นามรูปเปรียบด้วยชายบอดและคนเปลี้ย

 
Khaeota
วันที่  14 พ.ย. 2552
หมายเลข  14251
อ่าน  1,694

พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 96

นามรูปเปรียบด้วยชายบอดและคนเปลี้ย

คำว่า ชายบอดและคนเปลี้ย ความว่า ได้ยินว่า ในศาลาใกล้ประตูพระนคร มีชายตาบอดแต่กำเนิดและคนเปลี้ยสนทนากันอยู่ ในบรรดาคนทั้งสองนั้น คนเปลี้ยพูดว่า เจ้าบอด เพราะเหตุไร เจ้าจึงซูบซีดอยู่ในที่นี้เจ้าเที่ยวไปประเทศโน้นซึ่งมีภิกษาหาได้ง่าย มีข้าวน้ำมาก เจ้าไปในที่นั้นก็เป็นอยู่สบายไม่สมควรหรือ ชายตาบอดพูดว่า เจ้าบอกเราก่อนแล้ว แต่เจ้าเล่าไปในที่นั้นก็อยู่สบายไม่สมควรหรือ. คนเปลี้ย : เท้าที่จะเดินของเราไม่มี ชายบอด : ตาของเราจะดูไม่มี. คนเปลี้ย : ถ้าอย่างนั้น เจ้าเป็นเท้า เราเป็นตา. คนทั้ง ๒ ต่างก็รับคำกันแล้ว ชายบอดให้คนเปลี้ยขี่คอไป คนเปลี้ยนั้นนั่งขี่คอของชายบอดเอามือซ้ายโอบศีรษะชายตาบอด เอามือขวากำหนดทางบอกว่า ในที่นี้มีรากไม้ขวางอยู่ ในที่นี้มีหิน ท่านจงละทางซ้ายถือเอาทางขวาจงละทางขวาถือเอาทางซ้าย ดังนี้ เท้าเป็นของคนตาบอดแต่กำเนิด ตาเป็นของคนเปลี้ย คนแม้ทั้งสองไปแล้วสู่ที่ตนปรารถนาด้วยความพยายามร่วมกันเป็นอยู่แล้วเป็นสุข ด้วยประการฉะนี้. ในความอุปมานั้น รูปกาย พึงเห็นเหมือนชายตาบอดแต่กำเนิด อรูป- กาย (นามกาย) เหมือนคนเปลี้ย. รูปกายเว้นนามกายก็ไม่สามารถให้ถึงการยึดถือ การจับ และการเคลื่อนไหวได้ เหมือนเวลาที่ชายตาบอดแต่เว้นคนเปลี้ยก็ไม่เกิดความตั้งใจที่จะเดินทางไปยังถิ่นต่างๆ ได้. อรูป (นามกาย) เว้นรูปเสียก็เป็นไปไม่ได้ในปัญจโวการภพ เหมือนคนเปลี้ยเว้นชายตาบอดแต่กำเนิดก็ไม่เกิดความตั้งใจที่จะเดินทางไปสู่ถิ่นต่างๆ ได้. รูปธรรมและอรูปธรรมมีสภาพเป็นไปในกิจทั้งปวงได้ด้วยการประกอบซึ่งกันและกัน เหมือนเวลาที่ชายตาบอดและคนเปลี้ยแม้ทั้งสองไปสู่ที่ตนปรารถนาด้วยความพยายามร่วมกันแล้วเป็นอยู่สบาย ฉะนั้น. ปัญหานี้ท่านอาจารย์กล่าวได้ด้วยอำนาจปัญจโวการภพ.

เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ