กฏแห่งกรรม และบาป

 
Guest
วันที่  8 เม.ย. 2548
หมายเลข  14
อ่าน  4,854

ขอเรียนถามว่า การไม่มีเจตนาในการฆ่า เชี่อว่าไม่บาป ขอให้อธิบายความหมายของคำว่า บาป และผลของบาป และในเรื่องของกฏแห่งกรรม เชื่อว่าจะต้องชดใช้กรรม ทั้งที่กระทำโดยตั้งใจหรือไม่เจตนา ใช่หรือไม่


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 เม.ย. 2548

บาป คือ อกุศลธรรม เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี ไม่งาม และ ให้โทษ

บุญ คือ กุศลธรรม เป็นสภาพที่ดีงามเป็นประโยชน์ ไม่เป็นโทษกับใครเลย

ฉะนั้น ถ้าไม่มีจิต บาปบุญก็ไม่มี ภูเขา ก้อนหิน กรวดทราย ต้นไม้ ไม่มีบุญไม่มีบาปเพราะไม่มีจิต คิดไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ ฆ่าสัตว์ไม่ได้ ลักทรัพย์ไม่ได้

บุญ บาปจึงเป็นสภาพของจิต ขณะใดจิตประกอบด้วยสภาพธรรมที่ดีจึงเป็นบุญ ขณะใดจิตประกอบด้วยสภาพธรรมที่ไม่ดีจึงเป็นบาป ไม่มีใครจะสามารถเห็นจิตหรือดูจิตได้ด้วยตา แต่ว่าสามารถระลึกรู้ลักษณะของจิตได้ เพราะทุกคนมีจิต และทุกคนก็เพียงแต่รู้ว่ามีจิต เมื่อไม่ศึกษาโดยละเอียดก็ไม่มีทางรู้ได้ว่าจิตอยู่ที่ไหน

ขณะเห็นเป็นจิตชนิดหนึ่ง ขณะได้ยินเป็นจิตชนิดหนึ่ง ขณะได้กลิ่นเป็นจิตชนิดหนึ่ง ขณะลิ้มรสเป็นจิตชนิดหนึ่ง ขณะที่รู้เย็นบ้าง รู้ร้อนบ้าง รู้แข็งบ้าง ก็เป็นจิตชนิดหนึ่ง ขณะคิดนึกเป็นจิตชนิดหนึ่ง และควรพิจารณาให้ละเอียดลงไปอีกว่าจิตเห็นเป็นบาปหรือเปล่า จิตเห็นเพียงเห็น ไม่ใช่อกุศลจิตและไม่ใช่กุศลจิต จิตได้ยิน จิตได้กลิ่น จิตลิ้มรส จิตรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ก็ไม่ใช่กุศลจิตและไม่ใช่อกุศลจิต แต่ขณะที่เห็นแล้วชอบ ขณะชอบเป็นโลภมูลจิต เป็นอกุศลจิต ซึ่งจะใช้คำว่าบาปก็ได้ เพราะเป็นจิตที่มีกิเลสไม่ผ่องใส มีสภาพของโลภเจตสิกซึ่งทำให้ติดข้อง พอใจ ยินดี ปรารถนา ต้องการสิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน เป็นต้น ขณะนั้นจึงเป็นอกุศล ขณะใดเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจแล้วไม่ชอบ ขณะนั้นก็เป็นโทสะ เป็นสภาพที่ขุ่นเคืองไม่พอใจ ขณะนั้นก็เป็นอกุศล

ฉะนั้น เมื่อจิตมีจริง บาปบุญก็มีจริง และจิตก็มีทั้งอกุศลจิตและกุศลจิต ขณะใดที่เป็นอกุศลจิต ขณะนั้นเป็นบาป จึงมีจริง ขณะใดที่เป็นกุศลจิต ขณะนั้นก็เป็นบุญ จึงมีจริง

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 เม.ย. 2548

บุญ คือ กุศลที่ชำระจิตให้สะอาดด้วยการกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ บุญหรือบุญญกิริยามีหลายอย่าง การที่กุศลใดจะมีอานิสงส์มากหรือน้อยกว่ากัน ก็ขึ้นกับสภาพจิตที่ผ่องใสปราศจากอกุศล ในขณะที่ทำบุญกุศลอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น กุศลจิตเกิดโดยตลอดหรือมีอกุศลจิตเกิดคั่น ถ้ามีอกุศลจิตเกิดคั่นก็เป็นกุศลที่ไม่มีกำลัง อานิสงส์ก็ต้องน้อยกว่ากุศลซึ่งไม่มีอกุศลคั่น เช่น ช่วยเหลือบุคคลอื่นให้สะดวกสบาย ก็เป็นกุศล แต่ถ้าหวังสิ่งตอบแทน ลาภ ยศ สรรเสริญก็เป็นอกุศล

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 เม.ย. 2548
 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 เม.ย. 2548

กรรม คือ การกระทำนั้น ได้แก่ เจตนา ซึ่งเป็นสภาพที่ตั้งใจ จงใจ ที่จะทำกุศลหรืออกุศล เมื่อได้กระทำกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมนั้นๆ ลงไปแล้ว ก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้วิบากจิต ซึ่งเป็นผลของกรรมเกิดขึ้น การเห็นสิ่งต่างๆ ที่ดีเป็นผลของกุศลกรรม การได้ยินเสียงต่างๆ ที่ดีเป็นผลของกุศลกรรม การได้กลิ่นต่างๆ ที่ดีเป็นผลของกุศลกรรม การลิ้มรสต่างๆ ที่ดีเป็นผลของกุศลกรรม การที่กายกระทบสัมผัสสิ่งที่สบาย ก็เป็นผลของกุศลกรรม ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย ทุกคนอยากเห็นแต่สิ่งที่ดีๆ ทั้งนั้น อยากจะได้ยินเสียงดีๆ ได้กลิ่นดีๆ แต่บางคนก็ได้บางคนก็ไม่ได้ เป็นไปตามเหตุปัจจัย คือ กรรมที่ได้กระทำไว้ต่างๆ กันนั้น เป็นปัจจัยทำให้จิตเห็น จิตได้ยิน สิ่งที่ดีหรือไม่ดี ในขณะนั้นๆ กรรมใดจะให้ผลเมื่อใด ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด ดังนั้นจึงควรเจริญกุศลทุกประการ โดยเฉพาะการเจริญปัญญา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 9 เม.ย. 2548

กรรมใดได้กระทำ แล้วก็เป็นเหตุให้เกิดผล คือ วิบากแก่ผู้กระทำกรรมนั้น ตามควรแก่โอกาสของกรรมนั้นๆ ผู้กระทำกรรมจึงเป็นผู้รับผลของกรรม โดยมีกรรมเป็นกำเนิด คือ เป็นเหตุให้เกิดในสุคติภูมิหรือทุคติภูมิ เมื่อเกิดมาแล้วก็มีกรรมเป็นพวกพ้อง มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เมื่อถึงโอกาสของอกุศลกรรมให้ผล ขณะนั้นก็มีอกุศลกรรมเป็นพวกพ้อง มีความวิบัติต่างๆ เกิดขึ้น แม้จากญาติ มิตรสหาย บริวาร และคนอื่นๆ

เมื่อถึงโอกาสของกุศลกรรมให้ผล ก็ตรงข้ามกับผลของอกุศลกรรม เพราะฉะนั้น ทุกคนจึงมีกรรมเป็นพวกพ้อง มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ตราบใดที่ยังมีสังสารวัฎฎ์ก็ไม่พ้นกรรมตั้งแต่ขณะเกิด เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีกรรมก็ไม่ต้องเกิด แต่ละคนเกิดมาต่างกันเพราะกรรมต่างกัน กรรมนั้นมีทั้งกุศลกรรมและอกุศลกรรม กรรมที่ได้กระทำแล้ว สามารถให้ผลได้เมื่อยังมีสังสารวัฎฎ์ เมื่อกลัวผลของอกุศลกรรม ก็ควรเจริญกุศลกรรมให้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ โดยเฉพาะกุศลกรรมที่จะทำให้พ้นจากสังสารวัฎฎ์ เพราะเมื่อยังเป็นกุศลกรรมที่ทำแล้ว ก็ไม่พ้นจากสังสารวัฎฎ์

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
study
วันที่ 9 เม.ย. 2548

คำว่าบาป ภาษาบาลีคือ ปาปะ หรือ ปาปํ แปลว่า ลามก ชั่ว ไม่ดี

ในอรรถกถาได้อธิบายไว้หลายนัย บางนัยหมายเอาอกุศลธรรมทั้งหมด บางนัยหมายเอาเฉพาะอกุศลกรรมบถ ความทุศีล ความไม่มีศรัทธา เป็นต้น ถ้ากล่าวโดยนัยพระอภิธรรมและอกุศลกรรมบถแล้ว การกระทำที่เป็นบาปและให้ผลเป็นวิปาก ต้องเป็นเจตนาที่ตั้งใจที่เป็นกรรมบถเท่านั้น ส่วนการกระทำที่ไม่มีเจตนา ไม่เป็นกรรมและไม่มีผลเป็นวิปาก

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 2 พ.ค. 2548

ถ้าไม่มีเจตนาในการทำกรรมประเภทนั้นๆ แล้ว จะไม่ให้ผลเลย เพราะไม่ได้เป็นกรรม (เพราะเจตนาเป็นกรรม) ในการกระทำกรรมที่เป็นอกุศลกรรมบถซึ่งมีอยู่ ๑๐ ข้อ จะมีองค์ที่จะให้ล่วงกรรมบถด้วย ซึ่งถ้าครบองค์ของกรรมบถ จึงจะให้ผลปฏิสนธิได้ (และแน่นอนต้องให้ผลในปวัตติกาลได้ด้วย) ถ้ามีเจตนาที่จะกระทำกรรมนั้น แต่ไม่ครบองค์กรรมบถ กรรมนั้นจะไม่สามารถให้ผลปฏิสนธิได้ แต่สามารถให้ผลใน ปวัตติกาลได้ เช่น การฆ่าสัตว์

ปาณาติบาตมีองค์ ๕ คือ

๑. สัตว์มีชีวิต

๒. รู้ว่าสัตว์มีชีวิต

๓. มีจิตคิดจะฆ่า

๔. พยายาม

๕. สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น

ถ้ามีเจตนาที่จะกระทำกรรมที่ครบองค์ทั้ง ๕ ข้อ กรรมนี้สามารถให้ผลปฏิสนธิได้ (และให้ผลในปวัตติกาลได้ด้วย) แต่ถ้าไม่ครบองค์ เช่น สัตว์บาดเจ็บ หรือ แค่เหน็ดเหนื่อยกลัว เนื่องจากวิ่งหนี กรรมนี้ไม่สามารถให้ผลปฏิสนธิได้ แต่ให้ผลในปวัตติกาลได้ (อกุศลกรรมบถข้ออื่นๆ ก็โดยทำนองเดียวกันนี้) ถ้าไม่มีเจตนาฆ่าหรือไม่มีเจตนาทำร้ายสัตว์ แต่สัตว์ตายด้วยการกระทำของเรา ไม่เป็นกรรม ในการฆ่านี้ ไม่มีผลเลย

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
อารายเนี่ย
วันที่ 23 พ.ค. 2550

ขอเชิญคลิกอ่าน ..

ถ้าไม่มีเจตนาก็ไม่บาป [มหาวิภังค์]

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
pornpaon
วันที่ 30 พ.ย. 2551

ขอบพระคุณมากค่ะ

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
peem
วันที่ 24 ม.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 15 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ