เทวทูตสูตร ว่าด้วยเทวทูตที่ ๑ - ๕
ข้อความบางตอนจาก เทวทูตสูตร
[เล่มที่ 23] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 190
ว่าด้วยเทวทูตที่ ๑
[๕๐๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระยายมจะปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๑ กะสัตว์นั้นว่า ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๑ ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ.
สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลยเจ้าข้า.
พระยายมถามอย่างนี้ว่าดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเด็กแดงๆ ยังอ่อนนอนแบ เปื้อนมูตรคูถของตนอยู่ในหมู่มนุษย์หรือ.
สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็นเจ้าข้า.
พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความมีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความเกิดเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเกิดไปได้ ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจาและทางใจ.
[๕๐๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๑ กะสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถาม
เทวทูตที่ ๒ ว่า
ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๒ ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ.
สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า.
พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นหญิงหรือชายมีอายุ ๘๐ ปี ๙๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปี นับแต่เกิดมา ผู้แก่ ซี่โครงคด หลังงอ ถือไม้เท้า งกเงิ่น เดินไป กระสับกระส่าย ล่วงวัยหนุ่มสาว ฟันหัก ผมหงอก หนังย่น ศีรษะล้าน เหี่ยว ตัวตกกระ ในหมู่มนุษย์หรือ.
สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็น เจ้าข้า.
พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความมีสติ เป็นผู่ใหญ่แล้ว ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ.
ว่าด้วยเทวทูตที่ ๓
[๕๐๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๒ กะสัตว์นั้น แล้วจึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๓ ว่า ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๓ ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ.
สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า.
พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นหญิงหรือชาย ผู้ป่วย ทนทุกข์เป็นไข้หนัก นอนเปื้อนมูตรคูถของตน มีคนอื่นคอยพยุงลุกพยุงเดิน ในหมู่มนุษย์หรือ.
สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็น เจ้าข้า.
พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความมีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความเจ็บป่วยไปได้ ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ.
ว่าด้วยเทวทูตที่ ๔
ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๔ ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ.
สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า.
พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นพระราชาทั้งหลาย ในหมู่มนุษย์จับโจรผู้ประพฤติผิดมาแล้ว สั่งลงกรรมกรณ์ต่างชนิดบ้างหรือ คือ โบยด้วยแส้ เป็นต้น
ว่าด้วยเทวทูตที่ ๕
[๕๑๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๔ กะสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๕ ว่า ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๕ ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ.
สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า.
พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นหญิงหรือชายที่ตายแล้ววันหนึ่ง หรือสองวัน หรือสามวัน ขึ้นพอง เขียวช้ำ มีน้ำเหลืองเยิ้มในหมู่มนุษย์หรือ
สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็น เจ้าข้า
พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความ มีสติ เป็นผู้ใหญ่แล้ว ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความตายเป็นธรรมดาไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจาและทางใจ.
สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสีย เจ้าข้า.
พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลงโทษ โดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรนนี้นั้นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสายโลหิตทำให้ ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้น จักเสวยวิบากของบาปกรรมนี้.
นรชนเหล่าใดยังเป็นมาณพ อันเทวทูตตักเตือนแล้ว ประมาทอยู่ นรชนเหล่านั้นจะเข้าถึงหมู่สัตว์เลว เศร้าโศกสิ้นกาลนาน ส่วนนรชนเหล่าใด เป็นสัตบุรุษผู้สงบระงับในโลกนี้ อันเทวทูตตักเตือนแล้ว ย่อมไม่ประมาทในธรรมของพระอริยะในกาลไหนๆ เห็นภัยในความถือมั่นอันเป็นเหตุ แห่งชาติและมรณะแล้ว ไม่ถือมั่น หลุดพ้นในธรรม เป็นที่สิ้นชาติและมรณะได้
นรชนเหล่านั้น เป็นผู้ถึงความเกษม มีสุข ดับสนิทในปัจจุบัน ล่วงเวรและภัยทั้งปวง และเข้าไปล่วงทุกข์ทั้งปวงได้.
สาธุ
สรุปว่า การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของสัตว์ทั้งหลาย เรียกว่า เทวทูต
สาธุ