เสกขบุคคลและอเสกขบุคคล [ธาตุกถา-บุคคลบัญญัติ]
[เล่มที่ 79] พระอภิธรรมปิฎก ธาตุกถา-บุคคลบัญญัติ เล่ม ๓ - หน้าที่ 216
[๓๕] เสขบุคคล บุคคลผู้เป็นเสขะ เป็นไฉน บุคคลผู้พร้อมเพรียงด้วยมรรค ๔ บุคคลผู้พร้อมเพรียงด้วยผล ๓ เป็นเสขะ พระอรหันต์เป็น อเสขะ บุคคลนอกนั้นเป็น เนวเสขานาเสขาคือ เป็นเสขะก็มิใช่เป็นอเสขะก็มิใช่
อรรถกถาเสขกบุคคล และ อเสกขบุคคล
วินิจฉัยในนิเทศแห่งพระเสกขบุคคล. บุคคลเหล่าใดถึงพร้อมด้วยอริยมรรคในขณะแห่งมรรคจิตด้วย ถึงพร้อมด้วยอริยผลในขณะแห่งผลจิตด้วยชนเหล่านั้นยังศึกษาสิกขาทั้ง ๓ มี อธิศีลสิกขาเป็นต้น เพราะเหตุนั้น ชนเหล่านั้นจึงชื่อว่า เสกฺขา แปลว่า ผู้ยังศึกษาอยู่. ส่วนพระอรหันต์ ท่านศึกษาสิกขาทั้ง ๓ ในขณะแห่งอรหัตตผล กิจคือการศึกษาย่อมไม่มีแก่ท่านอีก เพราะฉะนั้น พระอรหันต์จึงชื่อว่า อเสกฺขา แปลว่า ผู้ไม่ต้องศึกษา. พระอริยบุคคล ๗ จำพวก ท่านกำลังศึกษาอยู่ด้วยอาการอย่างนี้ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงชื่อว่า เสกฺขา. พระขีณาสพทั้งหลาย ชื่อว่า สิกฺขิตาเสกฺขา แปลว่า อเสกขบุคคลที่ศึกษาเสร็จแล้วจากบุคคลอื่น เป็นเพราะความที่ศีลเป็นต้นท่านศึกษาแล้วในสำนักแห่งบุคคลอื่น พระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายชื่อว่า อสิกฺขิตาเสกฺขา แปลว่า อเสกขบุคคล ที่ไม่ศึกษาจากสำนักบุคคลอื่นเพราะความที่ท่านเป็นสยัมภู คือ เป็นผู้ตรัสรู้เอง. บุคคลทั้งหลายที่เหลือ กำลังศึกษาก็ไม่ใช่ ศึกษาแล้วก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า เนวเสกฺขานาเสกฺขา
จบอรรถกถาเสกขบุคคล และ อเสกขบุคคล