บัณเฑาะก์
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 310
ในคำว่า ปณฺฑโก ภิกฺขเว เป็นต้นนี้ มีวินิจฉัยว่า บัณเฑาะก์ มี ๕ ชนิด คือ
อาสิตตบัณเฑาะก์ ๑
อุสุยยบัณเฑาะก์ ๑
โอปักกมิยบัณเฑาะก์ ๑
ปักขบัณเฑาะก์ ๑
นปุงสกะบัณเฑาะก์ ๑
ในบัณเฑาะก์ ๕ ชนิดนั้น บัณเฑาะก์ใดเอาปากอมองคชาตของชายเหล่าอื่น ถูกน้ำอสุจิรดเอาแล้ว ความเร่าร้อนจึงสงบไป บัณเฑาะก์นี้ ชื่ออาสิตตบัณเฑาะก์
ฝ่ายบัณเฑาะก์ใดเห็นอัชฌาจารของชนเหล่าอื่น เมื่อความริษยาเกิดขึ้นแล้ว ความเร่าร้อนจึงสงบไป บัณเฑาะก์นี้ ชื่ออุสุยยบัณเฑาะก์
บัณเฑาะก์ใดมีอวัยวะดังพืชทั้งหลาย ถูกนำไปปราศแล้ว คือ ถูกเขาตอนเสียแล้ว ด้วยความพยายาม บัณเฑาะก์นี้ ชื่อโอปักกมิยบัณเฑาะก์
ส่วนบางคนข้างแรมเป็นบัณเฑาะก์ ด้วยอานุภาพแห่งอกุศลวิบาก แต่ข้างขึ้น ความเร่าร้อนของเขาย่อมสงบไป นี้ชี่อว่า ปักขบัณเฑาะก์
ส่วนบัณเฑาะก์ใด เกิดไม่มีเพศ ไม่มีภาวรูป ในปฏิสนธิทีเดียว คือไม่ปรากฏว่าชายหรือหญิงมาแต่กำเนิด บัณเฑาะก์นี้ ชื่อนปุงสกะบัณเฑาะก์
ในอรรถกถาชื่อกุรุนที แก้ว่า ในบัณเฑาะก์ ๕ ชนิดนั้น อาสิตตบัณเฑาะก์ และอุสุยยบัณเฑาะก์ ไม่ห้ามบรรพชา ๓ ชนิด นอกนี้ห้าม แม้ในบัณเฑาะก์ ๓ ชนิดนั้น
สำหรับปักขบัณเฑาะก์ ห้ามบรรพชาแก่เขาเฉพาะปักข์ที่เป็นบัณเฑาะก์เท่านั้น ก็ในบัณเฑาะก์ ๓ ชนิดนี้ บัณเฑาะก์ใดทรงห้ามบรรพชา พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาบัณเฑาะก์นั้น