เป็นวัตร เห็นผ้าเก่าที่ถนน เหยียบให้มั่นด้วยเท้าซ้าย เขี่ยออกดูด้วยเท้าขวา ส่วนใดเป็นสาระ ก็เลือกถือเอาส่วนนั้นแล้วหลีกไป แม้ฉันใด บุคคลใดเป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ (แต่) เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุไม่พึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น ส่วนความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุพึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น ฉันนั้น ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้น อย่างนี้.

ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย บุคคลใด เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ (แต่) เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างไร เหมือนอย่างว่า สระน้ำที่ถูกสาหร่ายและแหนคลุมไว้ บุรุษผู้เดินทางร้อนอบอ้าว เหนื่อยอ่อนกระหายน้ำ เขาลงสู่สระน้ำนั้น แหวกสาหร่ายและแหนด้วยมือทั้งสองแล้ว กอบน้ำขึ้นดื่มแล้วพึงไป แม้ฉันใด บุคคลใด เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ (แต่) เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ ความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุไม่พึงใส่ใจในส่วนนั้นในสมัยนั้น ส่วนความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุพึงใส่ใจในส่วนนั้นในสมัยนั้น ฉันนั้น ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนี้อย่างนี้.

ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย บุคคลใด เป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ แต่ย่อมได้ทางสงบใจ ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างไร เหมือนอย่างว่า น้ำเล็กน้อยมีอยู่ในรอยโค บุรุษผู้เดินทางร้อนอบอ้าวเหนื่อยอ่อน กระหายน้ำ เขาพึงเกิดความคิดอย่างนี้ว่า น้ำเล็กน้อยมีอยู่ในรอยโคนี้ ถ้าเราจะกอบขึ้นดื่มหรือใช้ภาชนะตักขึ้นดื่มไซร้ เราก็จักทำน้ำนั้นให้ ไหวบ้าง ให้ขุ่นบ้าง ให้ไม่เป็นที่ควรดื่มบ้าง ถ้ากระไรเราพึงคุกเข่า ก้มลงดื่ม น้ำอย่างโคดื่มน้ำแล้วหลีกไปเถิด เขาคุกเข่าก้มลงดื่มน้ำอย่างโคดื่มน้ำแล้วไปแม้ฉันใด บุคคลใด เป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ แต่ย่อมได้ทางสงบใจ ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร ความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุไม่พึงใส่ใจส่วนนั้นสมัยนั้น แม้ความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุก็ไม่พึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น แต่การได้ทางสงบใจ ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร ส่วนใดของเขา ภิกษุพึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น ฉันนั้น ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างนั้น.

ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย บุคคลใด เป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์และย่อมไม่ได้ทางสงบใจ ไม่ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างไร เหมือนอย่างว่า บุรุษผู้อาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก เดินทางไกลแม้ข้างหน้าเขาก็มีบ้านอยู่ไกล แม้ข้างหลังเขาก็มีบ้านอยู่ไกล เขาไม่พึงได้อาหารที่สบาย (ถูกโรค) เภสัชที่สบาย ผู้พยาบาลที่สมควร และผู้นำทางไปสู่บ้าน บุรุษบางคนผู้เดินทางไกลพึงเห็นเขา บุรุษนั้นพึงเข้าไปตั้งความกรุณา ความเอ็นดู ความอนุเคราะห์ในเขาว่า โอ คนๆ นี้พึงได้อาหารที่สบายเภสัชที่สบาย ผู้พยาบาลที่สมควร และผู้นำทางไปสู่บ้าน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะเหตุว่า คนๆ นี้อย่าถึงความพินาศฉิบหาย ณ ที่นี้เลย แม้ฉันใด บุคคลใดเป็นผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ และย่อมไม่ได้ทางสงบใจไม่ได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร ภิกษุพึงเข้าไปตั้งความกรุณาความเอ็นดู ความอนุเคราะห์ ในบุคคลแม้เห็นปานนี้ว่า โอท่านผู้นี้พึงละกายทุจริตแล้ว อบรมกายสุจริต พึงละวจีทุจริตแล้ว อบรมวจี-สุจริต พึงละมโนทุจริตแล้ว อบรมมโนสุจริต ข้อนั้นเพราะเหตุไรเพราะเหตุว่า ท่านผู้นี้เมื่อตายไปแล้ว อย่าเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาตนรก ฉันนั้น ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างนี้.

ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย บุคคลใด เป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ย่อมได้ทางสงบใจ และย่อมได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร ภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างไร เหมือนอย่างว่า สระน้ำที่มีน้ำใส มีน้ำอร่อยดี มีน้ำเย็น มีน้ำขาว มีท่าน้ำราบเรียบ น่ารื่นรมย์ดาดาษไปด้วยต้นไม้พันธุ์ต่างๆ บุคคลผู้เดินทางร้อนอบอ้าวเหนื่อยอ่อน กระหายน้ำ เขาพึงลงสู่สระน้ำนั้น อาบบ้าง ดื่มบ้างแล้วขึ้นมานั่งบ้าง นอนบ้าง ที่ร่มไม้ใกล้สระน้ำนั้น แม้ฉันใด บุคคลใดเป็นผู้มีความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ เป็นผู้มีความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ ย่อมได้ทางสงบใจ และย่อมได้ความเลื่อมใสโดยกาลอันสมควร แม้ความประพฤติทางกายบริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุพึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น แม้ความประพฤติทางวาจาบริสุทธิ์ส่วนใดของเขา ภิกษุพึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น แม้การได้ทางสงบใจ ได้ความเลื่อมใสโดยการอันสมควร ส่วนใดของเขา ภิกษุพึงใส่ใจส่วนนั้นในสมัยนั้น ฉันนั้นภิกษุพึงระงับความอาฆาตในบุคคลนั้นอย่างนี้. ดูก่อนอาวุโสทั้งหลายเพราะอาศัยบุคคลผู้เป็นที่น่าเลื่อมใสโดยประการทั้งปวง จิตย่อมเลื่อมใส.

ดูก่อนอาวุโสทั้งหลาย ธรรมเป็นที่ระงับความอาฆาต ซึ่งเกิดขึ้นแก่ภิกษุโดยประการทั้งปวง ๕ ประการนี้แล.

จบทุติยอาฆาตวินยสูตรที่ ๒


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
aurasa
วันที่ 5 ต.ค. 2552

อนุโมทนาคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Jans
วันที่ 6 ต.ค. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 6 ต.ค. 2552

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ข้อความโดยสรุป ทุติยอาฆาตวินยสูตร (ว่าด้วยธรรมระงับความอาฆาต ๕ ประการ)

----------------------

ท่านพระสารีบุตรเถระ ได้แสดงธรรมอันเครื่องระงับความอาฆาต ๕ ประการ (ในบุคคล ๕ จำพวก) แก่ภิกษุทั้งหลาย ดังนี้ คือ ๑. บุคคลผู้มีความประพฤติทางกายไม่บริสุทธิ์ แต่ทางวาจาบริสุทธิ์ ภิกษุไม่พึงใส่ใจในความประพฤติที่ไม่ดีทางกายของเขา พึงใส่ใจเฉพาะความประพฤติดีทางวาจาเท่านั้น ๒. บุคคลผู้มีความประพฤติทางวาจาไม่บริสุทธิ์ แต่ทางกายบริสุทธิ์ ภิกษุไม่พึงใส่ใจในความประพฤติที่ไม่ดีทางวาจาของเขา พึงใส่ใจเฉพาะความประพฤติดีทางกายเท่านั้น ๓. บุคคลผู้มีความประพฤติทางกายและทางวาจาไม่บริสุทธิ์ แต่ได้ทางสงบใจ ได้ความเลื่อมใสตามกาลอันควร ภิกษุไม่พึงใส่ใจในความประพฤติที่ไม่ดีทางกายและทางวาจาของเขา พึงใส่ใจเฉพาะความประพฤติดีทางใจ เท่านั้น ๔. บุคคลผู้มีความประพฤติไม่บริสุทธิ์ทั้งทางกาย ทางวาจาและทางใจ ภิกษุพึงเป็นผู้เข้าไปตั้งความกรุณา ความเอ็นดู ความอนุเคราะห์ ปรารถนาให้เขาได้ละความประพฤติไม่ดีเหล่านั้นเสีย ๕. บุคคลผู้มีความประพฤติที่บริสุทธิ์ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ภิกษุพึงใส่ใจในความประพฤติที่ดีของบุคคลนั้นได้ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ เมื่อเป็นเช่นนี้ ความอาฆาตย่อมจะระงับลงไปได้. ...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 6 ต.ค. 2552

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
พุทธรักษา
วันที่ 6 ต.ค. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุญาตคัดลอกข้อความบางตอนจากหนังสือ "บทสนทนาธรรม"



พระผู้มีพระภาคฯ ไม่ทรงสอน ไม่ทรงสนับสนุนให้เกิดมี "อกุศลจิต"ในบุคคลใดๆ เลยแม้บุคคลนั้น จะไม่มีอะไรดีเลยสักอย่างเดียวแต่พระองค์ทรงสอนให้ พิจารณา...เพื่อให้เกิด "กุศลจิต"

แม้คนดีๆ ที่มีความประพฤติทางกาย และ ทางวาจาดีก็อาจเป็นที่ขุ่นเคืองของบุคคล..."ผู้มักเพ่งโทษผู้อื่น"

บุคคลใด ไม่รู้ตามความเป็นจริงคือ กุศล และ อกุศล ของตนเองและไม่เห็นโทษภัยของอกุศล แม้เพียงเล็กน้อยก็อาจจะสั่งสม และ และเจริญโทษภัยในของอกุศลด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์...ด้วยความหลงผิด.................................

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
orawan.c
วันที่ 7 ต.ค. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
pornpaon
วันที่ 7 ต.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
hadezz
วันที่ 8 ต.ค. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ups
วันที่ 8 ต.ค. 2552

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ประสาน
วันที่ 8 ต.ค. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
เมตตา
วันที่ 9 ต.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
h_peijen
วันที่ 10 ต.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
dhammastudy1
วันที่ 11 ต.ค. 2552

ขอขอบคุณและอนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
suwit02
วันที่ 12 ต.ค. 2552

สาธุ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ