การเวียนว่ายตายเกิดและจุดหมายของการศึกษาพระธรรม‏

 
thaiderm
วันที่  3 พ.ย. 2552
หมายเลข  14133
อ่าน  1,472

ขอเรียนถามความคิดเห็นจากท่านอาจารย์และกัลยาณมิตรทุกท่าน เนื่องจากเป็นผู้เริ่มต้นศึกษาพระธรรมโดยการอ่านและฟังธรรม เป็นผู้ที่ปัญญายังต้องเจริญอีกมาก จึงต้องการเรียนถามเพื่อที่จะได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น วันหนึ่งได้สนทนากับเพื่อนชาวต่างชาติซึ่งนับถือศาสนาอื่น และได้มีโอกาสสนทนากันในเรื่อง พระพุทธศาสนา และการศึกษาพระธรรม เพื่อนชาวชาติได้ไปอ่านจากแหล่งข้อมูลหนึ่งว่า พุทธศาสนามีจุดหมายเพื่อความพ้นการเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิต่างๆ หรือพ้นจากสังสารวัฎฎ์ จึงได้เริ่มสนทนากัน และอธิบายถึงจุดหมายของการศึกษาพระธรรม ก็เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น เกี่ยวกับสภาพธรรมต่างๆ ที่กำลังปรากฎ เพื่อเรียนรู้ถึงสภาพธรรมต่างๆ ตามความเป็นจริง จนกระทั่งปัญญาในขั้นต่างๆ เจริญขึ้น เพื่อประหารกิเลสตามลำดับขั้น จนถึงการประหารกิเลสเป็นสมุทเฉท ดับอนุสัยกิเลสและอวิชชาหมดสิ้น ประจักษ์แจ้งพระนิพพานเป็นพระอรหันต์ เมื่อจุติจิตเกิดและดับไป หมดเหตุของความเป็นบุคคลนี้ ก็ดับขันธปรินิพพาน ไม่เกิดอีกต่อไป สนทนามาถึงจุดนี้ ก็มีคำถามว่า ต้องศึกษาไปถึงเมื่อไร ก็ได้อธิบายเพิ่มเติมว่าที่ศึกษาพระธรรมอยู่นี้ ก็ไม่รู้ว่าชาตินี้จะเป็นชาติสุดท้ายที่ปัญญาเจริญถึงขั้นดับกิเลสเป็นขั้นๆ ได้หรือไม่ แต่ก็เป็นจิรกาลภาวนา ปัญญาก็สะสมไป และไม่แต่ปัญญาแต่จิตก็สั่งสมสันดานต่อไป มีการรับผลของกรรมและวิบากต่อไป ทั้งกุศลและอกุศล แต่เมื่อตายจากชาตินี้ ก็หมดความเป็นบุคคลนี้ ในชาติหน้าไม่ว่าเกิดในภพภูมิใด ก็เป็นบุคคลอื่น ไม่มีความทรงจำใดเกี่ยวกับบุคคลเดิมเหลืออยู่เลย ซึ่งก็เช่นกันในชาติก่อนหน้านี้ก็เป็นบุุคคลอื่นมาก่อน ไม่ใช่บุุคคลเดียวกัน มีแต่จิต เกิดดับสืบต่อกัน สั่งสมสันดานต่อไป จนปัญญาเจริญขึ้น เห็นสภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริงว่าเป็นอนัตตา จึงจะหมดความยึดมั่นว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา จึงมีคำถามที่เกิดเพื่อนต่างชาติว่า ถ้าชาตินี้ ปัญญายังไม่เจริญจนถึงขั้นนั้น ก็ยังมีความยึดมั่นว่าเป็นเราอยู่ แม้ว่าทำความกุศลและอกุศล ถ้าไม่ได้ส่งผลในชาตินี้ทั้งหมด แล้วเมื่อตายไปแล้ว ก็เกิดไปบุุคคลอื่น ซึ่งบุุคคลนั้นก็รับผลของกรรมใดกรรมหนึ่ง ซึ่งเขาก็ไม่เกี่ยวข้องด้วยโดยตรง พูดง่ายๆ คือเขาไม่มีส่วนหรือส่วนเสียด้วย แล้วจะต้องศึกษาธรรมไปทำไม ในเมื่อบุคคลนี้เกิดและตายครั้งเดียวในสังสารวัฎฎ์และจะไม่มีคนนี้อีกต่อไป บุคคลอื่นในชาติก่อนหรือชาติต่อไป ก็ยึดมั่นในตัวตนของตน แต่ก็ไม่ได้ยึดว่าเป็นบุคคลก่อนหรือบุคคลที่จะเป็นในอนาคต จึงได้อธิบายตามความเห็นของตนว่า ประโยชน์ที่สำคัญคือประโยชน์ในปัจจุบัน ที่ปัญญาจะเจริญขึ้น ซึ่งอาจจะถึงขั้นของการดับกิเลสเป็นขั้นๆ ในชาติภพนี้ก็เป็นได้ จึงต้องศึกษาพระธรรมต่อไป และการเจริญกุศลนั้น เมื่อกุศลจิตเกิด ทั้งที่ประกอบด้วยปัญญา หรือไม่ก็ตาม ก็เป็นสภาวะที่ไม่ทำให้เกิดทุกข์เดือดร้อน ไม่ให้โทษภัยแม้ว่า กุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาจะยังเป็นเหตุให้เกิดกุศลวิบาก และภพชาติก็ตาม แต่เมื่อกุศลเกิด เนื่องจากจิตก็เป็นปัจจัยให้จิตดวงต่อไปเกิด เมื่อกุศลเกิด จึงเป็นปัจจัยให้กุศลอื่นๆ เจริญขึ้นและเกิดบ่อยขึ้น แม้ว่าจะมีกุศลวิบากหรืออกุศลวิบากเกิดขึ้นก็ตาม ก็ยังเกิดกุศลจิตหรือกุศลจิตที่ประกอบปัญญาได้ ความทุกข์ต่างๆ ทางใจก็จะเบาบางลงส่วนหนึ่ง นอกจากนี้แม้ว่าความเป็นบุคคลนี้ ในชาตินี้จะสิ้นสุดลง จิตปฎิสนธิเป็นบุคคลอื่น บุคคลนั้นก็มีจิตที่สั่งสมปัญญาและสันดานต่างๆ ต่อไป รับผลของกรรมต่อไป และ ก็อาจจะมีปัญญาถึงขั้นดับกิเลสเป็นขั้นๆ ได้ในชาติในชาติหนึ่ง จึงถือว่าการศึกษาพระธรรมเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่บุคคลอันเป็นที่ประชุมของขันธ์ต่างๆ ในชาตินี้ และเป็นประโยชน์เกื้อกูลบุคคลอื่นอันเป็นที่ประชุมของขันธ์ในชาติต่อๆ ไปโดยทางอ้อมด้วย จนบุคคลนั้นมีปัญญาคมกล้า สามารถประหารกิเลสจนเป็นสมุทเฉท บุคคลในชาติภพสุดท้ายนั้นเก็เป็นเสมือนตัวแทนของสภาพธรรมอันพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ ประจักษ์แจ้งพระนิพพาน เมื่อดับขันธปรินิพพานก็ เป็นอันไม่ต้องเกิดอีกต่อไป เป็นตัวแทนของจิตที่เกิดดับสีบต่อมีบัญญัติเป็นสัตวโลก ที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทนทุกข์ รับผลของกรรม ทั้งกุศลและอกุศล สะสมโลภะ โทสะ โมหะ จนกว่าจะเริ่มสะสมปัญญา และปัญญาเจริญขึ้นเรื่อยๆ จนถึงชาติภพสุดท้าย เพื่อประโยชน์ของบุคคลนี้และบุคคลอื่น ทั้งในชาตินี้และในชาติต่อๆ ไป เปรียบเสมือนคนวิ่งผลัด แต่ละคนส่งต่อไม้ ซึ่งก็ได้แก่ จิต เจตสิกต่างๆ ทั้งกุศลและอกุศลธรรม รวมทั้งปัญญาเจตสิกต่อไป แต่ละวิ่งได้คนละหนึ่งครั้ง วื่งดีบ้าง ไม่ดีบ้าง แม้ตัวเองจะล้มเจ็บบ้าง อยากเลิกวิ่งบ้างแต่ก็เลิกไม่ได้ ต้องวิ่งต่อไป จนคนสุดท้ายที่มีไม้ในมือคือตัวแทนที่จะไปถึงเส้นชัย ก็เป็นอันเป็นตัวแทนทุกคนที่วิ่งมาก่อนหน้านี้ไปถึงจุดหมาย เป็นอันยุติการวิ่งผลัดเป็นวงกลมนั้น เป็นอันหมดหน้าที่ เหมือนกับพระอรหันต์ ผู้ดับกิเลสได้โดยสิ้นเชิง ไม่ได้เพื่อใคร เพื่อตัวตนบุคคลใดอีก เป็นผู้จบซึ่งการประพฤติพรมจรรย์ เป็นตัวแทนแสดงสภาวธรรมอันมีอยู่จริงเป็นปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป อันเป็นความจริงที่มีมาตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และมีต่อไปในอนาคตตอนนี้ก็ศึกษาโดยการฟังและอ่านพระธรรม เริ่มต้นที่สิ่งที่มีอยู่จริงในขณะนี้ การเห็น การได้ยิน เป็นต้น ในชีวิตประจำวัน แต่ก็ต้องการความรู้ถูก เข้่าใจถูกจากท่านอาจารย์และกัลยาณมิตรทั้งหลาย เพื่อเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้ปัญญาเจริญต่อไป ขออนุ-โมทนาและกราบขอบคุณทุกๆ ความเห็นและคำแนะนำครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
wannee.s
วันที่ 3 พ.ย. 2552

จุดประสงค์ของการศึกษาธรรม เพื่อละความไม่รู้ เพื่อขัดเกลากิเลส เพื่อสะสม

ปัญญา สะสมความดี เพื่อเป็นปัจจัยให้ออกจากสังสารวัฏฏ์คือการเวียนว่ายตายเกิด

ตายแล้วเกิดทันทีตามกรรมที่ทำไว้ จึงทำให้มีรูปร่างหน้าตา ชาติตระกูล ปัญญา แตก

ต่างกันตามการสะสม เพราะกุศลและอกุศลที่ทำไว้สะสมอยู่ในจิตไม่สุญหายไปไหนค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ธุลีพุทธบาท
วันที่ 3 พ.ย. 2552


นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺสฺส.ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น.

----------

ตอบ คุณ thaiderm เจ้าของกระทู้ วันที่ 3 พ.ย. 2552 02:20พึงศึกษา การตอบปัญหาของพระนาคเสนเถระแก่พระเจ้ามิลินท์ ในมิลินทปัญหา วรรคที่ ๒ ธัมมสันตติปัญหา ๑๖ เพื่อเป็นแนวทาง ในการตอบปัญหาอันคล้ายคลึงกัน ดังนี้:-๑. ธัมมสันตติปัญหา ๑๖

พระราชาตรัสถามว่า "พระผู้เป็นเจ้า ผู้ใดเกิดขึ้น เขาจะเป็นผู้นั้น หรือจะเป็นผู้อื่น?"พระเถรเจ้าทูลตอบว่า "จะเป็นผู้นั้นก็ไม่ใช่ จะเป็นผู้อื่นก็ไม่ใช่."ร. "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟัง."ถ. "พระองค์จะทรงสดับต่อไปนั้นเป็นไฉน ข้อความที่อาตมภาพจะทูลถาม: ก็เมื่อเวลาใด พระองค์ยังทรงพระเยาว์เป็นเด็กอ่อน บรรทมหงายอยู่ในพระอู่, พระองค์นั้นนั่นแหละได้ทรงพระเจริญวัย เป็นผู้ใหญ่ขึ้นในเวลานี้?"ร. "ไม่ใช่อย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า, ในเวลานั้น ข้าพเจ้าเป็นเด็กอ่อนนอนหงายอยู่นั้นคนหนึ่ง ในเวลานี้ ข้าพเจ้าเป็นผู้ใหญ่ขึ้นคนหนึ่ง."ถ. "ก็เมื่อเป็นอย่างนั้น แม้มารดาบิดาอาจารย์ และคนมีศีลมีสิปปะมีปัญญาก็จักไม่มีนะซิ, มารดาของสัตว์ซึ่งแรกปฏิสนธิ เป้นกลละ เป็นอัมพุทะ เป็นชิ้นเนื้อ เป็นแท่ง และมารดาของสัตว์ที่เป็นทารก มารดาของสัตว์ที่เป็นผู้ใหญ่ คนละคน ไม่ใช่คนเดียวกันดอกหรือ? คนหนึ่งศึกษาสิปปะ คนหนึ่งเป็นผู้ได้ศึกษาแล้ว คนหนึ่งทำบาปกรรม มือและเท้าทั้งหลายของคนหนึ่งขาดไปหรือ?"ร. "ไม่เป็นอย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้า, ร. "ก็เมื่อเขาถามพระผู้เป็นเจ้าอย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้าจะตอบอย่างไร?"ถ. "อาตมภาพนี้แหละเป็นเด็ก อาตมภาพนี้แหละเป็นผู้ใหญ่ ในเวลานี้ สภาวธรรมทั้งหลายอาศัยกายนี้นี่แหละ นับว่าเป็นอันเดียวกันทั้งหมด."ร. "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟังอีก."ถ. "เหมือนอย่างว่า บุรุษคนหนึ่งจะตามประทีป อาจตามไปได้จนตลอดรุ่งหรือไม่?"ร. "ได้ซิ พระผู้เป็นเจ้า."ถ. "เปลวไปอันใดในยามแรก เปลวไฟอันนั้นหรือในยามกลาง?"ร. ไม่ใช่ พระผู้เป็นเจ้า."ถ. "เปลวไฟอันใดในยามกลาง เปลวไฟอันนั้นหรือในยามสุด?"ร. ไม่ใช่ พระผู้เป็นเจ้า."ถ. ประทีบในยามแรก ในยามกลาง และในยามสุด ดวงหนึ่งๆ ต่างหากกันหรือ?"ร. "ไม่ใช่ พระผู้เป์นเจ้า, ประทีปที่อาศัยประทีปนั้นนั่นแหละสว่างไปแล้วจนตลอดรุ่ง."ถ. "ข้อนั้นฉันใด, ความสืบต่อแห่งสภาวธรรมก็สืบต่อกัน ฉันนั้นนั่นแหละ; สภาวะอันหนึ่งเกิดขึ้น สภาวะอันหนึ่งดับไป, เหมือนกะสืบต่อพร้อมๆ กัน, เพราะเหตุนั้น ผู้ที่เกิดขึ้นจึงได้ชื่อว่าจะเป็นผู้นั้นก็ไม่ใช่ จะเป็นผู้อื่นก็ไม่ใช่ แต่ถึงความสงเคราะห์ว่าปัจฉิมวิญญาณ."ร. "ขอพระผู้เป็นเจ้าจงอุปมาให้ข้าพเจ้าฟังให้ยิ่งขึ้นอีก."ถ. "เหมือนอย่างว่า น้ำนมที่เขารีดออก ครั้นเวลาอื่น แปรเป็นนมส้มไป, และแปรไปจากนมส้มก็เป็นเนยข้น, แปรไปจากเนยข้นก็เป็นเปรียง, และจะมีผู้ใดผู้หนึ่งมาพูดอย่างนี้ว่า 'น้ำนมอันใด นมส้มก็อันนั้นนั่นเอง นมส้มอันใด เนยข้นก็อันนั้นนั่นเอง เนยข้นอันใด เปรียงก็อันนั้นนั่นเอง' ฉะนี้. เมื่อผู้นั้นเขาพูดอยู่ จะชื่อว่าเขาพูดถูกหรือไม่?"ร. "ไม่ถูก พระผู้เป็นเจ้า, มันอาศัยน้ำนมนั้นนั่นเองเกิดขึ้น."ถ. "ข้อนั้นฉันใด, ความสืบต่อแห่งสภาวธรรม ก็สืบต่อกันฉันนั้นนั่นแหละ; สภาวะอันหนึ่งเกิดขึ้น สภาวะอันหนึ่งดับไป, เหมือนกะสืบต่อพร้อมๆ กัน, เพราะเหตุนั้น ผู้ที่เกิดขึ้นจึงได้ชื่อว่าจะเป็นผู้นั้นก็ไม่ใช่ จะเป็นผู้อื่นก็ไม่ใช่ แต่ถึงความสงเคราะห์ว่าปัจฉิมวิญญาณ."ร. "พระผู้เป็นเจ้าช่างฉลาดจริงๆ ." อนึ่ง หากจะมีผู้เข้าใจอย่างนี้ว่า. "ขณะนี้เราเป็นเด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ เมื่อความเป็นเด็กหมดไป ความเป็นผู้ใหญ่ย่อมมีดังนั้น เด็กจึงไม่ใช่ผู้ใหญ่ และผู้ใหญ่ ก็ไม่ใช่เด็กการศึกษาวิชาการเพื่อเลี้ยงชีพจะมีประโยชน์อะไร? เพราะขณะนี้เมื่อเป็นเด็ก ก็ไม่ได้รับประโยชน์. แต่กลับได้รับประโยชน์ เมื่อเป็นผู้ใหญ่."ความคิดอย่างนี้ เป็นความคิดของผู้ที่ไม่พิจารณาในเหตุผลตามความเป็นจริงฉันใด.ผู้ที่ไม่เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามจริง แล้วเข้าใจผิดในเรื่องนั้น ก็ฉันนั้น.การศึกษาพระธรรมโดยละเอียด และความเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง จะตอบปัญหานี้ได้ดีที่สุดครับ.


ขออนุโมทนาครับ

----------

.ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย.

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Sam
วันที่ 4 พ.ย. 2552

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
พุทธรักษา
วันที่ 4 พ.ย. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 4 พ.ย. 2552

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ