วิปัสสนูปกิเลส
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๑ - หน้าที่ 374
บทว่า มคฺคามคฺคณาณทสฺสนวิสุทฺธิ ได้แก่ วิปัสสนูปกิเลส ๑๐ คือ :-
โอภาส - แสงสว่าง ๑
ญาณ - ความรู้ ๑
ปีติ - ความอิ่มใจ ๑
ปัสสัทธิ - ความสงบ ๑
สุข - ความสุข ๑
อธิโมกข์ - ความน้อมใจเชื่อ ๑
ปัคคหะ - ความเพียร ๑
อุปัฏฐาน - ความตั้งมั่น ๑
อุเบกขา - ความวางเฉย ๑
นิกันติ - ความใคร่ ๑
ภิกษุผู้เจริญวิปัสสนาไม่ฉลาด เมื่อโอภาสนั้นเกิดคิดว่า โอภาสเห็นปานนี้ ยังไม่เคยเกิดแก่เรามาก่อน จากนี้เลยหนอ เราเป็นผู้บรรลุมรรคบรรลุผลแน่แท้แล้ว จึงถือเอาสิ่งที่ไม่ใช่มรรคนั่นแหละว่า เป็นมรรค สิ่งที่ไม่ใช่ผลนั่นแหละว่าเป็นผล.
บทว่า ญาณํ อุปฺปชฺชติ ญาณย่อมเกิดขึ้น คือ เมื่อพระโยคาวจรนั้นพิจารณาอย่างรอบคอบถึงรูปธรรมและอรูปธรรม วิปัสสนาญาณอันเฉียบแหลมแข็งแกร่งกล้ายิ่งนัก มีกำลังไม่ถูกกำจัด ย่อมเกิดขึ้นดุจวชิระของพระอินทร์ที่ปล่อยออกไปฉะนั้น.
บทว่า ปีติ อุปฺปชฺชติ ปีติย่อมเกิดขึ้น คือ ในสมัยนั้น ปีติสัมปยุตด้วยวิปัสสนา ๕ อย่างนี้ คือ
ขุททกาปีติ (ปีติอย่างน้อย) ๑
ขณิกาปีติ (ปีติชั่วขณะ) ๑
โอกกันติกาปีติ (ปีติเป็นพักๆ ) ๑
อุพเพงคาปีติ (ปีติอย่างโลดโผน) ๑
ผรณาปีติ (ปีติซาบซ่าน) ๑
ย่อมเกิดขึ้นแก่พระโยคาวจรนั้น ยังสรีระทั้งสิ้นให้อิ่มเอม.
บทว่า ปสฺสทฺธิ อุปฺปชฺชติ ความสงบย่อมเกิดขึ้นคือ ในสมัยนั้น พระโยคาวจรนั้น ไม่มีความกระวนกระวายของกายและจิต ไม่มีความหนัก ไม่มีความหยาบ ไม่มีความไม่ควรแก่การงาน ไม่มีความไข้ ไม่มีความคด
แต่ที่แท้พระโยคาวจรนั้น มีกายและจิตสงบเบาอ่อน ควรแก่การงานคล่องแคล่วเฉียบแหลม ตรง. พระโยคาวจรนั้นมีกายและจิตอันเป็นปัสสัทธิเป็นต้นเหล่านี้ อนุเคราะห์แล้ว ย่อมเสวยความยินดีอันมิใช่ของมนุษย์ในสมัยนั้น ...