อารัมมณปัจจัย

 
พุทธรักษา
วันที่  11 พ.ย. 2552
หมายเลข  14211
อ่าน  5,626

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อารัมมณปัจจัย

โลก (นามธรรม-รูปธรรม) เกิดขึ้น เป็นไป (เกิด-ดับ-สืบต่อ) แล้วก็มีภพ มีชาติต่อไปเรื่อยๆ เพราะยังไม่ได้ดับ เหตุเพราะยังมี เหตุ-ปัจจัย ซึ่ง เป็นปัจจัยที่สำคัญ"เหตุปัจจัย" เป็นปัจจัยแรก ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง และปัจจัยที่สอง ที่สำคัญ คือ "อารัมมณปัจจัย"

อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้ สิ่งที่จิตรู้ทางตา คือ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เสียง เป็น อารมณ์ของโสตวิญญาณ (จิตได้ยิน) ฯ ในวันหนึ่งๆ ทุกท่านปรารถนาอารมณ์ ต่างๆ เช่น ทางตา ก็ต้องการเห็นสิ่งที่น่าพอใจ ต่างๆ ทางหู ก็ต้องการได้ยินเสียงที่น่าพอใจ อยู่เรื่อยๆ ทางจมูก ก็ต้องการจะได้กลิ่นที่น่าพอใจ ต่างๆ ทางลิ้น ก็ต้องการจะได้ลิ้มรสที่น่าพอใจ ต่างๆ ทางกาย ก็ต้องการที่จะกระทบสัมผัสสิ่งที่น่าพอใจ ต่างๆ ทางใจ ก็คิดนึกอยู่เสมอ ด้วยความต้องการ

ตามปกติ แม้ในขณะที่เพียงคิด ถ้าไม่เป็นไปในทาน ศีล ภาวนา ก็เป็นโลภมูลจิตแล้วอย่าลืมว่า ปกติในชีวิตประจำวันนั้นในขณะที่ไม่หลับสนิท มีโลภมูลจิตเป็นประจำไม่ว่าจะทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ เพราะแม้ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสใดๆ เลยแต่ขณะที่ทางใจ กำลังคิดขณะใดถ้าขณะนั้น ไม่ใช่กุศลประเภทหนึ่ง ประเภทใด ที่เป็นไปในทาน ศีล ความสงบของจิต หรือ สติปัฏฐานให้ทราบว่า ขณะนั้น เป็นโลภมูลจิต ที่กำลังยินดีในอารมณ์ที่กำลังปรากฏ ในขณะที่กำลังคิด ทุกท่าน คิดเรื่องที่ท่านต้องการ หรือเปล่า ปกติแล้ว จะไม่ทราบเลยว่า เพราะความต้องการ จึงคิดเรื่องนั้น เพราะโดยทั่วไปในวันหนึ่งๆ ถ้าขณะนั้น ไม่ใช่โทสมูลจิต ที่เป็นไปกับความคิด ก็ต้องเป็นโลภมูลจิต ที่เป็นไปกับความคิด ควรพิจารณา-เห็น-ความเกิดขึ้นเดิมๆ บ่อยๆ เพราะว่าทุกท่านคิดเดิมๆ บ่อยๆ ด้วยโลภมูลจิต ซึ่งเป็น "เหตุ" "โลภะ" ซึ่งเป็น "เหตุ" นั้นเอง ที่กำลังปรารถนาซึ่งอารมณ์เพราะเหตุว่า โลภะ เป็นสภาพที่ยินดีต้องการในอารมณ์ต่างๆ ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และ ทางใจ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
พุทธรักษา
วันที่ 11 พ.ย. 2552

และ ผัสสเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็น อารัมมณปัจจัยให้เกิด จิต และเจตสิก การศึกษา พิจารณา เหตุ และ ผล ถ้าเหตุ และ ผล ถูกต้อง ก็ สามารถตรวจสอบได้กับพระไตรปิฏก แต่ว่าถ้าเหตุ และ ผล ไม่ถูกต้อง เมื่อไปตรวจสอบกับพระไตรปิฎก ก็จะไม่ตรง

เพราะฉะนั้น อารัมมณปัจจัย หมายความถึง "สิ่งที่เป็นอารมณ์" ซึ่งเป็น "ปัจจัยให้เกิด-จิต และ เจตสิก-ซึ่งกำลังรู้อารมณ์นั้น"
หรืออีกนัยหนึ่ง ในขณะที่ จิต และ เจตสิก กำลังรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งสิ่งนั้น เป็นปัจจัยโดยเป็นอารมณ์เรียกว่า เป็นอารัมมณปัจจัยให้แก่สิ่งที่กำลังรู้ เพราะฉะนั้นอารัมมณปัจจัย ก็ไม่ใช่อื่นไกลจาก "สิ่งที่เป็นอารมณ์" จิตไม่มีอารมณ์เกิดไม่ได้.!จิตเกิดขึ้นขณะใด จิตขณะนั้นต้องรู้อารมณ์

ข้อความในพระไตรปิฎก อุปมา ว่า "จิต เหมือนคนที่มีร่างกายอ่อนแอจะลุกขึ้น ก็ต้องอาศัยไม้เท้า และสิ่งที่จะช่วยพยุง คือ อารมณ์ ฉันใดจิต จะปราศจากอารมณ์ไม่ได้ ฉันนั้น" แม้จิตเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ แต่ก็ต้องรู้อารมณ์ จิต จึงต้องอาศัยอารมณ์ จึงจะเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีอารมณ์ จิตก็เกิดขึ้น ไม่ได้ เช่น ถ้าเสียงไม่เกิดขึ้น จะให้จิตได้ยินเกิดไม่ได้หมายความว่า การที่โสตวิญญาณ เกิดขึ้นได้นั้น ก็เพราะว่า มีเสียงที่เกิดขึ้น-เป็นปัจจัยให้เกิดโสตวิญญาณโดย "เสียง" เป็น "อารัมมณปัจจัย" ของ "โสตวิญญาณ" เพราะฉะนั้น อารัมมณปัจจัย ก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ เพราะเหตุว่า จิต เป็นสภาพที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์ และเมื่อจิตเป็นสภาพที่รู้อารมณ์ ก็ต้องการอารมณ์ คือ แสวงหาอารมณ์ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะฉะนั้น จึงทรงแสดงอารัมมณปัจจัย เป็นปัจจัยที่สอง

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
พุทธรักษา
วันที่ 11 พ.ย. 2552

"ผัสสเจตสิก" เป็นสภาพธรรมที่มีจริง และเป็น อารัมมณปัจจัย ของจิต

ส. เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังก็พิจารณาธรรมะได้ ว่าสำหรับตัวท่าน เฉพาะตัวท่าน ผัสสเจตสิก เป็นอารัมมณปัจจัยแล้วรึยัง เป็นแล้วรึยังคะ

ต. ตอนนี้ ผัสสเจตสิก ซึ่งเป็นนามธรรม เป็นอารมณ์จิต หมายความว่า สติ ระลึกรู้ "ผัสสเจตสิก" ได้ ผัสสเจตสิก เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐานได้

ส. เวลาที่สติปัฏฐานเกิด ระลึกรู้สภาพธรรมอะไร

ต. รูปบ้าง นามบ้าง

ส. เคยระลึกรู้ลักษณะของผัสสะไหมคะ

ต. ไม่เคย

ส. เพราะฉะนั้น หมายความว่า ขณะนั้น ผัสสเจตสิก ยังไม่เป็น อารัมมณปัจจัยแก่จิต "ธรรมะ" เป็นเรื่องจะต้องคิด ไม่ใช่เรื่องท่อง ซึ่งถ้าเป็นเรื่องท่อง ก็ไม่เข้าใจในเหตุผล คือ ได้แต่จำแล้วก็ลืม ถ้าเข้าใจจริงๆ พิจารณาจริงๆ จะไม่ผิด สภาพธรรมทุกอย่าง เป็นอารมณ์ของจิตและเจตสิกได้ "จิตปรมัตถ์" คือ จิตประเภทต่างๆ เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ จิตแต่ละประเภท มีลักษณะเฉพาะของตนเช่น ขณะที่กำลังได้ยินเสียง ขณะนั้น เป็นสภาพธรรมที่ได้ยิน หรือ จิตได้ยิน เรียกว่า "โสตวิญญาณ" ฯลฯ เพราะฉะนั้น ถ้าสติ ระลึก ตรงลักษณะของสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ก็จะรู้ลักษณะของนามธรรมที่เป็นจิตในขณะนั้นๆ ได้ "เจตสิกปรมัตถ์"คือ เจตสิก ประเภทต่างๆ เป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ

เจตสิกแต่ละประเภท มีลักษณะเฉพาะของตนเช่น เวทนาเจตสิก เป็นสภาพที่รู้สึก สัญญาเจตสิก เป็นสภาพที่จำ โลภเจตสิก เป็นสภาพที่ต้องการ โทสเจตสิก เป็นสภาพที่หยาบกระด้าง ฯลฯ เพราะฉะนั้นเมื่อเจตสิกแต่ละประเภทมีปัจจัยให้เกิดขึ้นคือ มี "ลักษณะ" และ "อาการปรากฏ" ในขณะใด หมายความว่าขณะนั้นเจตสิกประเภทใดประเภทหนึ่ง-ที่กำลังปรากฏนั้นเป็น "อารมณ์ของจิต" เป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้น และ จิตขณะนั้น รู้ "ลักษณะของเจตสิกประเภทนั้น" เพราะฉะนั้นจิต และ เจตสิก เป็นอารัมมณปัจจัยได้ รูป และ นิพพาน เป็นอารัมมณปัจจัยได้ปรมัตถธรรมทั้งหมด เป็นอารัมมณปัจจัยได้ "นิพพาน" เป็น อารัมมณปัจจัยของโลกุตตรจิตเท่านั้นและ นิพพาน เป็น นามธรรม-ที่ไม่รู้อารมณ์ นอกจากนั้น สิ่งอื่น ที่ไม่ใช่ปรมัตถธรรมเช่น บัญญัติต่างๆ ก็เป็นอารัมมณปัจจัยได้ด้วย จริงหรือไม่จริงคะ อย่างเช่นขณะนี้ กำลังเห็นอะไรกำลังเห็นเก้าอี้ นั่นหมายความว่า จิตกำลังมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ใช่ไหมคะ สำหรับสิ่งที่มีรูปร่าง-สันฐาน-ที่ปรากฏให้เห็นทางตา และมี "ลักษณะที่ใช้คำบัญญัติ" เรียกว่า "เก้าอี้" ในขณะที่กำลัง "นึกถึงคำ" ว่า "เก้าอี้" ขณะนั้น ไม่ใช่การรู้-ปรมัตถธรรม แต่ เป็นการรู้-บัญญัติ ซึ่งหมายความว่า บัญญัติก็เป็นอารมณ์ของจิตได้ โดย จิต รู้ บัญญัติอารมณ์นั้น ทางใจ คือ ทางมโนทวาร ไม่ใช่ทางตาที่เห็น หรือ ไม่ใช่ทางหูที่ได้ยิน

เพราะฉะนั้น สภาพธรรมทุกชนิด ทั้งปรมัตถธรรมและบัญญัติธรรม เป็น อารัมมณปัจจัย ขณะที่จิตกำลังรู้สภาพธรรม เช่น ที่กำลังคิดนึกทุกวันนี้ คิดถึงอะไรคะ คิดถึงปรมัตถธรรม หรือว่า คิดถึงบัญญัติธรรม เคยคิดถึงปรมัตถธรรม บ้างรึเปล่า
เพราะฉะนั้น ก็ทราบได้ว่า ขณะใด ที่จิตกำลังมีสิ่งใดเป็นอารมณ์ขณะนั้น สิ่งนั้น เป็นอารัมมณปัจจัยแก่จิตขณะนั้น

ส. เพราะฉะนั้น ผัสสเจตสิก เป็นอารัมมณปัจจัยได้ไหม

ต. ได้

ส. เป็นรึยังคะ

ต. ยัง

ส. ต้องรู้ตามความเป็นจริง ว่า ผัสสเจตสิก เป็นอารัมณปัจจัยได้ เพียงแต่ขณะนี้ ยังไม่เป็น เพราะว่า สติยังไม่ได้ระลึกรู้ ตรง ลักษณะของผัสสเจตสิก เพราะฉะนั้น เพียงเข้าใจเรื่องของผัสสเจตสิก ใช้คำว่า "ผัสสะ" และนึกถึงชื่อว่า "ผัสสะ" ในขณะนั้นให้ทราบว่า ยังไม่ได้มีผัสสเจตสิก ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม เป็นอารมณ์ในขณะนั้น เพียงแต่ว่า มีบัญญัติธรรม คือ สัญญาความจำในเสียงของคำว่า "ผัสสะ" เป็นอารมณ์

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
พุทธรักษา
วันที่ 11 พ.ย. 2552

นี่คือสภาพธรรมตามความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน เพราะว่า เสียงต่างๆ เป็นคำ เสียงต่างๆ เป็นชื่อเพราะฉะนั้น ในขณะที่ทุกท่านมีการคิดนึกเกิดขึ้น ก็คิดนึกถึงชื่อ คิดนึกถึงคำ คือ คิดนึกด้วยสัญญาความจำในเสียงต่างๆ ที่ทำให้เกิดการนึกคิดถึงสัตว์ บุคคลต่างๆ ตามเสียงนั้นเช่น ได้ยินคำว่า "นก" คิดถึงสัตว์ชนิดหนึ่ง ได้ยินคำว่า "แมว" จะคิดถึง "นก" หรือเปล่า เพราะฉะนั้น เสียงต่างๆ ก็เป็นคำ หรือ เป็นชื่อ ที่ทำให้จำ หรือทำให้นึกถึงรูปร่าง-สันฐานของสิ่งต่างๆ วัตถุต่างๆ ที่จำได้

ข้อความบางตอนจากเทปชุด ปัฏฐาน (ปัจจัย ๒๔) ตอนที่ ๑

โดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

... ขออนุโมทนา ..

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 12 พ.ย. 2552

ฟังธรรมทุกๆ วัน ฟังซ้ำๆ เรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพื่อรู้แล้วค่อยๆ ละค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 12 พ.ย. 2552

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ups
วันที่ 12 พ.ย. 2552

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
saifon.p
วันที่ 14 พ.ย. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
สุภาพร
วันที่ 19 พ.ย. 2552

ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
สิริพรรณ
วันที่ 17 พ.ย. 2563

กราบนอบน้อมพระรัตนตรัยด้วยเศียรเกล้า
กราบเท้าบูชาพระคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง
ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความจริงของสภาพธรรม จากการถ่ายทอดโดยท่านอาจารย์สุจินต์ จึงได้ทราบว่า ทุกขณะไม่ขาดอารมณ์ให้จิตรู้เลย เพราะทุกขณะมีจิต แต่ยากแสนยากที่จะระลึกถึงลักษณะของจิตในแต่ละขณะในชีวิตประจำวัน จึงต้องฟังพระธรรมต่อไปด้วยความเคารพและอดทน เพื่อสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกว่า ทุกขณะไม่มีเรา
ขออนุโมทนายินดีในกุศลธรรมทานด้วยค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ