ขอความเห็นด้วยครับ - เป็นปาณาติบาตหรือไม่

 
Charlie
วันที่  22 พ.ย. 2552
หมายเลข  14310
อ่าน  1,822

ตัวอย่าง ตามเหตุการณ์ที่สมมติขึ้นนี้ เป็นปาณาติบาตหรือไม่

เราดูการแข่งขันมวยทางโทรทัศน์ โดยเราเชียร์ฝ่ายน้ำเงิน พอนักมวยฝ่ายน้ำเงิน ชกคู่ต่อสู้ ล้มลงไป และต่อมาปรากฏว่า คู่ต่อสู้ตาย

1. ขณะที่เริ่มชกกัน เราหวังให้ฝ่ายน้ำเงิน ชกคู่ต่อสู้ให้แพ้ถึงตาย แม้นักมวยจะไม่รู้เจตนาของเรา แต่เขาเองก็มีเจตนาชกคู่ต่อสู้ให้แพ้ถึงตาย

2. ตอนที่คู่ต่อสู้ล้มลง เรายินดีพอใจ

3. ตอนที่คู่ต่อสู้ล้มลง เราหวังให้คู่ต่อสู้ตาย

4. หลังจากนั้นเรารู้ว่า คู่ต่อสู้ถึงตาย เรายินดีพอใจใน 3 กรณีนี้ มีกรณีใดบ้างหรือไม่ ที่จัดว่าเป็นปาณาติบาต


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 24 พ.ย. 2552

ส่วนใหญ่การแข่งขันต่างๆ เป็นกีฬา การเล่น เพื่อสนุกสนาน เพื่อรางวัลใจของผู้แข่งขันและใจผู้ชมไม่ถึงกับคิดให้คู่ต่อสู้ถึงความตาย แต่สภาพของจิตต้องเป็นอกุศลแน่นอน แต่ไม่ถึงอกุศลกรรมบถ ซึ่งต่างจากการฆ่าสัตว์จริงๆ เช่น ดูการถ่ายทอดสดการทิ้งระเบิด การยิงจรวดเพื่อไปทำลายกลุ่มชนบางกลุ่ม ถ้าเรายินดีกับการกระทำนั้นย่อมมีส่วนแห่งปาณาติบาตนั้นหรือแม้การดูการตกปลา เป็นต้นก็นัยเดียวกันครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Charlie
วันที่ 24 พ.ย. 2552

ตาม 2 กรณีที่อาจารย์ประเชิญกล่าวไว้

ถ้าเรายินดีกับการกระทำนั้น เป็นปาณาติบาต หรือเพียงแต่มีส่วนแห่งปาณาติบาตถ้าเป็นปาณาติบาต ขอเรียนถามว่า ใน[เล่มที่ 2] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 385 กล่าวว่า ประโยค (ความพยายาม) ในการฆ่ามี ๖ อย่าง คือ สาหัตถิกประโยค ๑ อาณัตติกประโยค ๑ นิสสัคคิยประโยค ๑ ถาวรประโยค ๑ วิชชามยประโยค ๑ อิทธิมยประโยค ๑. การกระทำของเราในช่วงที่ ดูการถ่ายทอดสด / ดูการตกปลา อันไหนที่ประกอบด้วยความพยายามในการฆ่า และเป็นความพยายาม แบบไหนใน 6 แบบ ผมเข้าใจว่า หากไม่มีความพยายามในการฆ่า ก็ไม่ครบองค์ปาณาติบาต ใช่หรือไม่ครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
วิริยะ
วันที่ 24 พ.ย. 2552

เรียนถามค่ะ

สภาพของจิตที่เป็นอกุศล แต่ไม่เป็นอกุศลกรรมบถ อย่างไรเสียก็ย่อมสะสมอยู่ในจิต และถ้าสะสมอยู่เช่นนี้ บ่อยๆ เนืองๆ จิตที่เป็นอกุศลก็จะมีกำลังขึ้น จนกระทั่งแสดงออกมาทาง กาย หรือ วาจาได้ เป็นเช่นนั้น ใช่หรือไม่คะ

ขอบพระคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
prachern.s
วันที่ 24 พ.ย. 2552

เรียน ความเห็นที่ 2 ครับ

ถ้ากล่าวโดยนัยของพระวินัย ประโยค ๖ อย่าง ดูเหมือนจะไม่ เข้าข่ายปาณาติบาต แต่ถ้ากล่าวตามนัยพระสูตร กรรมบถ ๔๐ น่าจะเข้าข่าย ปาณาติบาต ครับ ดังข้อความบางตอนจาก อังคุตตรนิกายทสกนิบาต

[๒๐๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔๐ ประการ เป็นผู้ถูกทอดทิ้งไว้ในนรก เหมือนสิ่งของที่เขานำมาทอดทิ้งไว้ธรรม ๔๐ ประการเป็นไฉน คือเป็นผู้ฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในการฆ่าสัตว์ ๑ พอใจในการฆ่าสัตว์ ๑ กล่าวสรรเสริญการฆ่าสัตว์ ๑...

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เมตตา
วันที่ 24 พ.ย. 2552

เรียนถามท่านอาจารย์ประเชิญค่ะ

ที่กล่าวว่า "ถ้ากล่าวตามนัยพระสูตรกรรมบถ ๔๐" หมายความว่า ถ้าเราดูการถ่ายทอดสดแล้วพอใจให้ฝ่ายหนึ่งไปทิ้งระเบิดอีกฝ่ายหนึ่ง ทำให้มีคนล้มตาย ในกรณีนี้เราเข้าข่ายตามนัยพระสูตรเป็นกรรมบถ ใช่ไหมค่ะ

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
prachern.s
วันที่ 25 พ.ย. 2552

ใช่ครับ เท่ากับยินดีพอใจในการฆ่า ถ้าพูดชื่นชมในฝีมือ เท่ากับกล่าวสรรเสริญการฆ่า

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
khampan.a
วันที่ 25 พ.ย. 2552

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
เมตตา
วันที่ 25 พ.ย. 2552

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
Charlie
วันที่ 25 พ.ย. 2552

เรียน อาจารย์ประเชิญและอาจารย์คำปั่น ที่เคารพ

สหายธรรมท่านหนึ่ง ได้ให้ความเห็น ในเรื่อง กรรมบถ 40 นี้ว่า

พระสูตรที่ อ.ประเชิญอ้างมานั้น มีข้อความว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔๐ ประการ เป็นผู้ถูกทอดทิ้งไว้ในนรก เหมือนสิ่งของที่เขานำมาทอดทิ้งไว้ธรรม ๔๐ ประการเป็นไฉน คือ เป็นผู้ฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง ๑ ชักชวนผู้อื่นในการฆ่าสัตว์ ๑ พอใจในการฆ่าสัตว์ ๑ กล่าวสรรเสริญการฆ่าสัตว์ ๑......

เมื่อพิจารณาแล้ว จะพบว่า พระศาสดาทรงใช้คำว่า ประกอบด้วยธรรม ๔๐ ประการ ไม่ใช่กรรมบถ มี ๔๐ ประการ ที่จะพอเป็นเหตุให้ อนุมานได้ว่า

มีกรรมบถแยกเป็นอิสระจากกันถึง ๔๐ ประการ ดังนั้น การที่จะสรุปว่า เพียงความพอใจ ในปาณาติบาตอย่างเดียว จะนำบุคคลไปสู่นรก นั้น ยังไม่ถูกตามหลักตรรกะ จากเนื้อความในพระสูตร ต้องมีเหตุรวมกันถึงสี่ (สิบ) ประการ จึงจะนำบุคคลไปสู่นรกได้ (จึงจะเป็นปาณาติบาต) อนึ่ง เมื่อดูภาพรวม โดยการพิจารณาว่า พระสูตรที่มีเนื้อหาคล้ายกัน กล่าวไว้เช่นไร

จะพบว่า ในตอนต้นของวรรคนี้ ก็มีพระสูตรที่มีเนื้อหาคล้ายกัน แต่เริ่มจาก การที่บุคคลประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการ นำบุคคลไปสู่นรกได้ แล้ว พระสูตรต่อๆ ไป ก็ทวีจำนวน องค์ประกอบขึ้น เป็น ๒๐ ๓๐ และ ๔๐ประการในที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับที่ เรารู้มาว่า กรรมบถ 10 นำไปสู่นรกได้ และในกรณีที่ใช้ให้ทำนั้น (อีก ๑๐) ก็นำไปสู่นรกได้ เมื่อมีการเพิ่มองค์ประกอบ เป็น ๓๐ และ ๔๐ ประการในพระสูตรหลังสุดนี้

เราจะนำเนื้อหาของพระสูตรนี้ มาพิจารณาแต่เพียงพระสูตรเดียว แล้วเหมารวมไปว่า

สองอย่างหลังที่เพิ่มขึ้นนั้น พลอยเป็นอกุศลถึงขั้นล่วงกรรมบถ โดยลำพังตนเอง นั้น ยังไม่ชอบด้วยเหตุผล เพราะไม่มีพระสูตร ที่เริ่มต้นด้วยเหตุสองอย่างนี้ แล้วบอกว่าเหตุเพียงเท่านี้ๆ ก็พอที่จะนำไปสู่นรกได้แล้ว และเหตุสองอย่างที่เพิ่มขึ้น เมื่อประกอบเข้ามา ก็ยังผลให้ไปสู่นรก เช่นเดิม (แต่อาจจะทำให้อยู่นานขึ้น) แต่ว่า เหตุอย่างแรก (และ อย่างที่สอง) นั้น มีพระสูตร รับรองไว้ว่า นำบุคคลไปสู่นรกได้โดยลำพังตนเอง การคิดย้อนกลับไปว่า ด้วยเหตุต่างๆ ถึง สี่ (สิบ) อย่าง ที่นำมาประกอบร่วมกันแล้ว

ก็นำบุคคลไปเกิดในนรกได้ ดังนั้น จึงถือได้ว่า เหตุเหล่านั้น (ร่วมกัน) นับว่าเป็นการล่วงกรรมบถ แล้ว (เพราะถ้ายังไม่ล่วงกรรมบถ ก็ไม่สามารถนำเกิดได้) นั้น ก็รับฟังได้ แต่การที่จะเหมาว่า เหตุละอย่างๆ ล้วนนำเกิดได้ และล้วนแต่เป็นการล่วงกรรมบถ โดยลำพังตนนั้น ยังไม่ชอบด้วยเหตุผล โดยเฉพาะ เมื่อเรารู้อยู่แล้วว่า เพียงเหตุ ๒ อย่างแรก เป็นเหตุที่พอเพียง จึงยังไม่มีอะไรมายืนยันว่า เหตุที่เพิ่มมาอีกสองประการ มีผลเสมอกันกับ เหตุสองประการแรก เพราะว่า เดิมสองเหตุแรกก็นำไปสู่นรกได้ ตามลำพัง อยู่แล้ว และไม่มีพระสูตรกล่าวรับรองไว้ผิดกับสองเหตุแรก การสรุปเช่นนี้ จึงเป็นการคาดเดาเกินไปกว่าหลักฐานที่มีอยู่ และไม่มีข้อความในพระสูตรใดเลย ที่พระศาสดาตรัสว่า กรรมบถมีถึง ๔๐ ประการ อนึ่ง ในเมื่อพระวินัย กล่าวถึงกรณีนี้ไว้ชัดแล้วว่า ไม่เป็นปาณาติบาต เพราะขาดปโยค

และข้อความในพระสูตร ก็มีทางอื่นซึ่งชอบด้วยเหตุผล ชอบด้วยตรรกะ ที่จะสรุปได้เป็นอย่างอื่น ต่างไปจากข้อสรุป ที่ว่าเพียงความพอใจในปาณาติบาต ก็เป็นปาณาติบาตแล้ว ก็ไม่น่าจะเลือกข้อสรุป ที่ทำให้พระสูตรขัดแย้งกับพระวินัย

วิทยากรมีความเห็นอย่างไรครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
khampan.a
วันที่ 25 พ.ย. 2552

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

จากความคิดเห็นที่ 9 (จากที่ได้ฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ ในเรื่องอกุศลธรรม ๔๐ ประการ พอจะประมวลได้ดังนี้)

พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงนั้น มีความละเอียดลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง แม้ในเรื่องของอกุศลธรรมก็เช่นเดียวกัน พระองค์ทรงแสดงทั้งอย่างหยาบและอย่างละเอียดเพื่อให้ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษาเห็นโทษเห็นภัย ไม่ใช่ให้ประพฤติปฏิบัติตามในอกุศลธรรมเหล่านั้น ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา และมีความเข้าใจไปตามลำดับ ย่อมมีการพิจารณาและขัดเกลาจิตใจของตนเองได้มากขึ้น เพราะนอกจากจะพิจารณาว่าตนเองได้กระทำอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการหรือไม่แล้ว ยังละเอียดลงไปถึงว่า ถึงแม้ไม่ได้ทำด้วยตนเองแต่ได้ชักชวนให้ผู้อื่นกระทำอกุศลกรรมบถ ๑๐ หรือเปล่า นอกจากนั้นก็ยังละเอียดลึกลงไปอีกว่ายังมีความพอใจ และ ยังสรรเสริญในอกุศลกรรมบถ ๑๐ ด้วยหรือไม่ ซึ่งจะทำให้รู้จักตนเองมากยิ่งขึ้นและขัดเกลาอกุศลธรรมทั้งอย่างหยาบและอย่างละเอียด ให้เบาบางยิ่งขึ้นอีกด้วย เพราะอกุศลธรรม น่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง ไม่นำประโยชน์อะไรๆ มาให้เลย นำมาให้แต่ทุกข์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น (ถ้าเข้าใจอย่างนี้ พอจะเป็นประโยชน์บ้างไหมครับ)

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
raynu.p
วันที่ 26 พ.ย. 2552

กราบอนุโมทนา อ.คำปั่น ค่ะ การฟังท่านอาจารย์บรรยายตามลำดับ ย่อมจะเป็นผู้เริ่มเข้าใจในอกุศลธรรมที่ละเอียดมากยิ่งขึ้นค่ะ เป็นประโยชน์ดีค่ะ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
dron
วันที่ 26 พ.ย. 2552

(ถ้าเข้าใจอย่างนี้ พอจะเป็นประโยชน์บ้างไหมครับ)

เป็นประโยชน์อย่างยิ่งครับ

ขออนุโมทนาในกุศลเจตนาของทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
Yongyod
วันที่ 27 พ.ย. 2552

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ก.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ