บุคควรที่ควรเสพ...บุคคลที่ไม่ควรเสพ

 
พุทธรักษา
วันที่  7 ต.ค. 2552
หมายเลข  13880
อ่าน  1,326

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นัน

ว. ถ้าเราจำเป็นจะต้องเข้าไปรวมอยู่ในกลุ่มของคนที่มีอุปนิสัย ชอบพูดกันถึงแต่เรื่องราวที่ไม่ดี ของบุคคลอื่น จะพิจารณาอย่างไร จิตใจจึงจะไม่เศร้าหมอง ไม่เป็นอกุศลไปด้วย

ส.
ถ้ามีเมตตาต่อบุคคลนั้น ก็พยายามชักชวนให้เขาเข้าใจ และ ประพฤติในทางที่ดีได้ ก็เป็นกุศลอย่างมากค่ะได้ชื่อว่า ได้ทำประโยชน์ ทั้งต่อตนเอง คือเจริญกุศลด้วยความเมตตาในผู้อื่นและ ยังได้สงเคราะห์ผู้อื่น ให้ประพฤติปฏิบัติดีเป็นการช่วยให้ผู้นั้น ให้ได้เจริญกุศลด้วย

ว.
แต่ถ้าสุดวิสัยที่จะช่วยเขาได้หรือ เพราะเขาไม่อยู่ในฐานะที่เราจะไปช่วยเขาได้เช่น ถ้าเขาเป็นบุคคลที่มีความเห็นแรงกล้า ว่า เขาทำถูกและ เขาเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองมากทีเดียว ว่าเขาเป็นเลิศกว่าบุคคลอื่น ใจของเรา ก็ห้ามไม่ให้เกิดอกุศลไม่ได้เพราะการได้เห็น ได้ยิน ในสิ่งที่เราเห็นว่าไม่ควรก็ย่อมเป็นเหตุให้ใจของเราเดือดร้อน เศร้าหมอง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราควรจะพิจารณาอย่างไรละคะ

ส. ถ้าอย่างนั้น...เราต้องหลีกเลี่ยงที่จะพบปะ หรือ คบหาสมาคมกับบุคคลนั้น เพราะว่า การคบหาสมาคมกับบุคคลนั้นย่อมจะทำให้ชีวิตสั้นๆ ของการเกิดมาเป็นมนุษย์ของเรานั้นพลอยไร้ประโยชน์ไปด้วยเพราะนอกจากจิตใจของเรา จะพลอยเป็นอกุศลไปด้วยแล้วบุคคลนั้น อาจชักนำเราไปในทางอกุศลยิ่งขึ้นเพราะฉะนั้น แทนที่การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ของเราในชาตินี้ จะเป็นประโยชน์ เพราะได้มีโอกาสเจริญกุศลให้มากยิ่งขึ้นก็กลับจะไร้ประโยชน์ เพราะไม่ได้เจริญกุศลให้ยิ่งขึ้นเลยค่ะ

ว. บุคคลอื่นๆ ก็มีความสำคัญต่อชีวิตของเรามากเพราะว่า เราจะอยู่คนเดียวในโลกนั้น เป็นไปไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิต หรือ คฤหัสถ์โดยเฉพาะคฤหัสถ์อย่างเรา ก็ย่อมมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันบางครั้งก็ต้องพึ่งพาอาศัยกัน โดยประการต่างๆ สำหรับในเรื่อง ความสำคัญของบุคคล ที่เราคบหาสมาคมที่ทำให้จิตเป็นกุศล หรือ อกุศล นั้นพระผู้มีพระภาค ทรงแสดงไว้อย่างไร

ส. ใน มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ สีหนาทวรรควนปัตถสูตร ข้อ ๒๓๔-๒๔๒พระผู้มีพระภาคฯ ทรงแสดงธรรมแก่พระภิกษุทั้งหลาย ว่า ภิกษุ เข้าไปอาศัยบุคคลใด บุคคลหนึ่งแล้วกุศลธรรมไม่เจริญ ก็ไม่ควรพัวพันกับบุคคลนั้นเลยควรจะหลีกไปจากผู้นั้น โดยไม่ต้องบอกไม่ว่าจะเป็นในเวลากลางวัน หรือในกลางคืน ก็ตาม.แต่บุคคลใด ที่ภิกษุเข้าไปอาศัย แล้วกุศลธรรมเจริญ ก็ควรจะพัวพัน คือ คบหาสมาคมกับบุคคลนั้น จนตลอดชีวิตไม่ควรจะหลีกไป ถึงแม้ถูกขับไล่ก็ตาม

ในอังคุตตรนิกาย นวกนิบาต สัมโพธวรรคที่ ๑ เสวนาสูตร ข้อ ๒๑๐

ท่านพระสารีบุตร ได้แสดงธรรมที่พระผู้มีพระภาคฯ ทรงแสดงนี้แก่ภิกษุทั้งหลาย เพื่อให้เห็น ลักษณะของบุคคลที่ควรเสพ และ ไม่ควรเสพ ว่า เมื่อคบหาบุคคลใด แล้วอกุศลธรรมเจริญ กุศลธรรมเสื่อมไม่ถึงความบริบูรณ์ด้วยภาวนาถ้ารู้อย่างนั้น ในเวลากลางคืน ก็ให้หลีกไปเสีย ในเวลากลางคืนโดยไม่ต้องบอกลา ถ้ารู้อย่างนั้น ในเวลากลางวัน ก็ให้หลีกไปเสีย ในเวลากลางวันโดยไม่ต้องบอกลา

ข้อความบางตอนจากหนังสือ
"บทสนทนาธรรม" โดย มูลนิธิศึกษาและ
เผยแพร่พระพุทธศาสนา

ขออนุโมทนา

ขออุทิศกุศลแด่คุณพ่อ คุณแม่ และ สรรพสัตว์


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
shumporn.t
วันที่ 7 ต.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
วิริยะ
วันที่ 8 ต.ค. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ups
วันที่ 8 ต.ค. 2552

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ลุงกิด
วันที่ 6 พ.ย. 2552

ผมอ่านแล้วค่อนข้างงง นะครับ ทำไมใช้คำว่า ควรเสพ น่าจะใช้คำว่า การคบหาสมาคมกับคน เช่น คบคนพาลพาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล อะไรทำนองนี้หรือ ไม่ควรคบคนพาล ควรหลีกเลี่ยง เป็นต้น ไม่รู้นะครับ

ผมรู้สึกงงๆ ๆ นะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
prachern.s
วันที่ 7 พ.ย. 2552

คำว่า เสพ แปลมาจากคำว่า เสวนะ หรือ เสวนา จะแปลว่า เสพ หรือคบ ซึ่งหมายถึงการเข้าไปหา การเข้าไปนั่งใกล้ การฟังคำสอน การกระทำตามเป็นเพียงภาษาถ้าเข้าใจคำไหนก็ใช้ได้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ