ว่าด้วยสัตว์บริสุทธิ์ด้วยธรรม ๕

 
sutta
วันที่  18 ต.ค. 2552
หมายเลข  13995
อ่าน  2,151

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 257

๘. เชตวนสูตร

ว่าด้วยสัตว์บริสุทธิ์ด้วยธรรม ๕

[๑๔๗] เทวดากราบทูลว่า ก็พระเชตวันมหาวิหารนี้นั้น อันหมู่แห่งท่านผู้แสวงคุณอยู่อาศัยแล้ว อันพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระธรรมราชาประทับอยู่แล้ว เป็นแหล่งที่เกิดปีติของข้าพระองค์​

กรรม ๑

วิชชา ๑

ธรรม ​๑

ศีล ๑

ชีวิตอันอุดม ๑

สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยคุณธรรม ๕ นี้ หาบริสุทธิ์ด้วยโคตรหรือด้วยทรัพย์ไม่​ เพราะเหตุนั้นแหละ คนผู้ฉลาด เมื่อเห็นประโยชน์ของตน ควรเลือกเฟ้นธรรมโดยอุบายอันแยบคายเพราะเมื่อเลือกเฟ้นเช่นนี้ ย่อมหมดจดได้ในธรรมเหล่านั้น


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พุทธรักษา
วันที่ 18 ต.ค. 2552

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 258-259

อรรถกถาเชตวนสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในเชตวนสูตรที่ ๘ ต่อไป​ ในบทว่า อิทํ หิ ตํ เชตวนํ ความว่าอนาถบิณฑิกเทวบุตรมากล่าวอย่างนี้ เพื่อชมเชยพระเชตวันและพระอริยบุคคลทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น

บทว่า อิสิสํฆนิเสวิตํ ได้แก่ อันหมู่แห่งภิกษุอยู่อาศัยแล้วอนาถบิณฑิกเทวบุตรนั้น ครั้นกล่าวชมเชยพระเชตวันด้วยคาถาที่หนึ่งอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะกล่าวถึงอริยมรรค จึงกล่าวคำว่า กมฺมํ วิชฺชา เป็นต้นแปลความว่า​ กรรม ๑​ วิชชา ๑ ธรรม ๑ ศีล ๑ ชีวิตอันอุดม ๑​ สัตว์ทั้งหลาย ย่อมบริสุทธิ์ด้วยคุณธรรม ๕ นี้หาได้บริสุทธิ์ด้วยโคตร หรือด้วยทรัพย์ไม่​

เหตุนั้นแหละ​ คนผู้ฉลาด เมื่อเห็นประโยชน์ของตนควรเลือกเฟ้นธรรม โดยอุบายอันแยบคาย เลือกเฟ้นเช่นนี้ย่อมหมดจดในธรรมเหล่านั้น​ บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กมฺมํ ได้แก่ มรรคเจตนา​

บทว่า วิชฺชา ได้แก่ มรรคปัญญา​

บทว่า ธมฺโม ได้แก่ ธรรมทั้งหลายอันเป็นฝ่ายสมาธิ​

บทว่า สีลํ ชีวิตมุตฺตมํ อธิบายว่า เทวดานั้น ย่อมแสดงชีวิตอันสูงสุดของบุคคล ผู้ตั้งอยู่ในศีล

อีกอย่างหนึ่ง บทว่า วิชฺชา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ​

บทว่า ธมฺโม ได้แก่ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ​

บทว่า สีลํ ได้แก่ สัมมาวาจา และ สัมมากัมมันตะ​

บทว่า ชีวิตมุตฺตมํ ได้แก่ ชีวิตของผู้ตั้งอยู่ในศีลนี้ เป็นชีวิตสูงสุด​

บทว่า เอเตน มจฺจา สุชฺฌนฺติ ความว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยมรรคอันประกอบด้วยองค์แปดนี้​

บทว่า ตสฺมา ความว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยมรรค เหตุใด เพราะเหตุนั้น สัตว์ทั้งหลายย่อมไม่บริสุทธิ์ได้ด้วยโคตร และด้วบทว่า โย​นิโส วิจิเน ธมฺมํ อธิบายว่า พึงวินิจฉัยธรรมอันเป็นฝ่ายสมาธิโดยอุบาย

บทว่า เอวํ ตตฺถ วิสุชฺฌติ ได้แก่ เลือกธรรมนั้นอย่างนี้ ย่อมหมดจดได้ ด้วยอริยมรรค​ อีกอย่างหนึ่ง บทว่า โยนิโส วิจิเน ธมฺมํ ได้แก่ พึงวินิจฉัยธรรม ๕ กองโดยอุบาย

บทว่า เอวํ ตตฺถ วิสุชฺฌติ ได้แก่ ย่อมบริสุทธิ์ในสัจจะ ๔ เหล่านั้นได้อย่างไร​

บัดนี้ อนาถบิณฑิกเทวบุตรนั้น เมื่อจะกล่าวชมเชยพระสารีบุตรเถระจึงกล่าวคำว่า สาริปุตฺโตว เป็นต้น​ บรรดาบทเหล่านั้น

บทว่า สาริปุตฺโตว นี้เป็นคำกล่าวถึงตำแหน่ง อธิบายว่าอนาถบิณฑิกเทวบุตรนั้นย่อมกล่าวว่า พระสารีบุตรเท่านั้น เป็นผู้ประเสริฐสุดด้วยธรรมเหล่านี้มีปัญญาเป็นต้น​

บทว่า อุปสเมน ได้แก่ ความสงบจากกิเลส​

บทว่า ปารคโต แปลว่า ผู้ถึง พระนิพพาน​ อธิบายว่า เทวดานั้นย่อมกล่าวว่า ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง บรรลุพระนิพพาน ภิกษุนั้นเป็นเยี่ยมคือว่า ชื่อว่า เยี่ยมกว่าพระสารีบุตรเถระย่อมไม่มี ดังนี้​ คำที่เหลือมีเนื้อความง่ายทั้งนั้นแล​

จบอรรถกถาเชตวนสูตรที่ ๘

ขออนุโมทนาขออุทิศกุศลแด่คุณพ่อ คุณแม่และ สรรพสัตว์.

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
พุทธรักษา
วันที่ 18 ต.ค. 2552

อีกอย่างหนึ่ง บทว่า วิชฺชา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ และ สัมมาสังกัปปะ​

บทว่า ธมฺโม ได้แก่ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ​

บทว่า สีลํ ได้แก่ สัมมาวาจา และ สัมมากัมมันตะ​

บทว่า ชีวิตมุตฺตมํ ได้แก่ ชีวิตของผู้ตั้งอยู่ในศีลนี้ เป็นชีวิตสูงสุด

เรียนท่านวิทยากร​

"สัมมาอาชีวะ" อยู่ในหมวดของ สีลํ ใช่ไหมคะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 18 ต.ค. 2552

[เล่มที่ 19] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 327

วิ. พระแม่เจ้า ขันธ์ทั้ง ๓ (ศีล สมาธิ ปัญญา) พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสงเคราะห์แล้ว ด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ หรือว่าอริยมรรคมีองค์ ๘ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงย่นเข้าถือเอาด้วยขันธ์ทั้ง ๓.

ธ. คุณวิสาขะ ขันธ์ทั้ง ๓ พระผู้มีพระภาคเจ้าจะได้ทรงสงเคราะห์ด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ หามิได้ ก็แลอริยมรรคมีองค์ ๘ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสงเคราะห์ด้วยขันธ์ทั้ง ๓ ต่างหาก คุณวิสาขะ สัมมาวาจา ๑​ สัมมากัมมันตะ ๑​ สัมมาอาชีวะ ๑ ธรรมเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสงเคราะห์ด้วยกองศีล​ สัมมาวายามะ ๑ สัมมาสติ ๑ สัมมาสมาธิ ๑​ ธรรมเหล่านี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสงเคราะห์ด้วยกองสมาธิ​ สัมมาทิฏฐิ ๑ สัมมาสังกัปปะ ๑ ธรรมเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสงเคราะห์ด้วยกองปัญญา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
suwit02
วันที่ 19 ต.ค. 2552

สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
พุทธรักษา
วันที่ 19 ต.ค. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Thanapolb
วันที่ 1 มิ.ย. 2563

ขอร่วมเรียนถามเพิ่มเติม

จากคำกล่าว​สัตว์บริสุทธิด้วยธรรม​ ​๕​ ประการ

รวมแล้วก็มีธรรมฝ่ายมรรค​ แม้ในองค์มรรค​ ๘ ​ไม่มีเจตนาเจตสิก​ แต่นัยนี้ท่านก็ยังกล่าวว่า​เจตนา​คือกรรม​ ซึ่งมีอยู่ในทุกขณะจิต​แม้ในขณะมรรคจิตผลจิตเกิด​ก็ไม่ปราศจากเจตนาเจตสิก (กรรม) ​ด้วย ผมเข้าใจถูกไหมครับ?

และประเด็นที่สอง ชีวิตอันอุดม หมายถึง​ก็บุคคลนั้นแหละที่ตั้งอยู่ในศีลและธรรมอันบริสุทธิ์นั้น​คือ มีความหลุดพ้นจากกิเลสทั้งหลาย​ อย่างนั้นหรือเปล่าคครับ

ขอบพระคุณและอนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 1 มิ.ย. 2563

เรียนความเห็นที่ 6 ครับ

กรรม ที่เป็น มรรคเจตนา ในที่นี้ มุ่งหมายถึง สัมมาอาชีวะ ขณะองค์มรรค ๘ ประชุมพร้อมกัน มีเจตนางดเว้นจากทุจริตประการต่างๆ โดยเด็ดขาด ด้วยองค์มรรค ครับ

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ ๔๒๖

ครั้น กล่าวชมพระเชตวันด้วยคาถาแรกอย่างนี้แล้ว บัดนี้เมื่อจะกล่าวชมอริยมรรค จึงได้กล่าวคำว่า การงานและความรู้ เป็นต้น. ในคำเหล่านั้นคำว่า การงาน หมายถึงมรรคเจตนา. คำว่า ความรู้ หมายถึงมรรคปัญญา คำว่า ธรรม หมายถึงธรรมที่เป็นฝักฝ่ายแห่งสมาธิ. ท่านแสดงว่า ชีวิตของผู้ที่ตั้งอยู่ในศีลว่าเป็นชีวิตที่สูงสุด ด้วยคำว่า ศีล ชีวิตที่สูงสุด.

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ ๓๖๒

คำว่า ด้วยสัมมาอาชีวะ คือ ด้วยอาชีพที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ คำว่า สำเร็จชีวิต คือดำเนินการเลี้ยงชีพ ที่ชื่อว่าสัมมาอาชีวะ ต่างกันในเบื้องต้น เพราะสัญญาในการงดเว้นจากทุจริตมีมุสาวาทเป็นต้น ต่างกัน. แต่ในขณะแห่งมรรคเจตนางดเว้นฝ่ายกุศลอันเดียวเท่านั้น เกิดขึ้นให้องค์แห่งมรรคบริบูรณ์โดยให้สำเร็จความไม่เกิดแห่งเจตนาเครื่องทุศีล อันเป็นมิจฉาอาชีวะ ที่เกิดแล้วในฐานะเจ็ด (กายทุจริต๓ วจีทุจริต ๔) เหล่านี้แหละ เพราะตัดทางได้ขาด นี้ชื่อว่า สัมมาอาชีวะ


ส่วนประเด็น ชีวิตอันอุดม คือ ชีวิตของผู้ตั้งอยู่ในศีล ศีลในที่นี้ คือ ศีลที่เป็นขณะมรรคจิต อันเป็นศีลอันสูงสุด และเป็นศีลที่เกิดพร้อมปัญญา สามารถละกิเลสได้แท้จริง จึงชื่อว่า ศีลที่ประเสริฐสูงสุดและเป็นชีวิตที่อุดม ครับ ซึ่งเป็นการหลุดพ้นจากกิเลส ถูกต้องครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
Thanapolb
วันที่ 1 มิ.ย. 2563

ขอบพระคุณและอนุโมทนายิ่งครับอาจารย์เผดิม

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 11 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 24 ก.ย. 2565

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ