ปัญญาเที่ยงหรือไม่เทียง ปัญญาสะสมไปชาติหน้าได้อย่างไร?
ปัญญาเป็นสังขารขันธ์ ปัญญาไม่เที่ยง แต่ปัญญาที่เคยสะสมไว้ย่อมเป็นอุปนิสัยสืบต่อไปในภพใหม่ จึงเป็นเหตุให้ผู้ที่สะสมปัญญาในอดีตมามาก เมื่อได้ฟังพระธรรมเพียงหัวข้อ ก็สามารถตรัสรู้ธรรมได้ ดังนั้นความเป็นปัจจัยสืบต่อกันของนามธรรมที่เคยสะสมมา จึงเป็นไปอย่างนี้...
ปัญญาที่เคยสะสมไว้ย่อมเป็นอุปนิสัยสืบต่อไปในภพใหม่
ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ
สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง
สังขารธรรมได้แก่ จิต ๘๙ เจตสิก๕๒ รูป ๒๘ ทั้งหมดไม่เที่ยง
คำว่า "จิต" ในอัฏฐสาลินี จิตตุปปาทกัณฑ์
ชื่อว่า "จิต" เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี จิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างรวดเร็วมาก นามธรรมที่เกิดพร้อมกับจิต นั้นดับไปแต่ละขณะ ย่อมสะสมสืบต่อในจิตขณะหลังๆ ที่เกิดดับ สืบต่อ เพราะฉะนั้น เมื่ออบรมเจริญปัญญายิ่งๆ ขึ้น ปัญญาย่อม สะสมสืบต่อในจิตขณะหลังๆ ที่เกิดดับสืบต่อ ...
ขออนุโมทนาค่ะ
การฟังธรรมครั้งแรก ฟังแล้วยังไม่เข้าใจ อาศัยการฟังแล้วฟังอีก ปัญญาก็ค่อยๆ เจริญขึ้น ปัญญาเกิดแล้วดับ ไม่เที่ยง แต่ก็สะสมอยู่ในจิตเป็นปัจจัยให้เกิดปัญญาค่ะ
ปัญญาสะสมสภาพที่ไม่เที่ยงได้อย่างไร? ธรรมชาติของปัญญาเป็นเจตสิกไม่ใช่จิตจึงไม่สะสมถ้าถามว่าปัญญาเป็นสภาพที่ไม่เที่ยงแล้วสะสมได้อย่างไร..?
ปัญญาเป็นนามธรรมประเภทเจตสิกเกิดและดับพร้อมจิตธรรมชาติของจิตย่อมสะสมสันดานหมายถึงนามธรรมทีเกิดกับจิตเกิดขึ้นแล้วดับไปในแต่ละขณะนั้น สะสมสืบต่อในจิตขณะหลังๆ สิ่งที่สะสมอยู่ในจิตย่อมไม่เสื่อมสูญไปไหน ตราบใดที่ยังไม่ดับขันธปรินิพพาน แต่ถ้าขาดการอบรมเจริญต่อไป ย่อมเป็นการสะสมสิ่งอื่นซึ่งไม่ใช่ปัญญา แต่เป็นอวิชชา ขออนุโมทนาคะ
ขออนุโมทนากับทุกๆ ท่านครับ -ขอถามเพิ่มเติมครับ
1. ที่ผมตั้งหัวข้อสนทนา ก็เพราะว่าจิตไม่เที่ยง ปัญญาไม่เที่ยง แล้วสภาพไม่เที่ยงนี้ยังจะสะสมอะไรได้หรือครับ?
2. แต่ผมก็เชื่อว่าปัญญาเกิดขึ้นกับจิตในขณะต่างๆ นั้น ทำให้รู้สิ่งต่างๆ มากขึ้นทุกครั้งผมเห็นว่ามีคำศัพท์หลายคำ ได้แก่ การสะสม, การสืบต่อ, การเจริญขึ้น เหตุ และปัจจัย
มีความหมายอย่างไรครับ?
3. คำบาลีเรียก "สภาพสะสมของปัญญานี้" ว่าอย่างไรครับ?
1. ทรงแสดงจิตว่า ที่ชื่อว่า จิต เพราะสั่งสมสันดานของตนด้วยสามารถแห่งชวนวิถี ส่วนความไม่เที่ยงนั้น เป็นสามัญลักษณะของจิต เจตสิก รูป ไม่ควรนำมาคิดปะปนกัน เชื่อมโยงกัน คัดค้านกัน เพราะพระธรรมที่ทรงแสดงไว้นั้นลึกซึ้ง พ้นจากการตรึก และ ละเอียดที่สุด พูดถึงความไม่เที่ยง เราเห็นความไม่เที่ยงหรือยัง พูดถึงการสะสม เรา เห็นขณะที่กำลังสะสมหรือยัง เพราะฉะนั้น ควรศึกษาตามด้วยความเคารพ เพื่อความ เข้าใจถูก เห็นถูก ในวิสัยที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเจริญขึ้นของปัญญาของเราเอง
2. การใช้คำที่หลากหลายก็เพื่อสื่อให้เข้าถึงสภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนี้ ให้สามารถที่ จะพิจารณาจนเข้าใจได้ถูกต้องว่า สิ่งที่กำลังปรากฏ เป็นแต่เพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง มีลักษณะจริงๆ และไม่ใช่เรา ไม่อย่างนั้นเราก็จะไปวนอยู่กับคำ แต่ว่าไม่มีความเข้าใจ ตัวจริงของสภาพธรรมที่เรากำลังพูดถึง
3. สภาพธรรมที่เป็นปัญญามีจริง ไม่ว่าจะเรียกหรือไม่เรียกก็ตาม ควรศึกษาพระธรรม ให้ค่อยๆ เข้าใจ แล้วพิจารณาสิ่งที่ได้ฟังโดยละเอียด เพราะการเข้าใจสภาพธรรมที่มี จริง จะเป็นประโยชน์มากกว่าการรู้คำ และจะทำให้ท่านมีที่พึ่งคือพระธรรมในชีวิตจริง