มหาจุนทเถรคาถา

 
Khaeota
วันที่  8 ต.ค. 2552
หมายเลข  13898
อ่าน  1,517

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๒ - หน้าที่ 49

เถรคาถา เอกนิบาต วรรคที่ ๒

๑. มหาจุนทเถรคาถา

อรรถกถามหาจุนทเถรคาถา

คาถาของท่านพระมหาจุนทเถระ เริ่มต้นว่า สุสฺสูสา. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?

แม้พระเถระนี้ ก็เป็นผู้มีอธิการอันกระทำไว้แล้ว ในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญไว้ในภพนั้นๆ บังเกิดในตระกูลช่างหม้อ ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระนามว่า วิปัสสี บรรลุนิติภาวะแล้ว เลี้ยงชีพด้วยงานของนายช่างหม้อ วันหนึ่งเห็นพระศาสดาแล้ว มีใจเลื่อมใส ทำบาตรดินลูกหนึ่ง ตกแต่งเป็นอย่างดี ถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า.

ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดเป็นบุตรของนางรูปสารีพราหมณี เป็นน้องชายคนเล็ก ของพระเถระชื่อว่าสารีบุตร ในนาลกคาม แคว้นมคธ ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้มีนามว่าจุนทะ. เขาเจริญวัยแล้ว บวชตามพระธรรมเสนาบดี (สารีบุตร) อาศัย พระธรรมเสนาบดี เริ่มตั้งวิปัสสนา เพียรพยายามอยู่ ได้เป็นผู้มีอภิญญา ๖ ต่อกาลไม่นานนัก. สมดังคาถาประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า

ข้าพระองค์ เป็นช่างหม้ออยู่ในหงสาวดี ได้เห็นพระพุทธเจ้า ผู้ปราศจากกิเลสธุลี มีโอฆะอันข้ามได้แล้ว ไม่มีอาสวะ ข้าพระองค์ได้ถวายบาตรดินที่ทำดีแล้ว แด่พระพุทธเจ้า ผู้ประเสริฐสุด ครั้นถวายบาตรแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ตรง คงที่แล้ว เมื่อข้าพระองค์เกิดในภพ ย่อมได้ภาชนะทอง และจานที่ทำด้วยเงิน ทำด้วยทอง และทำด้วยแก้วมณี ข้าพระองค์บริโภคในถาด นี้เป็นผลแห่งบุญกรรม ข้าพระองค์เป็นผู้เลิศกว่าชนทั้งหลายโดยยศ พืชแม้มีน้อย แต่หว่านลงในนาดี เมื่อฝนยังท่อธารให้ตกลงทั่ว โดยชอบ ผลย่อมยังชาวนาให้ยินดีได้ฉันใด การถวายบาตรนี้ก็ฉันนั้นข้าพระองค์ได้หว่านลงในพุทธเขต เมื่อท่อธารคือปีติตกลงอยู่ ผลจักทำข้าพระองค์ให้ยินดี เขตคือหมู่และคณะมีประมาณเท่าใด ที่จะให้ความสุขแก่สรรพสัตว์ เสมอด้วยพุทธเขตไม่มีเลย ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นบุรุษอาชาไนย ข้าพระองค์ขอนอบน้อมแด่พระองค์ ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นอุดมบุรุษ ข้าพระองค์ขอนอบน้อมแด่พระองค์ ข้าพระองค์บรรลุบทอันไม่หวั่นไหว ก็เพราะได้ถวายบาตรใบหนึ่ง ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ ข้าพระองค์ได้ถวายบาตรใดในกาลนั้น ด้วยการถวายบาตรนั้น ข้าพระองค์ไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายบาตร. ข้าพระองค์เผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า ข้าพระองค์ กระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

ก็พระเถระเป็นผู้มีอภิญญา ๖ แล้ว เมื่อจะสรรเสริญอุปนิสัยของครูและการอยู่อย่างวิเวก อันเป็นเหตุแห่งสมบัติที่ตนได้แล้ว ได้กล่าวคาถา ๒ คาถา ความว่า

การฟังดีเป็นเหตุให้ฟังเจริญ การฟังเป็นเหตุให้เจริญปัญญา บุคคลจะรู้ประโยชน์ ก็เพราะปัญญา ประโยชน์ที่บุคคลรู้แล้ว ย่อมนำสุขมาให้ ภิกษุควรซ่องเสพเสนาสนะอันสงัด ควรประพฤติธรรมอันเป็นเหตุให้จิตหลุดพ้นจากสังโยชน์ ถ้ายังไม่ได้ประสบความยินดี ในเสนาสนะอันสงัด และธรรมนั้น ก็ควรเป็นผู้มีสติ รักษาตนอยู่ในหมู่สงฆ์ ดังนี้.


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 9 ต.ค. 2552

การฟังดีเป็นเหตุให้ฟังเจริญ

การฟังเป็นเหตุให้เจริญปัญญา

บุคคลจะรู้ประโยชน์ก็เพราะปัญญา

ประโยชน์ที่บุคคลรู้แล้วย่อมนำสุขมาให้

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 15 ส.ค. 2567

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ