ไม่ควรวางใจ เพราะเห็นครู่เดียว [ชฏิลสูตร]
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรคเล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 452-458
ไม่ควรวางใจ เพราะเห็นครู่เดียว
[๓๕๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารบุพพารามปราสาทของมิคารมารดา กรุงสาวัตถี. สมัยนั้น ในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จออกจากที่เร้นแล้ว ประทับนั่งที่นอกซุ้มประตู.ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. [๓๕๕] สมัยนั้น ชฏิล ๗ คน นิครนถ์ ๗ คน อเจลก ๗ คน เอกสาฎกนิครนถ์ ๗ คน ปริพาชก ๗ คน ผู้มีขนรักแร้ เล็บ และขนยาว ถือเครื่องบริขารต่างๆ เดินผ่านไปในที่ไม่ไกล พระผู้มีพระภาคเจ้า.
ทันใดนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลก็เสด็จลุกจากอาสนะทรงกระทำพระภูษาเฉวียงพระอังสาข้างหนึ่ง ทรงจดพระชานุมณฑลเบื้องขวา ณ พื้นแผ่นดินทรงประณมอัญชลีไปทางชฎิล ๗ คน นิครนถ์ ๗ คน อเจลก ๗ คน เอกสาฎก ๗ คน ปริพาชก ๗ คน เหล่านั้นแล้ว ทรงประกาศพระนาม ๓ ครั้งว่าท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าคือ พระราชาปเสนทิโกศล . . . ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้า คือ พระราชาปเสนทิโกศล.ลำดับนั้น เมื่อชฎิล ๗ คน นิครนถ์ ๗ คน อเจลก ๗ คน เอกสาฎก ๗ คน ปริพาชก ๗ คนเหล่านั้น เดินผ่านไปได้ไม่นาน พระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกนักบวชเหล่านั้น คงเป็นพระอรหันต์ หรือท่านผู้บรรลุพระอรหัตตมรรคเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลก.
[๓๕๖] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนมหาบพิตร พระองค์เป็นคฤหัสถ์บริโภคกาม ครอบครองเรือน บรรทมเบียดพระโอรสและพระชายา ทาจุรณจันทน์อันมาแต่แคว้นกาสีทรงมาลาของหอมและเครื่องลูบไล้ ยินดีเงินและทอง.ยากที่จะรู้เรื่องนี้ว่า คนพวกนี้เป็นพระอรหันต์ หรือคนพวกนี้ บรรลุอรหัตตมรรค.
ดูก่อนมหาบพิตร ศีล พึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน ก็ศีลนั้น จะพึงรู้ได้โดยกาลนาน ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อยผู้ใส่ใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจก็ไม่รู้ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้.
ดูก่อนมหาบพิตร ความสะอาด พึงรู้ได้ด้วยการงาน ก็ความสะอาดนั้น จะพึงรู้ได้ด้วยกาลนาน ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อยผู้ใส่ใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจก็ไม่รู้ ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้.
ดูก่อนมหาบพิตร กำลังใจพึงรู้ได้ในคราวมีอันตราย ก็กำลังใจนั้นจะพึงรู้ได้ด้วยกาลนาน ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อย ผู้ใส่ใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจก็ไม่รู้ ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้.
ดูก่อนมหาบพิตร ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนาก็ปัญญานั้นจะพึงรู้ได้ด้วยกาลนาน ไม่ใช่ด้วยกาลเล็กน้อยผู้ใส่ใจจึงจะรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจก็ไม่รู้ ผู้มีปัญญาจึงจะรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามก็ไม่รู้. ฯลฯ
[๓๕๘] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบความนี้แล้วจึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ในเวลานั้นว่า คนผู้เกิดมาดี ไม่ควรไว้วางใจเพราะผิวพรรณและรูปร่างไม่ควรไว้วางใจเพราะ การเห็นกันชั่วครู่เดียว. เพราะว่า นักบวชผู้ไม่สำรวมทั้งหลาย ย่อมเที่ยวไปยังโลกนี้ ด้วยเครื่องบริขารของเหล่านักบวช ผู้สำรวมดีแล้ว ประดุจกุณฑลดิน และมาสกโลหะ หุ้มด้วยทองคำปลอมไว้. คนทั้งหลายไม่บริสุทธิ์ในภายใน งามแต่ภายนอก แวดล้อมด้วยบริวาร ท่องเที่ยวอยู่ในโลก.
อรรถกถาชฏิลสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในชฎิลสูตรที่ ๑ วรรคที่ ๒ ต่อไป :-ฯลฯ
บทว่า สํวาเสน แปลว่า โดยการอยู่ร่วมกัน.
บทว่า สีลํ เวทิตพฺพํ ได้แก่เมื่ออยู่ร่วมกัน ใกล้ชิดกันก็พึงทราบได้ว่าผู้นี้มีศีล คือปกติ หรือปกติชั่ว.
บทว่า ตญฺจ โข ทีเฆน อทฺธุนา น อิตรํ ความว่า ก็ศีลนั้น บุคคลพึงรู้โดยกาลนานๆ ไม่ใช่นิดหน่อย. เป็นความจริง อาการสำรวม และ อาการของผู้สำรวมอินทรีย์อาจแสดงออกมา ๒-๓ วัน.
บทว่า มนสิกโรตา ความว่า ศีลแม้นั้น ผู้ใส่ใจ พิจารณาดูว่า เราจักกำหนดถือศีลของผู้นั้นก็อาจรู้ได้ นอกนี้ก็รู้ไม่ได้.
บทว่า ปญฺญวตา ความว่า ศีลนั้น อันบัณฑิตผู้มีปัญญาเท่านั้น จึงจะรู้ได้ เพราะว่า คนเขลา ถึงใส่ใจก็ไม่สามารถจะรู้ได้.
บทว่า สํโวหาเรน แปลว่า ด้วยการสนทนากัน. ฯลฯ จริงอยู่ คำพูดต่อหน้าของคนบางคน ไม่สมกับคำพูดลับหลัง และคำพูดลับหลัง ไม่สมกับคำพูดต่อหน้าคำพูดคำก่อนกับคำพูดคำหลัง และคำพูดคำหลังกับคำพูดคำก่อน ก็เหมือนกันผู้นั้น อันผู้พูดด้วยเท่านั้น อาจรู้ได้ว่าบุคคลนี้ไม่สะอาด.
ส่วนคำก่อน กับคำหลังของผู้มีความสะอาดเป็นปกติและคำหลังกับคำก่อน ที่เขาพูดต่อหน้า ย่อมสมกับคำที่เขาพูดลับหลังและคำพูดลับหลัง ก็สมกับคำพูดที่เขาพูดต่อหน้า เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อทรงประกาศว่า ผู้พูด อาจรู้ความเป็นผู้สะอาดได้ จึงตรัสอย่างนี้.
บทว่า ถาโม ได้แก่ กำลังแห่งญาณ. จริงอยู่ กำลังญาณของผู้ใดไม่มี เมื่อเกิดอุปัทวันตรายขึ้น ผู้นั้นก็มองไม่เห็นการถือสิ่งที่ควรถือกิจที่ควรทำ ย่อมประพฤติเหมือนดังเข้าไปยังเรือนที่มืดตื้อด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ถวายพระพร บุคคลพึงรู้กำลัง [ญาณ] ได้ก็ในคราวมีอันตราย.
บทว่า สากจฺฉาย ได้แก่ การสนทนากัน. จริงอยู่ ถ้อยคำของคนทรามปัญญา ย่อมเลื่อนลอย เหมือนลูกยางลอยน้ำปฎิภาณของผู้มีปัญญา พูดไม่มีที่สิ้นสุด. เป็นความจริง โดยอาการที่น้ำไหว เขาก็รู้ได้ว่า ปลาตัวเล็กหรือตัวโต.
บทว่า โอจรกา ได้แก่ ประพฤติเบื้องต่ำ [ใต้ดิน] จริงอยู่ พวกจารบุรุษ แม้จะพระพฤติอยู่ตามยอดเขาก็ชื่อว่าประพฤติต่ำทั้งนั้น.
ฯลฯ
จบอรรถกถาชฏิลสูตรที่ ๑
ขออนุโมทนาขออุทิศกุศลแด่คุณพ่อ คุณแม่และ สรรพสัตว์.