คำของพระอรหันต์ [นันทนสูตร]

 
พุทธรักษา
วันที่  14 ต.ค. 2552
หมายเลข  13963
อ่าน  1,596

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้าที่ 70-74

นันทนสูตร

ว่าด้วยคำของพระอรหันต์

[๒๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย "ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว

[๒๔] พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์องค์หนึ่งแวดล้อมด้วยหมู่นางอัปสร อิ่มเอิบ พรั่งพร้อมด้วยเบญจกามคุณอันเป็นทิพย์ พวกนางอัปสร บำเรออยู่ในสวนนันทนวัน ได้กล่าวคาถานี้ในเวลานั้นว่า เทวดาเหล่าใด ไม่เห็นนันทนวันอันเป็นที่อยู่ของหมู่นรเทพ สามสิบ ผู้มียศเทวดาเหล่านั้นย่อมไม่รู้จักความสุข

[๒๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเมื่อเทวดานั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว เทวดาองค์หนึ่งได้ย้อนกล่าวกะเทวดานั้น ด้วยคาถาว่า ดูก่อนท่านผู้เขลา ท่านย่อมไม่รู้จักคำของพระอรหันต์ทั้งหลายว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความสงบระงับสังขารเหล่านั้นเสียได้เป็นสุข

อรรถกถานันทนสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในสูตรที่ ๑ แห่ง นันทนวรรคต่อไป :-

บทว่า ตตฺร แปลว่า ในพระอารามนั้น.ศัพท์ว่า โข สักว่าเป็นนิบาต อันสามารถทำพยัญชนะให้สละสลวย

บทว่า ภิกฺขู อามนฺเตสิ ได้แก่ย่อมให้ภิกษุทั้งหลาย ซึ่งเป็นบริษัทผู้เลิศทราบ

บทว่า ภิกฺขโว เป็นบทแสดงถึงอาการที่เรียกภิกษุเหล่านั้นมา

บทว่า ภทนฺเต เป็นคำทูลรับพระดำรัส

บทว่า เต ภิกฺขู ความว่าภิกษุเหล่าใด เป็นผู้มีหน้าเฉพาะซึ่งจะรับพระธรรมเทศนา คือ ภิกษุเหล่านั้น

บทว่า ภควโต ปจฺจสฺโสสุํ ความว่า ภิกษุเหล่านั้น ฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว เป็นผู้มีหน้าเฉพาะ คือ ฟังแล้วทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคเจ้า

บทว่า เอตทโวจ ความว่า บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำเป็นอาทิว่า เรื่องนี้ได้เคยมีมาแล้ว ดังนี้

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตาวตึสกายิกา ได้แก่ เกิดในหมู่ของเทวดาชั้นดาวดึงส์ ท่านเรียกเทวโลกชั้นที่สองว่า ตาวติงสกายะ (แปลว่ามีพวก ๓๓ หรือหมู่นรเทพ ๓๓) อาจารย์ทั้งหลายกล่าวว่าได้ยินว่า บัญญัติชื่อว่า ตาวติงสกายะ นี้เกิดขึ้นในเทวโลกนั้น เพราะอาศัยเทวบุตร ๓๓ องค์ อุบัติขึ้นในที่นั้นเพราะทำกาละของชน ๓๓ กับมฆมาณพในบ้านอจลคาม ดังนี้. ก็เพราะเทวโลกกามาวจร ๖ ชั้น มีอยู่แม้ในจักรวาลที่เหลือตามที่ได้ตรัสไว้ว่า มีท้าวจาตุมมหาราชาหนึ่งพันองค์ มีพิภพดาวดึงส์หนึ่งพัน ดังนี้ เป็นต้น ฉะนั้น พึงทราบนามบัญญัตินี้ของเทวโลกนั้น ดังนี้ จริงอยู่ โดยเหตุนี้นั้น

บทว่า ตาวตึสกาย จึงไม่ผิดไป พึงทราบวิเคราะห์ในบทว่า นนฺทนวเน นี้ว่า ป่านั้น ย่อมยังบุคคลทั้งหลายผู้เข้าไปแล้วๆ ให้เพลิดเพลิน ย่อมให้ยินดีเพราะเหตุนั้น ป่านั้น จึงชื่อว่า นันทนะ แปลว่า ยังบุคคลผู้เข้าไปแล้วให้ยินดี.

จริงอยู่ ครั้นเมื่อ มรณนิมิต ๕ อย่างเกิดขึ้นแล้วพวกเทวดาทั้งหลายย่อมคร่ำครวญอยู่ว่า พวกเราจักต้องละทิ้งสมบัติจุติไป ดังนี้.ท้าวสักกะจอมเทพ จะให้โอวาทว่า ท่านทั้งหลายอย่าร่ำไห้เลยขึ้นชื่อว่า สังขารทั้งหลายมีอันไม่แตกดับไปหามีไม่ ดังนี้ แล้วจึงให้เทวดานั้นเข้าไปสู่สวนนันทนวันนั้น ความเศร้าโศกเพราะมรณะของเทวดานั้น แม้จะถูกเทวดาอื่นประคองแขนไป ก็ย่อมสงบระงับได้ เพราะเห็นสมบัติแห่งสวนนันทวันนั้น. ความปรีดาปราโมทย์เท่านั้น ย่อมเกิดขึ้น

ทีนั้น เมื่อเทวดาทั้งหลายกำลังเล่นอยู่ในสวนนันทวันนั้น นั่นแหละ (ร่างกาย) ย่อมละลายไปดุจก้อนหิมะที่ถูกเผาด้วยความร้อนและย่อมถูกขจัดไป ดุจเปลวประทีปถูกลมพัดดับไป ฉะนั้น

อีกอย่างหนึ่งที่ใดที่หนึ่ง ย่อมยังเทวดาผู้เข้าไปในภายในแล้วให้เพลิดเพลินให้ยินดีนั่นแหละ เพราะเหตุนั้น ที่นั้นจึงชื่อว่า นันทนะ ในที่นี้ ได้แก่ ในสวนนันทวันนั้น

บทว่า อจฺฉรา ในบทว่า อจฺฉราสงฺฆปริวุตา นี้เป็นชื่อ เทวธิดา ผู้แวดล้อมในหมู่ของนางอัปสรนั้น

บทว่า ทิพฺเพหิ ได้แก่ ผู้เกิดในเทวโลก

บทว่า ปญฺจหิ กามคุเณหิ ได้แก่ ด้วยเครื่องผูก คือ กาม หรือ ส่วนแห่งกาม ๕ กล่าวคือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ อันเป็นที่รักที่ชอบใจ

บทว่า สมปฺปิตา คือเข้าถึงแล้ว คำว่า พรั่งพร้อมนอกนี้ ก็เป็นไวพจน์ของการเข้าถึงแล้วนั่นแหละ

บทว่า ปริจาริยมานา ได้แก่ เทวดาทั้งหลายรื่นรมย์อยู่ คือ ยังอินทรีย์ให้รื่นเริงในกามคุณ มีรูปเป็นต้นเหล่านั้น

บทว่า ตายํ เวลายํ ได้แก่ ในเวลาที่บำเรอนั้น.ก็กาลนั้น บัณฑิตพึงทราบว่า ไม่นานเทวบุตรนั้น ก็อุบัติขึ้น

จริงอยู่ อัตภาพของเทวดาที่อุบัติขึ้นนั้นมีประมาณ ๓ คาวุต รุ่งโรจน์อยู่ ราวกะแท่งทองสีแดง เทวบุตรนั้น นุ่งห่มผ้าทิพย์ประดับตกแต่งด้วยเครื่องประดับอันเป็นทิพย์ ทัดทรงด้วยดอกไม้ทิพย์อันนางอัปสรลูบไล้อยู่ด้วยจันทน์และจุณทั้งหลายอันเป็นทิพย์ถูกปกคลุมแล้ว บดขยี้แล้ว หุ้มห่อแล้ว ด้วยกามคุณ ๕ อันเป็นทิพย์ ถูกความโลภครอบงำไม่เห็นอยู่ ซึ่งพระนิพพาน อันเป็นที่สลัดออกจากโลก

เมื่อกล่าวคาถานี้ว่า น เต สุขํ ปชานฺนติ เป็นต้น ด้วยเสียงอันดังแล้ว ก็เที่ยวไปในสวนนันทวันเป็นเหมือนบุคคลกล่าววาจาหยาบคาย (อันมิใช่เป็นวาจาของสัตบุรุษ) ด้วยเหตุนั้น เทวบุตรนั้น จึงได้กล่าวคาถานี้ ในเวลานั้น

บทว่า เย น ปสฺสนฺติ นนฺทนํ ได้แก่ เทวดาเหล่าใดซึ่งอยู่ในที่นั้นย่อมไม่เห็นนันทวันด้วยสามารถแห่งการเสวยเบญจกามคุณ

บทว่า นรเทวานํ ได้แก่ นระผู้เป็นเทพ คือบุรุษผู้เป็นเทพ

บทว่า ติทสานํ แปลว่า สามสิบ (ไตรทศ)

บทว่า ยสสฺสินํ แปลว่าถึงพร้อมด้วยยศ คือบริวาร (บริวารยศ)

สอง บทว่า อญฺญตรา เทวตา ได้แก่ เทวดา ผู้เป็นพระอริยสาวิกาองค์หนึ่ง

บทว่า ปจฺจภาสิ อธิบายว่าเทวดาผู้โง่เขลานี้ย่อมสำคัญสมบัติ (ของตน) นี้ว่าเป็นของมั่งคั่งเป็นของไม่หวั่นไหวย่อมไม่ทราบถึงความที่สมบัตินั้น มีการแตกสลายเป็นธรรมดา ด้วยเหตุนี้ เทวดาผู้พระอริยสาวิกา ผู้ไม่ละความตั้งใจ แสดงสภาวะ จึงได้ย้อนกล่าวด้วยคาถานี้ว่า น ตฺวํ พาเล แปลว่า ดูก่อนท่านผู้เขลา

บทว่า ยถา อรหตํ วโจ อธิบายว่า เมื่อคัดค้านความต้องการ ของเทวดาผู้โง่เขลาอย่างนี้ว่า ท่านย่อมไม่รู้คำของพระอรหันต์ทั้งหลาย โดยแท้จริงดังนี้แล้วบัดนี้ เมื่อจะแสดง "คำของพระอรหันต์ทั้งหลาย" จึงกล่าวคำว่า อนิจฺจา เป็นต้น

บรรดาคำเหล่านั้นคำว่า อนิจฺจา สพฺเพ สงฺขารา อธิบายว่า สังขาร อันเป็นไปในภูมิ ๓ ทั้งหมด ชื่อว่า ไม่เที่ยงเพราะอรรถว่า มีแล้ว หามีไม่ (เกิดแล้วก็ดับไป)

คำว่า อุปฺปาทวยธมฺมิโน ได้แก่ สภาวะที่เกิดขึ้นและเสื่อมไป (มีความเกิดขึ้นและมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา)

คำว่า อุปฺปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ นี้ เป็นไวพจน์ของคำก่อน (คือ อุปฺปาทวย) อีกอย่างหนึ่ง แปลว่า เพราะเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไป ฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า มีความเกิดขึ้นและเสื่อมไปเป็นธรรมดา

ก็ในที่นี้ ท่านถือเอาฐานะในลำดับนั้นนั่นแหละ ด้วยศัพท์ อุปปาทะ และ วยะ คำว่า เตสํ วูปสโม สุโข อธิบายว่า พระนิพพานกล่าวคือ ความเข้าไปสงบระงับแห่งสังขารทั้งหลายเหล่านั้น เป็นสุข นี้ เป็นคำของพระอรหันต์ทั้งหลาย ดังนี้แล

จบ อรรถกถานันทนสูตรที่ ๑

ขออนุโมทนา

ขออุทิศกุศลแด่คุณพ่อ คุณแม่และ สรรพสัตว์


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 15 ต.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 30 พ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ