เหตุปัจจัย

 
พุทธรักษา
วันที่  8 พ.ย. 2552
หมายเลข  14184
อ่าน  1,122

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เหตุปัจจัย

ได้ยินคำว่า "เหตุ" บ่อยๆ และ เมื่อศึกษาโดยปรมัตถธรรม ก็ทราบว่า สภาพธรรมที่เป็นเหตุ ได้แก่ เจตสิก ๖ ประเภทเท่านั้น

จิตทั้งหมด ไม่ใช่เหตุ แต่เป็น นเหตุ

รูปทั้งหมด ไม่ใช่เหตุ แต่เป็น นเหตุ

นิพพาน ไม่ใช่เหตุ แต่เป็น นเหตุ

เจตสิก ๖ ประเภท เท่านั้น ที่เป็น เหตุ

เจตสิกอื่นอีก ๔๖ ประเภท ก็ไม่ใช่เหตุ แต่เป็น นเหตุ

เพราะฉะนั้น เจตสิก ๖ ดวง คือ โลภเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ โมหเจตสิก ๑ เป็น "อกุศลเหตุ ๓" ถ้า "โลภะ" เกิดขึ้นขณะใด จะให้จิตขณะนั้นเป็นกุศลไม่ได้เพราะ โลภะเหตุ เป็น อกุศลเหตุ และ โทสะเหตุ และ โมหะเหตุ ก็เช่นเดียวกัน

อโลภเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ โมหเจตสิก ๑ เป็น "โสภณเหตุ" ไม่ใช้คำแคบๆ ว่า กุศลเหตุเพราะว่า เจตสิก ๓ ประเภทนี้ สามารถที่จะเกิดกับกุศลจิตก็ได้ เกิดกับกุศลวิบากจิตก็ได้ หรือว่า กริยาจิต ซึ่งเป็นโสภณะ คือ กริยาจิตซึ่งดีงาม ประกอบด้วยเหตุที่ดีงาม จิตของพระอรหันต์ ซึ่งไม่มีกุศลอีกต่อไปแต่ว่าจิตของพระอรหันต์ ประเภทที่ประกอบด้วยเจตสิกที่ดีงาม ก็มี เพราะฉะนั้น อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก อโมหเจตสิก จึงเรียกว่า "โสภณเหตุ ๓" เพราะว่า เป็นกุศลก็ได้ เป็นกุศลวิบากก็ได้ เป็นกริยาก็ได้

เมื่อกล่าวถึง "ผัสสเจตสิก" ซึ่งเป็นเจตสิก ๑ ใน อัญญสมานาเจตสิก ๑๓ หรือในสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ซึ่ง เกิดกับจิตทุกประเภท ทุกชาติ ก็จะทราบได้ว่า ผัสสเจตสิก ไม่ใช่เหตุปัจจัย แต่เป็นปัจจัยอื่นซึ่งไม่ใช่โดยความเป็นเหตุ อย่างโลภะ โทสะ โมหะ หรือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ

เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่า "ผัสส" เจตสิกไม่ใช่เหตุแต่เพราะว่า ผัสสเจตสิก ทำกิจกระทบอารมณ์ จึงนำมาซึ่งผล คือการรู้อารมณ์เช่น เกิดความยินดีบ้าง หรือว่าเกิดความโกรธบ้างทำให้เกิดความประทุษร้ายบ้าง ทำให้เกิดอกุศลกรรม ทางกายวาจาบ้าง

ผัสสเจตสิก เป็นผัสสาหาร เป็นอาหารปัจจัย แต่ไม่เป็นเหตุปัจจัย เพราะว่า ไม่ใช่เจตสิก ๖
"เหตุปัจจัย" คือปัจจัยที่ ๑ ที่ได้ยินบ่อยๆ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นปิฏกไหน ก็มีคำพูดถึงเรื่อง "เห-ตุ-ปัจจัย" ให้ทราบทันทีว่า ได้แก่ เจตสิก ๖ ประเภทเจตสิกอื่น จะเป็นเหตุปัจจัยไม่ได้และข้อความในพระไตรปิฏก ก็ต้องสอดคล้องกันทั้งหมดด้วย

ข้อความบางตอนจากเทปชุด
ปัฏฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ ๑
โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
วิริยะ
วันที่ 10 พ.ย. 2552

ขอบคุณ คุณพุทธรักษานะคะ ดิฉันเข้าใจว่า เรื่องเหตุปัจจัยน่าจะเป็นเรื่องที่ยาก ดิฉันมีแผ่น เอ็มพีสาม เก็บเอาไว้ที่บ้านตั้งนานแล้ว ยังไม่เคยเอามาเปิดฟัง ไม่ทราบว่า พอจะแนะนำได้ไหมคะว่า เราควรจะศึกษาเรื่องนี้เมื่อไหร่ หรือว่า ให้ศึกษาคร่าวๆ ไปก่อน

ขอบพระคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
pornpaon
วันที่ 10 พ.ย. 2552

ขอสนทนาด้วยนะคะ คุณวิริยะ

ฟังได้เลยค่ะ ดิฉันก็มีแผ่นพื้นฐานพระอภิธรรม ปัจจัย และอื่นๆ เปิดฟังสลับไปทุกเรื่องเกี่ยวเนื่องสอดคล้องกัน เรื่องปัจจัย ดิฉันเพิ่งฟังได้แค่ 2 รอบ แต่ก็ยังต้องฟังอีก เพราะทุกแผ่น...ฟังกี่ทีๆ ก็เหมือนเพิ่งฟังทุกทีเลย

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
วิริยะ
วันที่ 11 พ.ย. 2552

ขอบคุณความเห็นที่ 2 มากค่ะ ที่กรุณาแนะนำ ดิฉันเองยังไม่กล้าจะนำมาฟังสักที เพราะแค่แผ่นอื่นๆ เช่น พื้นฐานพระอภิธรรม นำมาฟังซ้ำ ก็เหมือนฟังใหม่ทุกทีเช่นกันและเวลาใครถามอะไร ก็ยังไม่มั่นใจในคำตอบของตนเอง ไปจนกระทั่งตอบผิดไปเลยก็มี แต่ตั้งใจจะฟังไปเรื่อยๆ ค่ะ เท่าที่เวลาจะอำนวย ได้ยินเสียงท่านอาจารย์บรรยายแล้วอุ่นใจค่ะ

ขอขอบคุณและขออนุโมทนาด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
พุทธรักษา
วันที่ 11 พ.ย. 2552

คุณวิริยะใจเย็นๆ นะคะ....ค่อยๆ ศึกษาไปด้วยกันค่ะ.

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Sam
วันที่ 11 พ.ย. 2552

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ