น้ำอัฎฐบาน
พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ หน้าที่ ๑๕๒
พระพุทธานุญาตน้ำอัฏฐบาน
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้นในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตน้ำปานะ ๘ ชนิดคือ น้ำปานะทำด้วยผลมะม่วง ๑ น้ำปานะทำด้วยผลหว้า ๑ น้ำปานะทำด้วยผลกล้วยมีเมล็ด ๑ น้ำปานะทำด้วยผลกล้วยไม่มีเมล็ด ๑ น้ำปานะทำด้วยผลมะซาง ๑ น้ำปานะทำด้วยผลจันทน์หรือองุ่น ๑ น้ำปานะทำด้วยเง่าบัว ๑ น้ำปานะทำด้วยผลมะปรางหรือลิ้นจี่ ๑
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำผลไม้ทุกชนิด เว้นน้ำต้มเมล็ดข้าวเปลือก
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำใบไม้ทุกชนิด เว้นน้ำผักดอง
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำดอกไม้ทุกชนิด เว้นน้ำดอกมะซาง
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตน้ำอ้อยสด
คำอธิบายจากอรรถกถา
สาลุกปานะนั้น ได้แก่น้ำปานะที่เขาคั้นเง่าอุบลแดงและอุบลเขียวเป็นต้นทำ
ผารุสกปานะ นั้น ได้แก่ น้ำปานะที่ทำด้วยผลมะปราง อย่างอัมพปานะ อัฏฐบานเหล่านี้ เย็นก็ดี สุกด้วยแสงอาทิตย์ก็ดี ย่อมควร สุกด้วยไฟไม่ควร
ด้วยพระบาลีว่า ฐเปตฺวา ธญฺญผลรสํ นี้ ธัญญชาติ ๗ ชนิดเป็นอันห้ามแล้วว่า ไม่ควรในปัจฉาภัต
มหาผล ๙ อย่างคือ ผลตาล ผลมะพร้าว ผลขนุน ผลสาเก น้ำเต้า ฟักเขียว แตงไท แตงโม ฟักทองเป็นอันทรงห้าม และอปรัณณชาติทุกชนิด มีคติอย่างธัญญชาติเหมือนกัน มหาผลและอปรัณณชาตินั้น ไม่ได้ทรงห้ามไว้ก็จริง ถึงกระนั้น ย่อมเข้ากับสิ่งที่เป็นอกัปปิยะ เพราะเหตุนั้น จึงไม่ควรในปัจฉาภัต
น้ำปานะ ๘ อย่างทรงอนุญาตไว้ น้ำปานะแห่งผลไม้เล็กมี หวายมะชาม มะงั่ว มะขวิด สะคร้อ และเล็บเหยี่ยว เป็นต้น มีคติอย่างอฏัฐบานแท้ น้ำปานะแห่งผลไม้เหล่านั้น ไม่ได้ทรงอนุญาตไว้ก็จริง ถึงกระนั้น ย่อมเข้ากับสิ่งที่เป็นกัปปิยะ เพราะฉะนั้น จึงควรในกุรุนทีแก้ว่า จริงอยู่ เว้นรสแห่งเมล็ดข้าวกับทั้งสิ่งที่อนุโลมเสียแล้ว ขึ้นชื่อว่าน้ำผลไม้อื่น ที่ไม่ควร ย่อมไม่มี น้ำผลไม้ทุกชนิดเป็นยามกาลิกแท้
สาธุค่ะ แต่ในปัจจุบัน เห็นการถวายน้ำปานะ แก่พระภิกษุผิดไปจากนี้อยู่มากทีเดียวและทำกันจนคิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องไปแล้วจะแก้ไขประการใดดี เช่น กลางคืนก่อนที่พระจะสวดศพ จะต้องมีการถวายโอวัลตินซึ่งชงด้วยนมข้นหวาน หรือไม่ก็ไวตามิลค์ อยากทราบว่าถูกต้องหรือไม่
ขออนุโมทนา